ใครจะคิดว่าจากเศษไม้ไร้ค่า ที่เคยขายได้เพียงกระสอบละ 5 บาท เพื่อนำไปใช้ทำฟืน วันหนึ่งจะสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยงานออกแบบจนขายได้ราคาสูงสุดมากถึงชิ้นละ 500 บาท!
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นไปแล้วสำหรับ Carpenter แบรนด์ไลฟ์สไตล์โปรดักต์ของ วีรดา ศิริพงษ์ ที่เกิดจากการนำเศษไม้ ซึ่งเหลือทิ้งจากการทำประตู หน้าต่างที่เป็นธุรกิจเดิมของที่บ้าน มาประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องเขียน สเกลไม้ ปฏิทิน ไปจนถึงโต๊ะ เก้าอี้ได้ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้หลายเท่าตัว ต่อยอดกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่สวยงามและน่าจับตามองในยุคที่ไอเดีย คือ สิ่งจำเป็นของการทำธุรกิจ
“เดิมครอบครัวทำธุรกิจผลิตประตู หน้าต่างไม้อยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยเรียนเคยไปช่วยคุณพ่อที่โรงงานก็เห็นเศษไม้พวกนี้อยู่เต็มไปหมด กองปนกันอยู่ในกองขี้เลื่อย ก็เลยถามคุณพ่อว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ คุณพ่อบอกว่าเดี๋ยวจะมีคนมารับซื้อกระสอบละ 5 บาท เอาไปเผาทำฟืนเป็นเชื้อเพลิง ก็รู้สึกเสียดาย น่าจะเอามาทำอะไรได้ เพราะบางชิ้นก็มีรูปทรงสวยแปลกตา แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งเรียนจบสถาปนิกและทำงานประจำ ก็เริ่มอยากหาอาชีพเสริมอย่างอื่นทำด้วย เลยคิดไปถึงเศษไม้ในวันนั้นว่าเราอยากนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม"
"พอคิดได้ก็ลงมือสร้างเพจคืนนั้นเลย ทำกันกับพี่สาวสองคน ตั้งชื่อ คิดโลโก้ ดีไซน์เองทุกอย่าง ทั้งที่ยังไม่มีสินค้าเลยด้วยซ้ำ คือ ลองสเก็ตแบบไว้เยอะมาก แต่ยังไม่ได้ทำออกมา จนลองคุยกับเพื่อน เพื่อนก็แนะนำให้ทำสเกลไม้ เพราะเป็นอะไรที่ใกล้ตัวที่สุดและส่วนใหญ่ก็มีแต่สเกลพลาสติกที่ใช้กัน ก็ตัดสินใจลงมือร่างแบบคืนนั้นเลย เช้ามาก็ไปขอร้องให้ช่างที่โรงงานช่วยขึ้นรูปให้ เสร็จแล้วเราก็ไปหาวิธีพิมพ์ตัวเลขลงบนเนื้อไม้ ซึ่งมีให้เลือกหลายวิธีมาก จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่การยิงเลเซอร์ เพราะทนที่สุด แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีขั้นต่ำ 100 ชิ้น ตอนนั้นเรายังไม่มีทุนเลยขอให้เขาช่วยขึ้นแบบให้ สเกลมี 3 ด้าน แต่เขายอมทำให้แค่ด้านเดียว ก็ต้องมาใช้โฟโต้ช้อปช่วย เสร็จแล้วก็ลองโพสต์ขายเลย เปิดรับพรีออเดอร์ ปรากฏว่าแค่คืนแรกคืนเดียว ก็สั่งกันเข้ามาถึงร้อยกว่าอัน ทำให้เรามีเงินไปสั่งผลิตได้” วีรดา เล่าที่มาของเศษไม้ที่กลายมาเป็นงานประดิษฐ์ให้ฟัง
นอกจากความแปลกใหม่ของสินค้าที่ยังไม่เคยมีใครผลิตออกมาก่อน วีรดาเล่าว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยให้ลูกค้าสามารถสลักชื่อหรือถ้อยคำลงไปบนสินค้าได้ ก็เป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะนอกจากจะได้มีสินค้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเป็นของตัวเองแล้ว ยังสามารถนำไปใช้มอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึกเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ ได้อีกด้วย
และจากสเกลไม้ที่เป็นสินค้าแรกของแบรนด์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็ต่อยอดเป็นสินค้าอื่นออกมาอีกเรื่อยๆ เช่น ตราแสตมป์ ปฏิทิน พาวเวอร์แบงก์ แฟลตไดร์ฟ สมุด ไปจนถึงงานชิ้นใหญ่ขึ้นอย่างโต๊ะ เก้าอี้ หิ้งพระ กระเป๋าแฟชั่น ฯลฯ รวมถึงเริ่มมีการนำวัสดุอื่นเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างชิ้นงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น งานหนังและผ้า กลายเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ ซึ่งจากเศษไม้ที่โรงงานของตัวเอง ก็เริ่มรับซื้อเศษไม้จากโรงงานอื่นเพิ่มมากขึ้น
“ครั้งหนึ่งเราเคยได้รับเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามสั่งทำชิ้นงาน เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับวิทยากรระดับโลกอย่างคุณป้า ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สุดยอดสถาปนิกหญิงเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ซึ่งตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว เป็นไอดอลสมัยเรียนของเราเลย เป็นอีกสิ่งที่ได้มาจากการทำธุรกิจนี้ ซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อน”
หากมองดูโลกในวันนี้ที่ต่างมีสินค้าผลิตออกมาขายแข่งกันมากมาย นอกจากไอเดียความคิดใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้แล้ว storytelling หรือคุณค่าจากเรื่องราวของแบรนด์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับลูกค้า วีรดาจึงไม่ลืมที่จะบอกเล่าเรื่องราวจากเศษไม้เล็กๆ ของเธอให้ได้ฟังกัน
“ตอนนี้งานของเราเติบโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จากในประเทศก็มีส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ได้รับเชิญให้ไปออกงาน Milan Design Week งานดีไซน์ระดับโลก ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเรามาก ซึ่งพอชาวต่างชาติเขาได้รับรู้เรื่องราวของแบรนด์เราว่าเกิดขึ้นมาจากการนำเศษไม้เล็กๆ ที่เหลือทิ้งแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เขาก็รู้สึกประทับใจ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ไปในตัว"
"เพราะทุกวันนี้มีสินค้าผลิตออกมาแข่งขันกันมากมาย หากเราไม่มีเรื่องราวตรงนี้ทุกแบรนด์ก็จะเหมือนๆ กันไปหมด ซึ่งสินค้าของเราเป็นดีไซน์ที่เรียบง่ายอยู่ได้นาน คลาสสิก เราไม่ได้ทำตามแฟชั่น แต่เกิดจากการนำดีไซน์เข้ามาใช้ช่วยแก้ปัญหาจริง ฉะนั้นไม่ว่า 5-10 ปีก็ยังอยู่ได้ หรือต่อให้วันหนึ่งถ้ามันจะถูกทิ้ง มันก็จะไม่กลายเป็นขยะเหมือนพลาสติก เพราะสามารถนย่อยสลายได้ ทุกวันนี้แม้งานบางชิ้นที่ทำเสีย เราก็ไม่ทิ้ง เก็บเอามาสร้างชิ้นงานต่อไปเรื่อยๆ อย่างเศษที่ได้จากสเกลไม้ที่เสีย เราก็เอาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ทำเป็นพ่วงกุญแจต่อไปได้อีก กลายเป็นเศษในเศษที่สร้างคุณค่าไปเรื่อยๆ”
และนี่คือ เรื่องราวจากเศษไม้เล็กๆ ที่ต่อยอดให้กลายเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ได้...
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี