จากการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่แต่ละปีนั้นมีการขยายตัวต่อเนื่อง 10% มาเป็นเวลานานติดต่อกันกว่า 10 ปี แล้ว แม้จะมีวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์การเมืองก็ตาม เป็นการสะท้อนว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงค่อนข้างมีอนาคตที่สดใสไม่น้อย โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงจะอยู่ราวๆ 3.22 หมื่นล้านบาท โดยส่วนแบ่งที่มากสุด45% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท จะเป็นในกลุ่มของอาหารสัตว์ รองลงมาคือ ธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ มีสัดส่วน 32% มีมูลค่า 1.02 หมื่นล้านบาท และธุรกิจสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เสื้อผ้า ของเล่น สัดส่วน 23% มีมูลค่า 7,370 ล้านบาท
ด้วยแนวโน้มที่เติบโตดังกล่าวทำให้การแข่งขันในตลาดสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของธุรกิจสินค้าที่เกี่ยวข้อง อย่าง เสื้อผ้า เครื่องประดับ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เป็น Red Ocean ก็ว่าได้ เมื่อตลาดแข่งกันหนักแบบนี้ ถ้าจะทำธุรกิจให้เข้าตาลูกค้า เราควรต้องทำยังไง?
หนึ่งในแบรนด์ที่มาแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับน้องหมา Paws & Claws ของ 3 นักธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง กมลวรรณ มีรุ่งเรือง กัลย์ธีรา มีรุ่งเรือง และพิรดา กาวชู ได้เผยมุมมองการทำธุรกิจไว้อย่างน่าสนใจ โดยพวกเธอบอกว่า
- ดีไซน์ที่แตกต่างจะสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์
สิ่งสำคัญอย่างแรกเมื่อต้องทำธุรกิจในตลาดที่แข่งขันสูง นั่นหมายถึงว่า ลูกค้าจะมีทางเลือกที่หลากหลาย ถ้าคุณอยากจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าน้องหมาตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้า ต้องทำดีไซน์ให้แตกต่าง
สิ่งที่ทำให้ Paws & Claws แตกต่างจากผู้เล่นอื่นๆที่อยู่ในตลาด เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของแบรนด์เลยก็คือ การออกแบบและดีไซน์ชุดที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เป็นงานเย็บมือ โดยเฉพาะการติดคริสตัลที่จะไม่เห็นในแบรนด์อื่นๆ อีกทั้งยังมีแพทเทิร์นทรงเสื้อผ้าที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสรีระของน้องหมาแต่ละสายพันธุ์ที่จะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นจุดที่เราคำนึงถึงเพื่อให้มีความกับเขา เพราะว่าสวยอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ แต่ต้องใส่แล้วสบายและเคลื่อนไหวสะดวก
“แน่นอนว่าทุกธุรกิจย่อมมีการแข่งขัน เสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับน้องหมาก็เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำและให้ความสำคัญเสมอคือการเน้นที่ความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในส่วนของการดีไซน์ที่เน้นงานตกแต่งซึ่งเป็นงานมือค่อนข้างเยอะ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ เราเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในตลาด ซึ่งถ้าตรงและถูกใจไลฟ์สไตล์ของใคร เขาก็จะเลือกเรา ก็เหมือนกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าของคนปกติ ที่แม้จะมีตัวเลือกหลายแบรนด์ แต่สิ่งที่คนหยิบมาใส่ก็คือสไตล์ที่เขาชอบ”
- ไลน์สินค้าต้องหลากหลาย ตอบโจทย์ให้ได้ทั้งแม่และลูก
นอกจากชุดเดี่ยวๆ แล้ว ทางแบรนด์ยังมีชุดแมตช์กันระหว่างคุณแม่และน้องหมาอีกด้วย เพื่อตอบโจทย์คนที่อยากจะใส่ชุดคู่ สร้างความเหมือนให้ได้ใกล้ชิดกับเพื่อนหรือลูกตัวโปรดให้มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเสื้อผ้าสุนัขของทางแบรนด์ก็จะอิงมาจากแฟชั่นของคน เลยสามารถใส่ได้แบบมีสไตล์ทั้งคู่
“การออกคอลเลคชั่นชุดคู่ที่ให้คุณแม่มีชุดแมตช์กับน้องหมานั้น ถือว่าช่วยกระตุ้นให้คนอยากซื้อชุดมากขึ้น เพราะบางทีแม้เขาอาจจะไม่ได้แต่งตัวคู่กับน้องหมามาก่อน แต่พอเห็นว่ามีชุดคนที่ตรงกับความชอบของเขา ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกว่าลองแต่งคู่กันก็น่าจะดี หรือบางคนที่นิยม Mix & Match เสื้อผ้าให้ใกล้เคียงกับชุดน้องหมาอยู่แล้ว การทำตัวเลือกแบบนี้ขึ้นมาก็จะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้”
- ความคิดต่อยอดต้องไกล เพื่อเพิ่มความแกร่งให้ธุรกิจ
เพราะการจะยืนอยู่ในธุรกิจท่ามกลางผู้เล่นมากมาย ความแข็งแกร่งในการดำเนินกิจการจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทางแบรนด์เลยมองถึงการต่อยอดแตกไลน์โปรดักต์ไปยังสินค้าประเภทอื่นนอกจากเสื้อผ้าและเครื่องประดับ
“เรามองไปถึงการทำสินค้าอื่นๆ เพื่อทำให้เราเป็นแบรนด์ที่มีความครบวงจรในเรื่องของสัตว์เลี้ยง เช่น อาจจะมีการเพิ่มปลอกคอขึ้นมา นอกเหนือจากที่ตอนนี้มีสายจูงแล้ว แล้วอาจจะแตกไลน์ออกไปยังโปรดักต์ประเภทขนมและอาหาร ซึ่งเป็นแผนในอนาคตของเรา ด้วยความที่เราเดินมาทางนี้แล้ว เราก็อยากทำให้ครบและเป็นทั้งหมดให้กับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากแนวโน้มของตลาดนี้ยังไงก็มีการเติบโต อีกทั้งประชากรน้องหมาในบ้านเราที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านตัว ก็ถือว่ามีจำนวนที่มากพอสมควร รวมไปถึงสภาพของคนในสังคมที่เดี๋ยวนี้มีลูกช้าลง มีลูกยากขึ้น หรือมีภาวะของความเครียด เลยหันมานิยมเลี้ยงน้องหมาน้องแมวมากขึ้น บวกกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงยังมีช่องทางที่จะขยายตัวได้อีกมาก”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี