เจาะเคล็ดลับพาแบรนด์ชาไทยโกอินเตอร์ ฉบับ Raewadee Tea





Cr : Raewadee Tea


     Raewadee Tea แบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียม ที่พุ่งเป้าไปยังตลาดต่างประเทศตั้งแต่วางคอนเซปต์สร้างแบรนด์ เพราะอยากยกระดับแบรนด์ชาไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยรูปลักษณ์ที่สื่อถึงลวดลายสีสันความเป็นไทย ไปจนถึงกลิ่นและรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์จากวัตถุดิบเฉพาะตัวไม่เหมือนใครของไทย จึงทำให้ในระยะเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา Raewadee Tea กลับเป็นชาไทยที่รู้จักกันดีอยู่ในตลาดโลก ปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ โอมาน กาตาร์ ดูไบ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ลาว เวียดนามด้วย อะไรทำให้แบรนด์ดังกล่าวสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน ลองมาถอดวิธีคิด-อ่านของ เรวดี เกตุแก้ว เจ้าของแบรนด์กัน โดยมีหลักใหญ่ๆ อยู่ 2 ข้อ คือ รู้จักตัวเองและรู้จักลูกค้า
 


Cr : Raewadee Tea


รู้จักตัวเอง : สร้างความแตกต่างที่เป็นตัวเอง


     โจทย์ที่ตั้งไว้ของเรา คือ ทำยังไงเราถึงจะอัพเกรดผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรของไทยออกสู่ตลาดโลกให้ได้ เพราะอยากช่วยเหลือเกษตรกรไทย อยากเดินตามแนวพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลักของคนไทย ซึ่งตัวเองได้คลุกคลีกับสมุนไพรไทยมาตั้งแต่เด็กๆ และชื่นชอบในการดื่มชาด้วย จึงคิดอยากลองทำชาโดยใช้วัตถุดิบของไทย เพื่อส่งออกไปขายยังเมืองนอก เริ่มแรกเราก็ดูก่อนว่าในตลาดเขาทำอะไรกันบ้าง เราสามารถที่จะแตกต่างได้ยังไง


     อันดับแรกมาดูเรื่องดีไซน์รสชาติก่อน โดยทั่วไปคนมักจะเข้าใจว่าชาที่ดีต้องมีรสขม จึงจะมีสรรพคุณสามารถบำรุงร่างกายได้ดี เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ได้ชาที่มีประโยชน์ด้วย แต่ก็มีรสชาติ กลิ่น และสีสันชวนให้อยากดื่มด้วย อยากให้เขารู้สึกฟินเวลาดื่มชา เราเลยนึกถึงสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาอยู่แล้ว มีรสชาติและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยนำมาเบลนด์ออกมาเป็นสูตรต่างๆ อาทิ Happy Heart – ใบหม่อน มะลิ ใบเตย ให้สีโทนเขียว ช่วยลดไขมัน ความดัน น้ำตาลในเลือด บำรุงหัวใจ, Red Charming – มัลเบอร์รี่ กระเจี๊ยบ และกุหลาบ ให้สีโทนแดง วิตามินซี ระบบไหลเวียนโลหิต
  


Cr : Raewadee Tea
  

     เรื่องที่สอง คือ แพ็กเกจจิ้ง นอกจากจะออกแบบดีไซน์ให้สื่อถึงเอกลักษณ์ของไทยแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ด้วย ซึ่งชาของเราเป็นออร์แกนิก ไม่ใส่สารกันบูด ฉะนั้นเพื่อให้สามารถเก็บได้นานยิ่งขึ้นแทนที่จะใช้ซองกระดาษเหมือนแบรนด์อื่นๆ เราจะใช้ซองฟอยล์ห่ออีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันอากาศ แสงแดด และรักษากลิ่นให้คงหอมเหมือนเช่นเดิม ส่วนกระป๋องที่ใส่เราก็ใช้แบบที่เป็นฝาอัดสุญญากาศอย่างดีอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันความชื้น ซึ่งแม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาอีก แต่เรามองว่าเวลาชาหมดเขาสามารถนำกระป๋องที่เหลือไปใช้ใส่ของอย่างอื่นต่อได้อีก เพราะดีไซน์ก็สวย กระป๋องก็อย่างดี ทำให้เขามีโอกาสเห็นแบรนด์ของเราได้ตลอดเวลา
 


Cr : Raewadee Tea


รู้จักลูกค้า : รู้ว่าใคร คือ ลูกค้า อยู่ที่ไหน และจะเข้าถึงได้ยังไง
               

     เมื่อเราเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปสำหรับการทำตลาดในต่างประเทศ คือ คุณจะต้องรู้ใน 3 ข้อนี้ 1.รู้ว่าลูกค้า คือ ใคร 2.อยู่ที่ไหน และ3.เราจะเข้าถึงเขาได้ยังไง นี่คือ โจทย์หลักเลยเวลาเราใช้เลือกประเทศที่จะไปทำตลาด ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ก่อนจะเลือกไปเปิดตลาดในประเทศไหน เราจะต้องรู้ culture ของลูกค้าในประเทศนั้นด้วย อย่างเช่น ตะวันออกลาง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สนใจจะอายุประมาณ 30 กว่าๆ ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น คอลเลสเตอรอลสูง เบาหวาน ความดัน เป็นเพราะคนที่นั้นชอบกินหวาน เราก็ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ให้เขาได้


     อย่างตอนไปออสเตรเลีย ซึ่งคนบ้านเขาค่อนข้างภาคภูมิใจในประเทศของตัวเองมาก ไม่ค่อยเปิดรับอะไรใหม่ๆ ถ้าไม่รู้จัก เราก็นำเสนอชาตัวหนึ่งที่มีส่วนผสมของลาเวนเดอร์ด้วย ชื่อ ‘Sleeping Beauty’ เป็นส่วนผสมของมัลเบอร์รี่ อัญชัน และลาเวนเดอร์ ซึ่งกลิ่นลาเวนเดอร์ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย หลับสบาย พอเขาได้เห็นก็แปลกใจว่าลาเวนเดอร์สามารถเอามาทำชาได้ด้วยเหรอ ก็ให้ความสนใจและเปิดรับมากขึ้น พอเขาสนใจเราก็สามารถอธิบายต่อได้ว่า ชาตัวนี้มีสรรพคุณดียังไง เอามาผสมกับสมุนไพรไทยนะช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง คือ เราต้องพยายามหาจุดเริ่มต้นจับจุดให้ได้ก่อนว่าลูกค้าในแต่ละประเทศมีพฤติกรรมอย่างไร มีความสนใจเรื่องใด เพื่อทำให้เขาเกิดความสนใจ จากนั้นจึงแนะนำตัวและเสนอสินค้าออกไปให้เขาได้รู้จัก



Cr : Raewadee Tea


     อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับการไปเปิดตลาดต่างประเทศ คือ เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ถ้าลูกค้าสนใจพร้อมซื้อในวันนั้น เราก็ต้องสามารถขายได้เลย ข้อมูลทุกอย่างต้องเป๊ะ เช่น ราคาขายขั้นต่ำเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ค่าขนส่ง ภาษีเป็นยังไง ต้องหาข้อมูลเตรียมมาให้พร้อม ซึ่งแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน