ดีแต่ไม่แพง! ไอเดียปั้นแบรนด์ Gla ผุดสินค้าสกินแคร์จากธรรมชาติ





 

     ‘ของดี ทำไมต้องแพง’ นี่คือความสงสัยที่ผุดขึ้นมาในใจของชายหนุ่มที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทำสกินแคร์มาก่อน แต่กลับอยากทำสกินแคร์ดีๆ ในราคาที่จับต้องได้ให้คนไทยใช้กัน โจ-จิรายุ จิรภิญโญ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gla (กล้า) ได้เล่าให้ฟังว่าเขาเริ่มต้นทำแบรนด์ขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากการที่โจได้มีโอกาสลองใช้แชมพูญี่ห้อหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแชมพูถ่านไม้ไผ่ที่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งคุณภาพก็ดีตามราคา โจเริ่มมีความคิดขึ้นมาว่าทำไมคนไทยต้องใช้ของแพง ดีแต่ไม่แพงไม่ได้เหรอ? เลยเกิดเป็นไอเดียในการทำแบรนด์ขึ้นด้วยการรวบรวมเอาสิ่งที่ดีของแบรนด์ต่างประเทศหลายๆ แบรนด์รวมกันแล้วสร้างสรรค์ใหม่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยคุณภาพในราคาน่ารัก
 




ถ่านไม้ไผ่’ พระเอกของแบรนด์กล้า
               

     ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่แบรนด์กล้าได้ส่งออกมาในตลาดคือแชมพูถ่านไม้ไผ่ ที่ใช้เวลาในการคิดค้นและพัฒนาสูตรอยู่ 2 ปีครึ่ง ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถ่านไม้ไผ่หรือ Charcoal ยังไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนในปัจจุบันนี้
               

     “ที่เราเลือกถ่านไม้ไผ่เพราะว่ารูพรุนมันเยอะ ดูดซับสิ่งต่างๆ ได้เยอะมาก แล้วพอถ่านไม้ไผ่มันผ่านความร้อนที่ 1,000 องศาเซลเซียส มันจะปล่อยประจุลบออกมา พอไปจับกับประจุบวกก็จะทำให้พวกสารอนุมูลอิสระกลายเป็นสารไม่อนุมูลอิสระอีกต่อไป พอเราเลือกใช้ถ่านไม้ไผ่ในการทำสกินแคร์มันจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรก ดูดซับความมันได้ดี ลดกลิ่นได้ ใช้แล้วไม่ทำให้ผมแห้งด้วย ต่างจากการใช้สารเคมี”
 




ธรรมชาติ สมุนไพรและใจรักคือคอนเซปต์หลักของการทำแบรนด์
               

     พอผลิตภัณฑ์จากถ่านไม้ไผ่ออกสู่ตลาด ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก ทำให้โจเริ่มคิดถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีในประเทศไทย เช่น ตะไคร้ มังคุด ส้ม ทุกอย่างที่ทำออกมาจะเน้นความเป็นธรรมชาติ เน้นวัตถุดิบในประเทศไทยและที่สำคัญคือไม่ทดลองกับสัตว์ 100%
               

     “เราก็ลองผิดลองถูกมาเยอะ ไม่ได้เป็นสายคอสเมติกแต่แรก แต่เราชอบ เราชอบที่จะออกแบบเองด้วย ส่วนเรื่องส่วนผสมต่างๆ จะมีนักเคมีที่ช่วยดูแล เราตั้งปณิธานไว้ว่าจะเลือกใช้ของดีที่สุดในราคาที่ไม่แพง เราจะเน้นใช้วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพร เน้นความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและทุกอย่างใช้แล้วต้องเห็นผล พอเราทำสินค้าแต่ละตัว เราก็จะต้องมีการทดลองใช้เองก่อน สินค้าทุกตัวผมลองใช้เองหมด จะไม่มีแบบ ตัวนี้เราไม่กล้าใช้ นอกจากนี้เรายังไม่ทดลองกับสัตว์ ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทดลองกับสัตว์ หรือแม้แต่ส่วนผสมที่มีการทดลองกับสัตว์ผมก็ไม่เลือกใช้ มันมีวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ต้องทดลองกับสัตว์ก็ได้ เราเลือกใช้ตรงนั้นมากกว่า คือความเป็นธรรมชาติ มันรวดเร็วสู้สารเคมีไม่ได้หรอก แต่ผลลัพธ์ของมันจะออกมาอย่างช้าๆ อย่างยั่งยืน”
 



จากแบรนด์ Gla ต่อยอดสู่แบรนด์ Charcoalogy
               

     หลังที่แบรนด์ Gla เริ่มเติบโตและเน้นจับกลุ่มลูกค้าบน โจจึงแตกแบรนด์ใหม่ที่จับกลุ่มลูกค้าตลาดกลางโดยเฉพาะกับแบรนด์ที่ชื่อว่า Charcoalogy เป็นแบรนด์ที่เน้นวัตถุดิบหลักคือถ่านไม้ไผ่ ราคาจะถูกลงกว่าแบรนด์ Gla ในตอนนี้ทั้ง 2 แบรนด์ทั้ง Gla และ Charcoalogy ได้เริ่มออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป แคนาดา ส่วนแถบเอเชีย มีเกาหลีและญี่ปุ่น
               

     สำหรับการทำตลาดของทั้ง 2 แบรนด์จะเน้นโลกออนไลน์เป็นหลัก เข้าไปในทุก Social Media อีกทั้งยังมีการรีวิวจากเหล่าบล็อกเกอร์ก็ช่วยทำให้ผู้คนรู้จักสินค้าได้มากขึ้น
 




หัวใจสำคัญที่สุดในการทำแบรนด์คือความซื่อสัตย์ คุณภาพและจุดยืน
               

     โจได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของตัวเองว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมีเลยในการทำธุรกิจเกี่ยวกับธรรมชาติคือเรื่องของความซื่อสัตย์และความจริงใจที่ต้องมีต่อผู้บริโภค นอกจากนี้สินค้าที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนจะต้องมีคุณภาพ ใช้แล้วเห็นผล อาจจะเร็วไม่เท่ากับสารเคมี แต่ในระยะยาวจะให้ผลที่ยั่งยืนกว่า
               




     อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้คือจุดยืน ต้องมีความเป็นตัวเอง โดยโจได้เล่าให้ฟังว่ามีโรงแรมหลายแห่งติดต่อมาให้ทำแชมพู สบู่ขวดเล็กๆ ใช้ในห้องน้ำ ซึ่งโจปฏิเสธทันทีว่าไม่รับทำแม้ว่าจะเสียลูกค้าไปก็ตาม เหตุผลคือทางแบรนด์มีจุดยืนด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากทำสินค้าขวดเล็กๆ ใช้แล้วทิ้งก็เท่ากับเป็นการสร้างขยะ เพราะฉะนั้นแบรนด์ต้องรักษาจุดยืนของตัวเอง เราต้องเรียนรู้ว่าผู้บริโภคเราเพราะเราเป็นแบบไหน เราก็แค่แสดงออกไปแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองตามกระแส แต่ความเป็นตัวเองจะช่วยทำให้แบรนด์อยู่ได้แบบยั่งยืนที่สุด





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน