Main Idea
- ตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2561 เพิ่มสูงถึง 155,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณที่เอกชนลงทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นถึงการตื่นตัวเรื่องการสร้างนวัตกรรมในการทำธุรกิจมากขึ้น
- นวัตกรรมจะเป็นกุญแจนำไปสู่คำตอบและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ และกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- รัฐบาลพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้นผ่านนโยบายต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย
ในยุคนี้นวัตกรรมเป็นอาวุธสำคัญในการทำให้ธุรกิจสำเร็จและอยู่รอดไปจนถึงอนาคต ซึ่งกระบวนการได้มานั้นเริ่มต้นจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) นำไปสู่คำตอบและโอกาสทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ หรือแม้แต่กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว คู่แข่งรายล้อมรอบตัว การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญมากขึ้น มีผลสำรวจจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ว่าในปี 2561 ที่ผ่านมาภาคเอกชนลงทุน R&D รวมกว่า 123,942 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 82,701 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว
ปัจจัยบวกที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น
- การตื่นตัวในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอง
- รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การให้ทุนสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม นโยบายส่งเสริมการลงทุนทั่วไป โดยให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Product-based Incentives) และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าโครงการตลอดจนมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการขยายเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม Economic Zone of Innovation เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การขยายจำนวนนิคมวิจัย (อุทยานวิทยาศาสตร์) ใน 3 ภูมิภาค เป็นต้น
อุปสรรคของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
ภาคเอกชนยังประสบอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนาในด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ขาดเงินทุนในการทำนวัตกรรมที่มีต้นทุนสูง ขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับตลาด เป็นต้น
การก้าวไปสู่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจึงต้องเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการสร้างบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อป้อนภาคเอกชนให้ตรงและทันต่อความต้องการ ซึ่งมีหน่วยงานอย่าง สวทน. ที่เป็นหน่วยสนับสนุนจัดทำมาตรการกระตุ้นการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม และจัดทำ Skill and Brainpower Planning การวางแผนด้านกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เน้นการพัฒนากำลังคนของประเทศทั้งในมิติทักษะและความรู้ควบคู่กันไป
หนทางได้มาซึ่งนวัตกรรม
โดยที่ลักษณะการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนไป เน้นนวัตกรรมที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ซึ่งแนวทางที่ได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้นมาจาก
- ผู้ประกอบการมีการวิจัยและพัฒนาภายในกิจการหรือกลุ่มกิจการมากขึ้น
- ผู้ประกอบการร่วมมือในการทำกิจกรรมนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนากับลูกค้าและซัพพลายเออร์ไทยเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งจะมีการลดหรือแบ่งความเสี่ยงและต้นทุน บริหารการใช้เวลาเข้าสู่ตลาดหรือเทคโนโลยีสั้นลง รวมถึงยังเป็นการสร้างพันธมิตรทางกลยุทธ์ในระยะยาว
- ซื้อความรู้จากภายนอกเข้ามาพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น
เห็นได้ว่าผู้ประกอบการไทยจะไม่โดดเดี่ยว หันไปทางไหนก็มีพันธมิตรที่สามารถช่วยให้การคิดค้นนวัตกรรมเป็นไปได้มากขึ้น
แหล่งข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี