ความผิดพลาดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่า จะเป็นบทเรียนที่เห็นกันเสมอและเป็นบทเรียนที่มีราคาแพงเสียด้วย แต่พอว่ากันด้วยเรื่องกฎหมายแล้วผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจมักจะจัดให้ไปอยู่แทบจะที่โหล่ในลำดับความสำคัญของการจัดตั้งธุรกิจ Startup และ SME เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองถ้าต้องไปเสียเงินให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย สู้เอาเงินมาใช้ในการผลิตสินค้าและพัฒนาตลาดจะเป็นประโยชน์มากกว่า เข้าทำนองสุภาษิตโบราณที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย เพราะถ้าเราไม่วางแผนด้านกฎหมายให้ถูกต้องแล้ว ปัญหาที่ตามมาจะให้เราเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะจ่าย เล่มนี้เลยคิดว่าอยากจะคุยเรื่องที่เป็นข้อผิดพลาดทางด้านกฎหมายสำคัญๆ ที่เห็นเสมอทั้งจากผู้ประกอบการทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ แม้แต่ในประเทศเจ้าแห่ง Startup อย่างอเมริกาที่เป็นประเทศที่มีกฎหมายที่เข้มงวดประเทศหนึ่งในโลก มาดูกันว่าปัญหาด้านกฎหมายที่เกิดประจำนั้นมีอะไรบ้าง
ไม่จัดตั้งเป็นนิติบุคคล
สิ่งแรกที่คนจะทำธุรกิจควรต้องตัดสินใจคือ การจัดตั้งนิติบุคคลที่เหมาะสมกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่แยกต่างหากจากความเป็นบุคคลธรรมดาของผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งหุ้นส่วนทั้งหลายมักจะมุ่งไปที่การขายสินค้าให้ได้ก่อนคือ ต้องให้มีรายได้ก่อนค่อยจัดการตั้งนิติบุคคล ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันทีว่าธุรกิจจะขาดความน่าเชื่อถือการจะไปขอกู้เงินสถาบันการเงินไหนก็ไม่ได้ ลูกค้าหรือผู้ที่ติดต่อด้วยอาจจะไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือดีหรือไม่ ธุรกิจก็จะเติบโตได้ยาก หรือบางกรณีก็ตั้งนิติบุคคลแบบไม่ได้มีการปรึกษาที่ปรึกษากฎหมาย จึงไม่ได้มีการวางแผนบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เช่น เรื่องการวางแผนภาษี การจ้างแรงงาน และการส่งเงินสมทบประกันสังคม และหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา จึงควรหาที่ปรึกษากฎหมายที่ดีให้ช่วยเริ่มตั้งธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
เริ่มธุรกิจกับเพื่อนพ้องน้องพี่ โดยไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างหุ้นส่วน
Startup หรือ SME มักจะเริ่มต้นด้วยการจับกลุ่มกันระหว่างเพื่อน หรือพี่น้องคนสนิทที่จะหาไอเดียมาทำสินค้า หรือคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านใหม่ๆ และการลองผิดลองถูกก็อาจกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตระดับโลกได้ เมื่อเราเริ่มธุรกิจกับคนที่เราสนิทและไว้ใจ เรามักเลี่ยงที่จะมีการตกลงที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยว่า ใครมีสัดส่วนในธุรกิจเท่าไหร่ นอกจากการลงหุ้นแล้ว หุ้นส่วนแต่ละคนมีหน้าที่อะไรบ้าง และที่สำคัญหุ้นส่วนคนที่ต้องลงมือทำงานจะได้เงินเดือน หรือค่าตอบแทนอะไรไหม เพราะถ้าไม่ตกลงกันชัดเจนก็จะเกิดปัญหาที่ตามมาคือ พอบริษัทเติบโตขึ้นมีรายได้ดี มีการขยายกิจการไป หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งก็จะเริ่มมีความไม่ลงรอยกันในเรื่องการตัดสินใจ การบริหารงาน บ้างก็ว่าฉันทำงานมากกว่าเธอ ฉันต้องได้เงินมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยมาก ถ้าบริษัทยังไม่ทำกำไรหรือยังไม่ใหญ่ก็มักไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอเงินมางานมาก็พากันทะเลาะ
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กที่ต้องทะเลาะฟ้องร้องกันเพราะไม่มีการวางแผนและตกลงกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก่อน ก็ใครจะไปรู้ล่ะว่าธุรกิจจะเป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้มากที่สุด และ Powerful ที่สุดในโลก อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่ดังไม่มีรายได้ ก็ไม่ทะเลาะกันหรอก ดังนั้น จึงอยากแนะนำว่า ควรมีการทำข้อตกลงระหว่างหุ้นส่วนไว้เลยตั้งแต่ต้น หรือที่เรียกว่า Partnership Agreement ใส่รายละเอียดไว้ให้หมดว่าตกลงกันว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ หน้าที่ของแต่ละคน รวมทั้งอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ และต้องไม่ลืมใส่รายละเอียดว่าหากหุ้นส่วนคนใดต้องการขายหุ้นของบริษัท จะต้องเสนอขายให้หุ้นส่วนคนอื่นก่อนเอาไปขายให้บุคคลภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้หุ้นส่วนเดิมเอาหุ้นไปขายให้ใครก็ไม่รู้เข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกับเรา
ไม่มีสัญญาที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับธุรกรรมสำคัญของบริษัท
การดำเนินกิจการของบริษัทควรต้องมีการเตรียมสัญญาพื้นฐานที่ถูกร่างขึ้นไว้ก่อนที่มีเนื้อความไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัท ซึ่งจะครอบคลุมสิทธิหน้าที่ต่างๆ เช่น เรื่องราคา การชำระเงิน ระยะเวลาในการชำระเงิน รวมทั้งค่าปรับและดอกเบี้ยกรณีที่ไม่มีการชำระเงินตามกำหนด การที่เราให้นักกฎหมายทำร่างสัญญาไว้ก่อนเพื่อที่จะทำให้สะดวกและรอบคอบ ไม่ใช่จะทำอะไรทีก็ต้องมาร่างสัญญาใหม่ นักกฎหมายจะเรียกสัญญาแบบนี้ว่า Standard Contract ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมรายละเอียดในนั้นได้ ตามแต่นิติกรรมสัญญาที่เกิดขึ้น
ขาดเอกสารที่สำคัญเกี่ยวกับการจ้างงาน
แม้ว่ากฎหมายแรงงานของประเทศไทยจะยอมรับว่า การจ้างงานสามารถทำได้ทั้งโดยวาจาและสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ Startup ที่ทำธุรกิจใหม่ๆ จะต้องวางแผนเพื่อการเจริญเติบโตของบริษัทด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ เพราะต้องดูว่าบริษัทนี้จะมีโอกาสเติบโตได้หรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนและเตรียมเอกสารต่างๆ ไว้ให้ครบและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างงานที่ต้องมีภาระหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งระบุไว้ พร้อมกับสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา วันลา การลา วันหยุด สวัสดิการต่างๆ ไว้อย่างละเอียด
และนอกจากนี้ ควรที่จะมีการจัดทำคู่มือพนักงานที่มีรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งแบบฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟอร์มลากิจ ลาพักร้อน หรือฟอร์มเบิกสวัสดิการต่างๆ แม้กระทั่งใบลาออก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการวางแผนการบริหารงานด้าน HR ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และการคุ้มครองแรงงาน เพราะเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ให้ทางฝั่งลูกจ้าง และเป็นการสร้างหน้าที่ต่างๆ ให้กับนายจ้าง เพื่อให้มั่นใจว่านายจ้างจะมีการปฏิบัติกับพนักงานและลูกจ้างอย่างดี ดังนั้น หากไม่เตรียมตัวไว้แล้วเกิดเป็นข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น เราในฐานะนายจ้างก็จะมีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่ค่อนข้างหนัก นอกจากนี้ เราควรที่จะมีสัญญาไม่เปิดเผยความลับทางการค้าของบริษัทไว้ให้พนักงานทุกคนลงนามรับรองไว้ด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะป้องกันไว้ว่าห้ามพนักงานเอาไปเปิดเผย และถ้าฝ่าฝืนก็จะสามารถไปฟ้องได้
ไม่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
เรื่องความสำคัญและปัญหาในเรื่องการคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า สิทธิบัตรนั้น ทุกท่านคงตระหนักดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปกป้องเครื่องหมายการค้า โลโก้ต่างๆ ชื่อทางการค้าของเราเพราะถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของบริษัท ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่ใช่แค่ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วก็จบกัน อีก 10 ปีก็ค่อยไปต่ออายุ แต่ต้องคอยดูว่ามีใครละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือสิขสิทธิ์ของเราไหม หรือมีใครมายื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของเรา ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเกิดเข้าใจผิดได้ เราก็ต้องไปคัดค้านการยื่นขอจดทะเบียน เป็นต้น เรื่องนี้จะเรียกว่า การบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property Management ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทจะต้องให้ความสำคัญมาก
กฎหมายเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ ต้องวางแผนการบริหารกฎหมายที่ดีควบคู่ไปกับการบริหารและวางแผนด้านพาณิชย์ เพื่อที่จะให้เราไม่มีปัญหาอันจะเป็นอุปสรรคในการขยายกิจการของบริษัทในอนาคต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี