โตให้สุด!! เจาะเคล็ดลับเปลี่ยนธุรกิจเล็กเป็น “มหาชน”

Text: WAN. K





Main Idea

 
  • การขยายธุรกิจจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการก็คือการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
 
  • นี่คือถนนเส้นหลักที่จะเปลี่ยน  SME ให้เป็นองค์กรมืออาชีพ และมีนามสกุลห้อยท้ายว่า “มหาชน” แต่ถนนเส้นนี้ไม่มีอะไรง่าย และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้วิถีแบบ SME
 
  • ถึงขนาดมีคำพูดว่า การเข้าตลาดอาจเป็นเรื่องยาก แต่การออกจากตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า!




     การทำธุรกิจต้องมีการเติบโต แต่การขยายธุรกิจจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่คิดจะเติบโต เพราะนอกจากจะทำให้บริษัทได้รับเงินทุนแล้ว ยังจะยกระดับเป็นองค์กรมืออาชีพ มีระบบปฏิบัติการที่แข็งแกร่ง เป็นมาตรฐาน โปร่งใส ตอบรับความเป็นองค์กรธรรมาภิบาลอีกด้วย


     ทว่าอย่างไรก็ตาม การเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นั้น ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม และเมื่อเข้าไปแล้วยังต้องรักษากฎกติกา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะเป็นอย่างไร มาฟัง 2 ผู้บริหารบริษัทที่มีประสบการณ์การเข้าตลาดมาแล้ว อย่าง สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) และ นรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน)  เล่าให้ฟัง!

 
 
การหาข้อมูลก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์
 

สุนทร: จริงๆ แล้วเรื่องของการหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นั้นยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว
 

นรากร: สามารถหาข้อมูลได้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต หรือจากทางที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อที่จะให้เขาช่วยดูว่าบริษัทมีศักยภาพพอที่จะเข้าตลาดได้ไหม มีแนวโน้มเป็นยังไง และมีจุดอ่อนจุดแข็งเป็นยังไงบ้าง
  



การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเข้าตลาดหลักทรัพย์
 

สุนทร: การเตรียมตัวมี 2 ส่วนหลักๆ อย่างแรกคือการทำตามกฎระเบียบทั้งหลายที่ทางตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) มี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้เป็นพวกที่มีบัญชีหลายชุด อย่างที่สองคือ ต้องเตรียมใจให้พร้อมว่าการเป็นบริษัทมหาชนนั้นจะต้องมีกลไลของการ Check and Balance หรือการตรวจสอบและควบคุมจากผู้ถือหุ้น มีกติกาต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ เรื่องของโครงสร้างองค์กร ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้เถ้าแก่ส่วนใหญ่อึดอัด เพราะว่าเหมือนถูกลดอำนาจ แล้วจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ฉันเป็นเจ้าของ ทำไมต้องมีคนมาคอยตรวจสอบนู่นนี่ เพราะฉะนั้นหากคิดที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดต้องทำใจว่า วัตถุประสงค์ของตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. คือต้องการให้มีการคุ้มครองผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพราะว่าพวกเขาไม่ได้มาบริหารด้วย เขาเอาเงินมาลงทุนกับเรา ถ้าไม่มีการปกป้องเขา ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถเอาเงินของเขาไปถลุงได้ ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบและติดตามเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
 

นรากร: กระบวนการเตรียมตัวมีหลายแง่มุม อย่างแรกเลยคือต้องคิดว่า เมื่อเข้าไปแล้วเราจะเติบโตยังไงต่อไป ต้องคิดว่าทิศทางการเติบโตจะเป็นยังไง ต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะโตเท่าไรและจะโตด้วยวิธีไหน รวมไปถึงมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการ Check and Balance ซึ่งบริษัท SME ส่วนใหญ่จะไม่คุ้นชินที่ต้องมีคนมาคอยตรวจสอบหรือคานอำนาจ อีกทั้งยังต้องมีเจ้าหน้าที่ทางด้านบัญชีซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ มีการปรับปรุงการทำงานให้สามารถตรวจสอบได้และมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมด้วยการเรียนรู้กฎ กติกา มารยาทต่างๆ และเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง
 




ความท้าทายของการนำบริษัทเข้าตลาด
 

สุนทร: สิ่งที่ยากคือ การทำตัวเองให้พร้อม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการทำบัญชีให้ถูก แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องเตรียมตัว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ หลังจากเข้าไปแล้วเราจะทำยังไงต่อ เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เป็นมหาชน มันไม่ใช่แค่เรื่องมีกำไร แต่เป็นเรื่องที่บริษัทต้องมีกำไรแล้วต้องเติบโต และต้องทำให้ผู้ถือหุ้นเชื่อว่าเราจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ที่ผู้บริหารต้องตีให้แตกอย่าง กลยุทธ์การทำงานคืออะไรหลังจากที่มีเงินมากขึ้น มีแผนธุรกิจหรือ Business Model ยังไง รวมถึงเรื่องของการมองโครงสร้างองค์กร มองคนที่มีอยู่ว่าเหมาะสมกับการเติบโตหรือยัง ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะองค์กรส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากคนเก่าไม่พร้อมกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้จะทำยังไง จะเลี้ยงไว้ไหม เป็นเรื่องของผู้บริหารที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องคิดให้ขาดว่า คนของเราใช่หรือยัง เพราะทรัพยากรบุคคล ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นทรัพย์สิน บางคนเป็น Liability หรือภาระของบริษัทด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องคิดให้ขาดว่า ถ้าเราอยากจะไปให้ถึงจุดนั้น เราต้องการคนแบบไหน แล้วจะทำยังไงเพื่อที่จะดึงคนแบบนั้นเข้ามา หรือจะสร้างคนเก่ายังไงให้ขึ้นไปถึงจุดนั้นได้
 

นรากร: การเข้าตลาดก็เหมือนกับการขึ้นหลังเสือ เพราะต้องบอกทุกปีว่าปีนี้จะโตเท่าไร ปีนี้จะโตด้วยอะไร เพราะฉะนั้นถ้าคิดน้อยมันจะทำให้เราไปไม่ถูก แต่จะคิดยาวก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นั่นหมายความว่า เราต้องคิดบางส่วนแล้วก็เตรียมการไว้ รวมไปถึงควรมีแผนรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย  
 


 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าตลาด
 

สุนทร: จากเดิมที่เป็นธุรกิจซึ่งคนไม่ค่อยรู้ว่าเราทำอะไรด้วยซ้ำ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วยให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งการเข้าตลาดจริงๆ แล้วอยู่ที่ Mission ของเจ้าของที่ก่อตั้งด้วยว่า ต้องการเห็นอะไร ซึ่งไม่ใช่ Mission ที่เป็นตัวหนังสือแสดงให้สาธารณชนรับรู้ แต่เป็นพันธกิจที่อยู่ลึกๆ ว่า จริงๆ แล้วเราตั้งบริษัทหรือกิจการนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร เช่น ทำขึ้นมาเพื่อเป็นกิจการครอบครัวที่จะส่งต่อไปให้คนรุ่นหลัง หรือต้องการที่จะให้เป็นธุรกิจที่เติบโตเสมือนว่าเป็นนิติบุคคลหรือเป็นตัวตนคนจริงๆ และอยากฝากให้คิดว่าการเข้าตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การออกจากตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะการขยับตัวของเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่แต่ละทีแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นข่าวได้ ที่สำคัญถ้าจะทำการขายหุ้นก็ต้องทำอย่างเปิดเผย จะทำแบบแอบๆ หรือลับๆ ไม่ได้
 

นรากร: นอกจากจะทำให้บริษัทมีชื่อเสียงมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสามารถรับสมัครหรือ Recruit พนักงานเก่งๆ ได้ จากเดิมที่เป็น SME แม้จะได้รับรางวัลมากมาย ทำยังไงก็ไม่ได้คนเก่งมาร่วมงาน แต่พอได้เข้าตลาดแล้วโอกาสที่จะได้คนที่มีศักยภาพสูงมาร่วมงานนั้นมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ระบบการทำงานและโครงสร้างองค์กรมีความเป็นสากลและมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตอนเป็น SME แต่ข้อดีคือทำให้บริษัทมีความชัดเจน โปร่งใสและเทียบเท่ามาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระวังคือ เรื่องของการใช้เงินที่ต้องมีความรอบคอบ อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว ความกดดันจะอยู่ที่การที่ต้องทำให้บริษัทมีการเติบโตไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผน ต้องดิ้นรน จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต่างจากตอนที่เป็น SME ที่สามารถบริหารจัดการการทำงานได้ตามใจตัวเองมากกว่า
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน