แรงไม่หยุด! ตลาด Smart wearable พลิกโฉมธุรกิจสุขภาพ





Main Idea
 
  • Smart wearable อุปกรณ์อัจฉริยะ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เฉพาะยอดขายในประเทศไทยที่สูงขึ้นเฉลี่ย 23% ต่อปี
 
  • โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอุปกรณ์ Smart wearable ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 11.6% ต่อปี จาก 123 ล้านชิ้นในปี 2561 เป็น 190 ล้านชิ้นในปี 2565





     Smart wearable อุปกรณ์อัจฉริยะที่ไม่ใช่แค่ Smart watch เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจอย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเสื้อผ้าที่ใช้ใยพิเศษในการทอ เพื่อวัดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่ หรือชุดชั้นในที่สามารถตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยความสามารถหลากหลายที่ทำได้ของอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ตลาดอุปกรณ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น


     ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอุปกรณ์ Smart wearable ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในประเทศไทยยอดขายที่สูงขึ้นเฉลี่ย 23% ต่อปี จากการคาดการณ์ของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่าจำนวนการขายอุปกรณ์ Smart wearable ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 11.6% ต่อปี จาก 123 ล้านชิ้นในปี 2561 เป็น 190 ล้านชิ้นในปี 2565





     ทั้งนี้การพัฒนาของ Smart wearable จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมของหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจประเภทการผลิต/นำเข้าสินค้า และอุปกรณ์การวัดค่าต่างๆ แบบเดิม อาทิ เครื่องวัดความดัน เครื่องเจาะเลือดวัดปริมาณน้ำตาล รวมถึงลักษณะการให้บริการในโรงพยาบาล ที่อาจมีการจับมือร่วมกันระหว่างบริษัทพัฒนา Smart wearable เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และยกระดับภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลให้มีความทันสมัย


     นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต/ผู้นำเข้าอุปกรณ์ Smart wearable ที่จะขยายสายการผลิตให้กว้างมากขึ้น จากแค่ Smart watch/Smart band ให้ครอบคลุมอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองกระแสใส่ใจสุขภาพ อาทิ Sleeping gadget ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่นอนหลับสนิทมากขึ้น หรือสายรัดข้อมือสำหรับผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติเฉพาะ สำหรับตัวอย่างการพัฒนาอุปกรณ์ในไทย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือนาฬิกาอัจฉริยะ ‘โพโมะ’ ป้องกันเด็กหาย ที่ปัจจุบันวางขายมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เป็นต้น


     อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ คือ การพัฒนา Compatible applications ที่ใช้ร่วมกับ Smart wearable เป็นการนำข้อมูลมาต่อยอด วิเคราะห์ และประมวลผล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ Startup จำนวนมากทั่วโลกให้ความสนใจในการผลิต Apps ชนิดนี้ ซึ่งนับ ป็นโอกาสของกลุ่ม Startup และผู้ประกอบการในการต่อยอดธุรกิจ จากกระแสของ Smart wearable ได้
 


3 ปัจจัยหลักผลักให้ตลาด Smart wearable โต

 
  • กระแสใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น

     ปัจจุบันกระแสการใส่ใจสุขภาพได้รับความนิยมจากสังคมในวงกว้าง จากการประมาณการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าในปี 2559 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักวิ่งประมาณ 12 ล้านคน และคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดงานวิ่งทั่วประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 500 รายการต่อปี ในปี 2559 เป็น 696 รายการต่อปีในปี 2561 ซึ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ฟิตเนสรายใหญ่ๆ อาทิ ฟิตเนส เฟิรส์ท ก็เริ่มขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดครั้งแรกในรอบ 6 ปี รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ที่เพิ่มคลาส เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเน้นการออกกำลังกายเฉพาะ เช่น มวยไทย โยคะ ตอกย้ำความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการออกกำลังกาย




 
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

     สังคมผู้สูงอายุก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขยายศักยภาพการเติบโตของตลาด Smart wearable โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) ระบุว่าจำนวนผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) ที่มีแนวโน้มอาศัยอยู่คนเดียว เติบโตเฉลี่ยสะสม 3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคนในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาตนเองในการทำกิจกรรมต่างๆ มีจำนวนสูงขึ้น โดยมีข้อมูลรายงานว่าผู้ใช้ Smart wearable ในไทยที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากขึ้นถึง 16.4% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดทีเดียว และคาดว่ายังคงเติบโตต่อเนื่องขึ้นเรื่อย

 
  • การลงทุนข้ามอุตสาหกรรมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก


     การเข้ามาลงทุนข้ามอุตสาหกรรมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ในอุตสาหกรรม Healthcare เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาด Smart wearable เติบโต จากข้อมูลของ CB insights ระบุว่าตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2561 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 10 บริษัทในสหรัฐฯ เช่น Apple, Intel, Alphabet, IBM และอีกหลายบริษัท มีการลงทุนในอุตสาหกรรม Healthcare ทั้งสิ้น 209 ดีล โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน อุปกรณ์เพื่อสุขภาพถูกลงทุนเป็นอันดับที่ 2 ในตลาด Healthcare รองจากการลงทุนใน Software (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค 2561) ซึ่งหากดูสถิติจำนวนการลงทุนทั่วโลกในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหมวดของ Smart wearable เพื่อการดูแลสุขภาพจะเห็นได้ว่ามีการเติบโตเฉลี่ยถึง 41% ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2559)


     ทั้งนี้จาก 3 ปัจจัยข้างต้นส่งเสริมให้รายได้ทั่วโลกของ Smart wearable ที่ใช้เพื่อการออกกำลังกาย และ Applications ที่เกี่ยวเนื่องมีมูลค่าสูงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563





เทรนด์ Smart wearable ในอนาคต

 
  • มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น


     จะเห็นได้จากความพยายามคิดค้นรูปแบบอุปกรณ์ที่แตกต่างมากขึ้น นอกเหนือจาก Smart watch/Smart band เช่น Smart footwear รองเท้าจากบริษัท Under Armour ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การลงน้ำหนัก ปริมาณการเผาผลาญแคลอรี รวมถึงสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ในตัวเอง หรือ Smart bra จากบริษัท Microsoft ที่สามารถตรวจคลื่นหัวใจ และรับรู้ถึงความเครียดของผู้สวมใส่ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เก็บได้จากแต่ละส่วนของร่างกาย

 
  • มีคุณสมบัติ และความสามารถสูงขึ้น


     โดยพบว่าอนาคต Smart wearable จะมุ่งเน้นสร้างคุณสมบัติ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.ไม่มีการเจาะ/ฝังเข้าไปในชั้นผิวหนัง (Non-invasive) 2.ไม่รบกวนการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้สวมใส่มากเกินไป (Minimal attention) 3.ข้อมูลที่ได้มีการบันทึกอย่างต่อเนื่อง (Continuous data) และ 4.สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ในหลายระบบ (Interoperability)





 
  • มีการประมวลผลที่แม่นยำมากขึ้น


     การประมวลผลที่แม่นยำ และการแนะนำผู้บริโภคในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นอีกหนึ่ง Platform ที่คาดว่าจะเห็นได้อย่างแพร่หลาย จากการเชื่อมต่อของระบบ IoT และ AI ทำให้ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์มากขึ้น อาทิ นาฬิกา Xiaomi ที่สามารถแสดงข้อมูลในรูปแบบของ Percentile ให้คำแนะนำแก่ผู้สวมใส่เกี่ยวกับการนอน และกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวัน
 

ที่มา: การวิเคราะห์โดยอีไอซีจากข้อมูลของสถาบันวิจัยด้านการตลาด IDC



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน