​“ละไม โมเดล” เปลี่ยนสวน ให้กลายเป็นแลนด์มาร์ก





 
               
     เดี๋ยวนี้เห็นคนรุ่นใหม่หันกลับไปทำอะไรที่บ้านเกิดหรือต่างจังหวัดกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะการทำฟาร์มเกษตรในรูปแบบต่างๆ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้อีก นอกเหนือจากผลผลิตที่ได้ ‘สวนละไม’ ธุรกิจเกษตรที่ยกระดับจากสวนผลไม้ธรรมดาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม คือ หนึ่งในโมเดลตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งแม้ไม่ใช่หน้าเทศกาลบุฟเฟ่ต์ผลไม้ที่มักเนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่สวนละไมก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเที่ยวพักผ่อน ทำให้มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี จนกลายเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งที่น่าสนใจของจังหวัดระยอง


     อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่พลิกจากสวนผลไม้ธรรมดาๆ ให้เปลี่ยนมาเป็นจุดเช็คอินยอดนิยมได้! ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย





     ไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์
 กรรมการผู้จัดการสวนละไม ผู้บุกเบิกและปลุกปั้นสวนดังกล่าวจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เล่าให้ฟังว่า


     “เดิมทีเรามีรายได้จากการขายผลผลิตต่างๆ พอผลไม้เยอะก็มีการเปิดสวนจัดบุฟเฟ่ต์ผลไม้ให้คนเข้ามารับประทาน ซึ่งโดยปกติจะอยู่ในช่วงเมษายน – กลางเดือนกรกฎาคม มีหลายชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สละ นอกจากนี้ ยังมีเป็นอาหารว่าง อาทิ ข้าวเหนียวส้มตำไก่ทอด ขนมหวานไว้บริการด้วย รายได้ที่เข้ามาในแต่ละวันอาจดูเหมือนเยอะ แต่ความจริงแล้วราคาผลไม้มีขึ้นมีลง โดยเฉพาะทุเรียน ถ้าช่วงไหนราคาสูง กำไรที่ได้ก็ไม่มาก เลยพยายามมองหาสิ่งอื่นเพิ่มเติมเข้ามา



     

     ด้วยความที่สวนอยู่ติดกับเชิงเขามีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เราจึงพยายามสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา มีการปรับพื้นที่ให้เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว มีฟาร์มแกะ ที่พักสไตล์แคมป์ปิ้ง ร้านกาแฟ ร้านสเต็ก กลายเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งที่น่าสนใจของระยอง รายได้ที่เข้ามามากกว่าทำบุฟเฟ่ต์ผลไม้เสียอีก เพราะสามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอแค่หน้าผลไม้ ซึ่งอนาคตอาจจะขยายให้มีกิจกรรมแอดเวนแจอร์มากขึ้น มีรถ ATV มีฐานผจญภัยต่างๆ ผมเชื่อว่าธุรกิจเกษตรยังสามารถไปได้อีกไกล ขอเพียงต้องคิดต่างจากคนอื่น มีเป้าหมายที่ชัดเจน และลงมือทำเลย”





     โดยกรรมการผู้จัดการดังกล่าวได้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากปรับพื้นที่การเกษตรให้กลายเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวไว้ 6 ข้อดังนี้

 
หาจุดเด่น
               

     “เราต้องดูว่าเรามีอะไรที่สามารถดึงดูดเขาได้ สมมติเราอาจปลูกผักเหมือนกับคนอื่น ต้องพยายามหาให้ได้ว่าผักของเราพิเศษแตกต่างกว่าคนอื่นยังไง จนถึงขั้นว่าถ้ามาเที่ยวที่นี่แล้วต้องซื้อกลับไป อาจไม่ใช่แค่การเพาะปลูกอย่างเดียว แต่อาจลองทำการแปรรูปด้วย ซึ่งในกระบวนการนี้เราสามารถสร้างกิจกรรมให้ลูกค้าเรียนรู้ได้ด้วย อาจลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างครบ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความแตกต่าง มีตัวตนที่ชัดเจน”
 




สร้างกิจกรรมขึ้นมาดึงดูด

               

     “การท่องเที่ยวทุกวันนี้เปลี่ยนไป คนชอบความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ฉะนั้นคนมีสวนหรือมีที่ทางไม่จำเป็นแค่สวนผลไม้ อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการเกษตร นอกจากเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตแล้ว เรายังสามารถทำให้คนมาเที่ยวได้ด้วย พยายามสร้างเป็นกิจกรรมให้เขาได้ลองเข้ามาทำ ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวทำกิจกรรมยังกว้างอยู่มากและเริ่มโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว พ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งหาไม่ได้ในเมือง”
 




สื่อสารออกไป
               

     “เมื่อเราหาจุดเด่น และเช็ตรูปแบบกิจกรรมขึ้นมาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การทำตลาด เราต้องพยายามสื่อสารออกไปให้เขารู้จักว่าเรา คือ ใคร กำลังทำอะไรอยู่ น่าสนใจยังไง ซึ่งการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะทางโซเซียลมีเดีย  สมัยนี้แค่มือถือเครื่องเดียว คุณก็สามารถแชร์ให้คนอื่นเป็นล้านๆ คนเห็นได้”
 




สิ่งอำนวยความสะดวก
               

     “เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ เมื่อพร้อมจะเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกต้องครบครัน สะอาดสะอ้าน เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามา สร้างบรรยากาศให้น่าเข้ามาเที่ยวชม”
 



จริงใจ
               

     “เป็นข้อที่สำคัญมากของการทำธุรกิจทุกอย่าง เพราะเมื่อเราจริงใจกับลูกค้า ลูกค้าก็จะเกิดความเชื่อมั่นและจริงใจกับเรา  อย่างทำบุฟเฟ่ต์ผลไม้ จากตอนแรกเอาของดีของสวนมาให้เขากิน แต่พอเห็นคนมาเยอะ กลัวของไม่พอขาย ก็ไปเอามาจากที่อื่น เพื่อมาขาย อันนี้จะทำให้จากจุดเด่น กลายเป็นจุดด้อยขึ้นมาทันที”
 




ชุมชนต้องมีส่วนร่วม


     “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ เราต้องทำให้ชุมชนรอบข้างเติบโตพร้อมกันไปด้วย อย่างที่สวนละไมเอง ตั้งแต่ปากทางเข้ามาจากถนนใหญ่ เราจะให้ชาวบ้านมาตั้งขายริมถนน อนุญาตให้มาขายด้านหน้าสวนเรา มีการจ้างงานชาวบ้านในชุมชนด้วย ฉะนั้นคนเข้ามาที่นี่เสมือนตลาดผลไม้ขนาดย่อมของจังหวัดระยอง”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน