- Text : รุจรดา วัฒนาโกศัย
Main Idea
- ว่ากันว่ายิ่งสูงกาแฟยิ่งอร่อยและมีคุณภาพดี กลายเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่หลายๆ ฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ (Chiang Mai Coffee Hub)
- ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมมีพันธุ์กาแฟที่ได้ขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) ไปจนถึงการผลิต ผสานนวัตวิถีกาแฟกับการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้เชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี
นอกจากจะเป็นเมืองที่ติดอันดับน่าท่องเที่ยวแล้ว คนที่ไปเยือนเชียงใหม่คงได้เห็นร้านกาแฟสวยเก๋ให้เลือกลิ้มชิมรสกันมากกว่า 1,000 แห่ง และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อมองย้อนเส้นทางธุรกิจกาแฟในเชียงใหม่มีความโดดเด่นด้านซัพพลายเชนที่เรียกว่า ครบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถึงกับเกิดยุทธศาสตร์ ผลักดันเชียงใหม่เป็นมืองกาแฟ (CHIANG MAI COFFEE HUB) ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการผลิตไปจนถึงการบริโภคกาแฟคุณภาพเยี่ยมกันเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาลึกลงไปเชียงใหม่นับว่าเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศดี โดยบางพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่เหมาะจะปลูกกาแฟ ว่ากันว่ายิ่งสูงกาแฟยิ่งอร่อยและมีคุณภาพดี และหากเทียบกับพื้นที่ปลูกต้นกาแฟในประเทศไทยทั้งหมดซึ่งมีอยู่กว่า 260,000 ไร่ สร้างผลผลิตรวมกันได้ประมาณ 35,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกในเชียงใหม่กว่า 20,000 ไร่ ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3,800 ตันต่อปี
จากข้อมูลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บอกไว้ว่า ปัจจุบัน คลัสเตอร์กาแฟเมืองเชียงใหม่มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลายน้ำ โดยมีคนที่เอากาแฟไปคั่วไปปรุงมีประมาณ 1,000-2,000 ร้านค้า มูลค่าทางการค้าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงแค่ร้านกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่นำกาแฟมาแปรรูปเป็นขนม หรือร้านน้ำผลไม้ที่เอากาแฟมาผสมด้วย
โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟมีโอกาสเป็นไปได้สูง
ท่ามกลางร้านกาแฟกว่า 1,000 ร้านในเชียงใหม่ วาวีคือแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ที่สามารถอยู่มาได้ถึง 18 ปี ทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของธุรกิจกาแฟ โดยต้นน้ำคือ ไร่กาแฟอยู่ที่ดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งบนดอยจะมีเรื่องของแปลงทดลองกาแฟ ศูนย์การเรียนรู้และโรงงานแปรรูป และสถานที่ฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานของอเมริกาและยุโรป นอกจากปลูกเองแล้วยังมีคอนแทรคฟาร์มิ่งกับเกษตรกรประมาณ 50 ราย ซึ่งมีกลุ่มกาแฟออร์แกนิกที่ทำในจังหวัดเชียงใหม่ที่ อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง อำเภอสะเมิง และที่ตำบลเทพเสด็จ รวมอยู่ด้วย
ส่วนกลางน้ำก็คือ โรงคั่วที่ใช้มาตรฐานของต่างประเทศจับกระบวนการผลิตทั้งหมด ทั้ง GMP, ACCP โรงงานที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล โดยผู้มีประสบการณ์การคั่วมาตรฐาน Roasting Professional จากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษยุโรป (SCAE) มากว่า 15 ปี บริการรับทำ Sample Roast สร้างกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยมาตรฐาน Q-Grader ของสมาคมกาแฟชนิดพิเศษอเมริกา และมาตรฐานออร์แกนิกทั้งจากยุโรปและอเมริกา ทำให้เป็นโรงคั่วที่สามารถคั่วกาแฟออร์แกนิกได้ เรียกได้ว่าวาวีกลายเป็นผู้ประกอบการตัวอย่างในเรื่องการสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมกาแฟในเชียงใหม่
ส่วนปลายน้ำคือ ร้านกาแฟวาวีมีอยู่ 21 สาขาทั่วประเทศ และกำลังจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีกทั้งในและต่างประเทศ มีแผนจะเปิดร้านกาแฟออร์แกนิกโดยเฉพาะ
ไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟวาวี จำกัด หนึ่งในคลัสเตอร์กาแฟเมืองเชียงใหม่มองว่าโครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟมีโอกาสเป็นไปได้สูง
“ก่อนมีโครงการทุกคนต่างทำสะเปะสะปะ แต่พอมีโครงการนี้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน ตอนนี้เลยสร้างกลุ่ม ทั้งต้นน้ำ มีใครปลูกกาแฟที่ไหน อย่างไร บางครั้งก็เอามาแบ่งกันชิม เจอปัญหาแบบนี้จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เริ่มเป็นกลุ่มก้อนกันมากขึ้น และเริ่มเห็นว่าใครมีกาแฟดีอย่างไร เราก็ดูว่าเรามีโอกาสเชื่อมกับเขาได้อย่างไรบ้าง ส่วนกลางน้ำ โรงงานยังมีขีดจำกัดอยู่ประมาณหนึ่ง วันนี้มีชาวบ้านพยายามเข้ามาทำกระบวนการกลางน้ำมากขึ้น แต่เราพยายามบอกว่ายังไม่ถึงเวลาอยากให้เขาไปทำกระบวนการต้นน้ำให้ดีเสียก่อน ถ้ามีอะไรให้โรงงานช่วยเราก็ช่วยได้ ขณะที่ปลายน้ำ ตอนนี้ก็มีกลุ่มร้านกาแฟที่รวมตัวกัน เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีการอบรมบาริสตาบ้าง อบรมเรื่องการคัปปิ้งกาแฟบ้าง ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน”
พัฒนากาแฟขึ้นทะเบียน GI ตามรอยกาแฟเทพเสด็จ
หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการต้นน้ำ คือการผลักดันให้ผลผลิตกาแฟในเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) หรือเป็นสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เหมือนที่กาแฟเทพเสด็จทำได้สำเร็จในปี พ.ศ.2560
กาแฟเทพเสด็จปลูกในที่สูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งป่าไม้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไร้มลภาวะ มีอากาศหนาวเย็นสบายทั้งปี ส่งผลดีต่อคุณภาพของกาแฟ ซึ่งเอกลักษณ์ของกาแฟเทพเสด็จคือ กลิ่นความหอมผสานกลิ่นดอกไม้ป่า เพราะในช่วงที่ต้นกาแฟออกดอกนั้น ดอกไม้ป่าสีเหลืองที่ชื่อว่า ดอกก่อ ก็ออกดอกพอดี ดอกไม้ทั้งสองจึงเกิดการผสมเกสรกันผ่านการนำของผึ้งโก๋นหรือผึ้งโพรงที่เกษตรกรเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติจึงทำให้ได้ลักษณะที่พิเศษของกาแฟชนิดนี้ออกมา ทั้งยังเป็นกาแฟอินทรีย์ตัวจริงเสียงจริง การันตีด้วยการได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ GREEN & CLEAN การปลูกกาแฟเป็นแบบอินทรีย์ปลอดภัยไร้สารพิษมาแล้ว
จากการเปิดเผยของ สุวรรณ เทโวขัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า “ช่วงแรกเราเน้นส่งกาแฟกะลาให้กับมูลนิธิโครงการหลวง แต่ต่อมามองเห็นว่าการทำกาแฟกะลาไม่ได้เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ในระยะยาวเราคงสู้กับเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่สู้ได้คือคุณภาพอย่างเดียว เมื่อเราได้ขึ้นทะเบียน GI มาแล้ว สิ่งที่เราได้อย่างแรกเลยคือ ราคากาแฟเพิ่มขึ้น ในปีนี้กาแฟเทพเสด็จสามารถขายได้ราคาสูงกว่ากาแฟจากดอยอื่นๆ ประมาณกิโลกรัมละ 5-10 บาท”
นวัตวิถีกาแฟผสานการท่องเที่ยวที่แม่กำปอง
หมู่บ้านเล็กๆ อย่างแม่กำปองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเป็นหนึ่งในรายได้หลักของชุมชน รายได้อีกส่วนมาจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาชั้นดี ชาวบ้านผลิตกันเองตั้งแต่ปลูกกาแฟแบบปลอดสารพิษ คั่วในโรงคั่วเล็กๆ ของชุมชน บรรจุและจัดจำหน่ายไปจนถึงชงเป็นกาแฟสดให้นั่งดื่มในร้านเล็กๆ ท่ามกลางวิวธรรมชาติ
ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านมีอาชีพปลูกต้นชาเมี่ยง จนมาปี พ.ศ.2550 จึงเริ่มปลูกต้นกาแฟเป็นอาชีพเสริมโดยความช่วยเหลือจากโครงการหลวง ทว่าเมื่อความนิยมกินเมี่ยงลดลง กาแฟจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือนตลอดทั้งปี
“ตอนนี้อาชีพปลูกกาแฟกับการท่องเที่ยวเคียงคู่กันไปเพราะนักท่องเที่ยวมาที่นี่ก็ต้องดื่มกาแฟ และปัจจุบันหมู่บ้านของเราทางการยกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาบวกกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เป็นทุนเดิมคือ เรื่องของวัฒนธรรมและธรรมชาติ กาแฟจึงมีส่วนอย่างมากในการทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเราสามารถแปรรูปเองได้และจำหน่ายเองได้ในชุมชน รวมถึงส่งออกไปขายทั่วประเทศด้วย เลยกลายเป็นรายได้หลักควบคู่กับการทำบ้านพักแบบโฮมสเตย์และบ้านพักนักท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 60 หลัง นี่คือเรื่องราวของแม่กำปองที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาขึ้นในชุมชน”
การยกระดับเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองแห่งกาแฟ นับเป็นการยกระดับคุณภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการกาแฟมากขึ้น มูลค่าของตลาดก็จะสูงขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งห่วงโซ่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี