Photo: Mamawell
Main Idea
- ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดของวงการแฟชั่นยุคใหม่นอกจากจะสวย เก๋ ไม่ซ้ำใคร ยังต้องรักษ์โลกอีกด้วย ซึ่งทาง Mamawell ก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี หยิบเอาเศษชุดว่ายน้ำมาครีเอทเป็นกระเป๋าสุดชิก
- ไม่เพียงช่วยสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้กับแบรนด์ ยังสร้างความโดดเด่นให้กับลูกค้าแบบไม่ซ้ำใคร
เมื่อผู้คนในปัจจุบันหันมาสนใจงานออกแบบและการดีไซน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้กระทั่งสินค้าในด้านแฟชั่นก็ตื่นตัวกับกระแสนี้กันทั่วโลก ซึ่ง Mamawell แบรนด์กระเป๋าสุดเก๋ที่ทำมาจากเศษชุดว่ายน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแทนของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่นอกจากจะใส่ใจในเรื่องของความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครแล้ว ยังคำนึงถึงผลกระทบของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีต่อโลกใบนี้อีกด้วย
สุนัดดา นรสาร เจ้าของแบรนด์ Mamawell และนักออกแบบสิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังไอเดียแหวกแนวแบบนี้ว่า เกิดมาจากการต่อยอดของงานวิทยานิพนธ์ เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ที่ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีความคิดที่อยากจะนำเศษวัสดุที่เกี่ยวกับสิ่งทอมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ได้จริง
“เราเลือกที่จะเอาเศษผ้าจากชุดว่ายน้ำมาทำเป็นกระเป๋า เพราะว่ายังไม่เคยมีใครทำ อีกทั้งยังเห็นว่าสีสัน ลวดลายและคุณสมบัติของชุดว่ายน้ำอย่างการแห้งเร็วนั้น สามารถนำมาต่อยอดเป็นโปรดักต์อย่างอื่นได้ และจะทำให้เกิดเป็นสินค้าที่น่าสนใจ มีความแปลกใหม่ และด้วยความที่ได้มีโอกาสนำเอางานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ไปวางแสดงที่ Siam Discovery และได้รับความสนใจจากทางสยามพิวรรธน์ให้ไปออกบูธที่ไอคอนสยาม จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเป็นแบรนด์ Mamawell อย่างจริงจังขึ้นมา”
- เนรมิตเศษชุดว่ายน้ำให้เป็นกระเป๋า
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ยึดคอนเซปต์ของการนำเอาเศษผ้าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมสิ่งทอ เศษผ้าจากอุตสาหกรรมผลิตชุดว่ายน้ำ มาผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า เกิดเป็นกระเป๋าแบบใหม่ที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในวันหยุดพักผ่อน ตอบโจทย์คนที่มีไลฟ์สไตล์รักการเดินทางและชื่นชอบแฟชั่นที่มาในแนวของสีสันแบบฉูดฉาด
“ปกติโรงงานผลิตชุดว่ายน้ำจะเหลือผ้าเป็นชิ้นเล็กๆ คละกันและรวบรวมไว้เป็นถุงใหญ่ๆ จะมีขาประจำไปรับ เพื่อนำเศษผ้าไปเย็บเพื่อใช้เช็ดหรือรองจักร ไม่ได้นำมาทำเป็นกระเป๋าแบบเราเราก็จะรับมา ครั้งหนึ่งประมาณ 20 – 50 กิโลกรัม”
หลังจากที่ได้เศษผ้ามาแล้ว นำมาแยกเป็นกองๆ เพื่อเลือกผ้าที่มีลวดลายอาทิ ลายดอกไม้หรือลายกราฟฟิกและสีแบบที่ต้องการ ทำการออกแบบ จับคู่สีดูว่าสีนี้จะเหมาะกับสีไหน ลายไหนอยู่ด้วยกันแล้วจะทำให้งานออกมาดูดี เช่น กระเป๋า 1 ใบ อาจจะเป็นประกอบด้วย 2 ลาย คือเป็นลายสีอ่อนและลายสีเข้ม
“กระเป๋าของเราจะใช้เทคนิคในการขึ้นรูปและทำส่วนประกอบอื่นๆ อยู่ 2 แบบคือ ใช้การร้อยผ่านตาข่ายและการถักแบบโครเช ซึ่งตัวซับในเองก็เป็นผ้าชุดว่ายน้ำหรือผ้าของชุดเล่นกีฬา แต่จะไม่ใช่เศษผ้าจากชุดว่ายน้ำแบบด้านนอก เพื่อทำให้เกิดความเรียบร้อยและดูดีมากขึ้นนั่นเอง”
นอกจากคอลเลคชั่นแรกอย่าง Beach Bag ที่ทำออกมาให้เหมาะกับการท่องเที่ยวชายทะเลแล้ว ทางแบรนด์ยังมองไปถึงคอลเลกชั่นหน้าที่จะทำออกมาให้เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นแบบสะพายข้างไปเดินห้างสรรพสินค้าได้อย่างชิคๆ และมีสีสันในตัว และอาจจะเพิ่มวัสดุอย่างอื่นเข้ามา เช่น สายกระเป๋าอย่างที่เห็นกันทั่วไป เพื่อตอบโจทย์การใช้ได้ทุกวันมากกว่าเฉพาะแค่การไปเที่ยวเพียงอย่างเดียว
แม้การแข่งขันในตลาดกระเป๋าจะมีสูง แต่ทางแบรนด์ก็เชื่อว่าจะเข้ามาเป็นผู้เล่นที่สร้างสีสันให้กับวงการได้ โดยทาง สุนัดดา บอกว่า เวลาที่คนเรานึกจะทำธุรกิจขึ้นมาสักอย่าง มันก็มีอยู่ไม่กี่ประเภท ไม่เสื้อผ้า กระเป๋า ก็รองเท้า ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 อย่างนี้ ดังนั้นความแตกต่างจึงเป็นคีย์เวิร์ด ที่เราต้องสร้างให้กับแบรนด์
“และด้วยวัสดุที่เราใช้อย่างเศษชุดว่ายน้ำก็เป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี เพราะยังไม่เคยมีใครทำ บวกกับสีสันที่เราใช้ ก็ยังไม่ค่อยมีใครกล้าใช้สีแรงขนาดนี้ เพราะว่าหลายๆ คนเลือกที่จะใช้หนังหรือผ้า เป็นองค์ประกอบหลักของสินค้า และใช้สีที่สามารถใช้ได้ในหลายๆ โอกาสมากกว่า ดังนั้น ยิ่งเรามีวัสดุแปลกใหม่มากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความน่าสนใจในการแข่งขันในวงการกระเป๋าได้มากเท่านั้น อีกทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณเศษวัสดุที่เกิดจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมได้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี