Photo : Pae Yodsurang
Main Idea
- 5iveSis หนึ่งในแบรนด์ตัวอย่างเครื่องใช้จากดีบุก ที่หันมาต่อยอดธุรกิจจากโรงงานผลิตสินค้า เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเอง
- แต่การเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้ผลิต’ มาเป็น ‘เจ้าของแบรนด์’ ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขามีวิธีการปรับตัวยังไง ทำยังไงแบรนด์ถึงสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าได้ ไปพบคำตอบพร้อมๆ กัน
ไม่ใช่เรื่องง่ายของการทำธุรกิจที่จะต่อยอดเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่มีอยู่เดิมให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ โดยเฉพาะการต้องมารับช่วงต่อกิจการของที่บ้าน ซึ่งจากเดิมอาจดำเนินธุรกิจในลักษณะของผู้ผลิตที่ชำนาญการ แต่ขาดประสบการณ์ด้านการตลาด ทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าที่แท้จริงให้กับธุรกิจได้ จึงนับเป็นปัญหาให้กับทายาทธุรกิจหลายต่อหลายคนว่าควรจะไปต่อทางไหนดี หนึ่งในหนทางออกที่มักนำมาใช้แก้ไขปัญหาเพื่อรักษาทักษะฝีมือแรงงานที่มีอยู่เดิม ขณะเดียวกันก็ไปต่อได้สวยในตลาดด้วย คือ การสร้างแบรนด์ ‘5iveSis’ แบรนด์ภาชนะเครื่องใช้จากดีบุก ที่ต่อยอดมาจากโรงงานผลิตสินค้าหัตถกรรมจากดีบุกก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น
ณัชชา อนันต์ศฤงคาร หนึ่งในทายาทผู้บุกเบิกการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจของที่บ้าน โดยชื่อ 5iveSis (อ่านว่า five - sis) มาจากพี่น้องผู้หญิงทั้งหมด 5 คน เล่าจุดเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์ให้ฟังว่า
“เดิมทีเราเป็นโรงงานรับผลิตของตกแต่งบ้านจากแร่ดีบุก (pewter ware) โดยนำวัตถุดิบมาจากโรงงานทำดีบุกที่ภูเก็ต ซึ่งแต่เดิมมีการเปิดเหมืองทำกันมากทางภาคใต้ของไทย แต่ปัจจุบันปิดเหมืองไปนานแล้ว เหลือไว้แต่กระบวนการถลุงและสั่งนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแทน โดยคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักดีบุกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่คิดว่าจะสามารถนำมาผลิตเป็นงานหัตถกรรมได้ แต่ความจริงมีการใช้งานมาช้านานแล้วในชนชั้นสูงและราชวงศ์ต่างๆ อาทิ จีน อียิปต์ เป็นต้น เพราะมีคุณสมบัติสามารถตรวจสอบพิษจากอาหารและเครื่องดื่มได้เหมือนกับเครื่องเงิน ในความสวยงามก็ไม่แพ้กัน ซึ่งที่ผ่านมาเรารับผลิตตามออเดอร์เท่านั้น ไม่ได้มีการสร้างแบรนด์ของตัวเอง จึงรู้สึกเสียดายคุณค่าทักษะองค์ความรู้ที่มี เลยปรึกษากันในหมู่พี่น้องเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของครอบครัว”
แต่การจะเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตมาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปรับตัวอยู่หลายส่วนด้วยกัน โดยอันดับแรกที่ต้องปรับ คือ ตัวสินค้า เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
- ปรับสินค้าให้มีความหลากหลาย ใช้งานได้ง่ายขึ้น
“เดิมทีเรามีกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ที่ชอบงานคลาสสิก เช่น คนจีนระดับไฮเอนที่ค่อนข้างมีฐานะหน่อย ส่วนมากจะสั่งเป็นชุดชงชามีกาน้ำร้อน กระปุกเก็บใบชา ความจริงที่บ้านเขาก็มีผลิตเหมือนกัน แต่ด้วยฝีมือที่ประณีต ละเอียดของคนไทย จึงได้รับการยอมรับมากกว่า ซึ่งพอมาคิดสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง เราจึงคิดกันว่าจะผลิตแต่สินค้าแบบเดิมๆ ในกลุ่มลูกค้าเดิมอย่างเดียวไม่ได้ จึงมีการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ราคาจับต้องได้ง่ายขึ้น จากชิ้นงานที่เคยใช้ดีบุกทั้งชิ้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ใช้งานยาก ราคาแพง มาเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น โดยเราตั้งโจทย์ไว้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ปรับรูปแบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ 2.นำวัตถุดิบอื่นเข้ามาเป็นส่วนผสมเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ราคาจับต้องได้ ไม่ต้องเป็นดีบุกทั้งชิ้น และ3.คือ ยังคงต้องเป็นสินค้าพรีเมียมและจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนอยู่ เพราะด้วยตัววัตถุดิบที่มีราคาค่อนข้างแพง”
“พอตั้งโจทย์ได้แบบนี้ สินค้าใหม่ชุดแรกที่เราเลือกทำออกมาจึงมาสรุปที่ชุดแก้วไวน์ โดยมองว่าลูกค้า คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ชอบสังสรรค์ ชอบปาร์ตี้ ขณะเดียวกันก็มีรสนิยมและรายได้ที่ดี โดยเราดีไซน์เป็นงานดีบุกในส่วนของหัวแก้วที่เป็นฐานวางเป็นรูปทรงต่างๆ ชุดแรกที่ทำออกมาจะเป็นแก้วทรงแชมเปญก่อน ตามด้วยแก้วช็อตใบเล็ก และแก้วไวน์ไซส์ใหญ่ จากนั้นก็ต่อยอดนำวัตถุดิบอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น จานเซรามิกที่ลงลวดลายด้วยดีบุก เครื่องประดับ ซึ่งพอมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเขาสามารถดัดแปลงนำไปใช้งานต่างๆ ได้ตามต้องการ อย่างชุดแก้วที่ทำออกมาไม่ต้องเอาไว้ใส่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้ เอาไว้ใส่น้ำผลไม้ น้ำดื่มทั่วไปก็ได้ ที่ซื้อเพราะเขาชอบงานเรา และได้เอามาใช้ประโยชน์จริงด้วย”
- สร้างอิมแพค สร้างความแตกต่าง
เมื่อปรับตัวสินค้าให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว อันดับต่อมาที่ 5iveSis ทำ คือ การสร้างการรับรู้ โดยณัชชามองว่าการจะทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้นั้น สินค้าต้องมีความโดดเด่นมากพอตั้งแต่ชิ้นแรก
“จากโจทย์ต่างๆ ที่เราตั้งไว้ เมื่อได้ข้อสรุปของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและตัวสินค้าที่จะผลิตออกมา เราจึงคิดต่อไปว่าหากอยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จักได้รวดเร็ว เราต้องมีความแตกต่าง ต้องสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้น เวลาออกแบบสินค้าเราจึงพยายามทำออกมาเป็นชุดๆ จำนวนหลายชิ้น เพื่อให้ดูมีพลัง เป็นกลุ่มเป็นก้อนมีความน่าสนใจ อย่างตัวแรกที่ทำออกมา คือ ชุดนักษัตรปีเกิด โดยทำออกมาครบทั้ง 12 ราศี โดยหยิบเอาเรื่องใกล้ตัวมาทำก่อนคนเอเชียค่อนข้างเชื่อเรื่องนี้ จากนั้นก็ทำเป็นซีรีย์ต่างๆ ให้ลูกค้าเลือก ช่วงแรกอาจทำเป็นสีดีบุก ต่อมาทำเป็นสีทองบ้าง สีดำบ้าง เพื่อให้ลูกค้าเลือกตามความชอบ ทำให้คนจดจำแบรนด์เราได้จากจุดเด่น คือ แก้วที่มีหัวเป็นโลหะ จากรูปนักษัตรเราก็ทำเป็นคอลเลคชั่นอื่นตามมา เช่น ดอกไม้ก็ทำตาม 12 เดือนเกิดเหมือนกัน คือ นอกจากรูปแบบแล้ว เราพยายามสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าด้วยโดยเอาความเชื่อและวัฒนธรรมใส่เข้ามา แต่ก็มีบางอันที่ทันสมัยไปเลย เช่น ซีรีย์หัวกะโหลก คนค่อนข้างชอบ บางอันก็ออกแบบมาเวลาวางแล้วแก้วจะเอียงๆ หน่อย พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ”
“โดยในความยากตรงนี้เราต้องพยายามรักษาจุดเด่น คือ ความเป็นงานหัตถศิลป์โลหะที่ประณีต ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้กว้างขึ้นด้วย อย่างตัวนักษัตรเราจะทำยังไงให้ลูกค้าดูรู้ว่าตอนคว่ำแก้ว คือ รูปสัตว์ชนิดไหน แต่พอหงายแก้วขึ้นก็ต้องสามารถวางตั้งได้ ใช้งานได้จริงด้วย โดยกระบวนการผลิตงานก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เริ่มจากการทำชิ้นงานต้นแบบที่เป็นแม่พิมพ์ก่อน สมัยก่อนต้องทำต้นแบบจากขี้ผึ้ง นั่งแกะลายด้วยมือ แต่สมัยนี้มี 3D Printing มาช่วย ก็ช่วยได้เยอะในการขึ้นต้นแบบ แต่สุดท้ายก็ต้องจบด้วยมือคนอยู่ดี เพราะเสน่ห์ของงานแฮนด์เมดอยู่ที่มือคน คอมพิวเตอร์ไม่สามารถสร้างได้ ช่างฝีมือทุกวันนี้ก็หาได้ยากเต็มที”
- อย่าปิดกั้นโอกาสที่เข้ามา
นอกจากความพยายามในการปรับปรุงรูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ณัชชาและทายาทธุรกิจคนอื่นๆ พยายามทำให้กับธุรกิจของครอบครัว คือ การแสวงหาโอกาสและช่องทางตลาดใหม่ให้กับธุรกิจ
“แต่ก่อนเราคิดว่าสินค้าราคาสูงๆ น่าจะขายได้ยากในตลาดออนไลน์ เพราะลูกค้าน่าจะอยากมาเห็นของจริงก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าถึงเราจะไม่เปลี่ยนตัวเอง แต่ตลาดก็เปลี่ยนตัวมันเอง โลกการค้าทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะ คนไม่อยากเดินทางมาซื้อของเอง ซึ่งพอเราเริ่มทำตลาดออนไลน์ออกไปทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตอนแรกก็ลุ้นว่าจะมีออเดอร์เข้ามาเมื่อไหร่ ปรากฏว่าออเดอร์แรกที่มีเข้ามาเป็นงานชิ้นใหญ่เลย เป็นประเภทงานโมเดลที่ต้องใช้ความวิจิตรบรรจงในการทำ จะมีกลุ่มคนที่ชอบสะสมงานแบบนี้อยู่ โดยเขาเห็นตัวอย่างงานที่เราทำ ก็เลยติดต่อเข้ามา เพราะนอกจากเครื่องใช้ต่างๆ แล้ว เราเองก็ทำงานโมเดลด้วย เช่น เรือพระที่นั่งต่างๆ เราเลยได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วย”
“ทุกวันนี้งานทุกชิ้นที่เราออกแบบเอง เราจะติดแบรนด์ของเราลงไปด้วย แต่ในส่วนของ OEM งานออเดอร์ต่างๆ ก็ยังรับอยู่ ไม่ได้ทิ้ง ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราคิดว่าไม่ควรเลือกอะไร อันไหนมีโอกาสเข้ามาก็ควรรับไว้ แม้แต่การสั่งคัสตรอมเมดเล็กๆ ถ้าดูแล้วลองทำให้ได้ ก็ควรทำ เพราะวันนี้ถึงเขาอาจสั่งปริมาณไม่เยอะ แต่วันข้างหน้าถ้าเขาขายได้ดีเขาอาจกลับมาสั่งเราเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ทุกวันนี้มีธุรกิจเล็กๆ แบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ขอเพียงไม่ปฏิเสธโอกาส เราก็สามารถเติบโตต่อไปได้”
และนี่คือ หนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้การสร้างแบรนด์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะนำพาโอกาสมากมายให้เข้ามาแล้ว ยังช่วยให้เราดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย ไม่ต้องพบเจอกับทางตันเหมือนเช่นที่ผ่านมา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี