ปฐมบท“ลูกชิ้นขี่คอ” สู่ปัจฉิมบท “YOO FISHBALL”

 


 
 
เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ย่านเยาวราชสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงอาจเป็นทองคำ ด้วยชื่อเสียงที่ดังกระฉ่อนไปทั่ว โดยหารู้ไม่ว่านอกจากทองคำแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าทัดเทียมดั่งทอง และยังเป็นของเด็ดลือชื่อยิ่งนักในย่านเยาวราชแห่งนี้ นั่นก็คือ “ลูกชิ้นปลา”
 
เปิดตำนาน “ลูกชิ้นขี่คอ”
 
เกยูร โชคล้ำเลิศ ทายาทรุ่นที่ 3 ของลูกชิ้นปลาชื่อดังได้เล่าย้อนไปเมื่อช่วง 80 ปีก่อน ที่ตาของเธอเริ่มต้นจากการขายก๋วยเตี๋ยวปลาลูกชิ้นปั้นสด กระทั่งมาในสมัยพ่อแม่ของเธอนอกจากขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยังนำลูกชิ้นปลามาแยกขายด้วย โดยใช้ชื่อว่า “อึ้งเป็งชุง” 
  ด้วยรสชาติที่ถูกปากของลูกค้าทุกคนที่ได้แวะเวียนมาชิม กลายเป็นปากต่อปากกระจายออกไปในวงกว้าง ผู้คนมากมายจึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายทำให้ร้านแน่นขนัดทุกวัน จนลูกค้าตั้งฉายาให้ว่า “ลูกชิ้นขี่คอ” แม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวในเยาวราชหลายแห่งยังต้องสั่งลูกชิ้นปลาของเธอไปใส่ในก๋วยเตี๋ยวด้วย
 
แตกหน่อ “อึ้งเป็งชุง” 
 
จากวิชาที่ร่ำเรียนมาทางด้านสายการตลาด ทำให้เกยูรมีแนวคิดที่จะขยายตลาดออกไปสู่ไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่โจทย์ใหญ่คือลูกชิ้นปลามีอายุเพียง 3-7 วันเท่านั้น ซึ่งวิธียืดอายุแบบที่ทำอยู่นั้นเป็นการบรรจุลงในถุงสุญญากาศทำให้ลูกชิ้นเก็บได้เกือบหนึ่งเดือน แต่เธอเองอยากจะเพิ่มให้นานขึ้นอีก จึงได้นำลูกชิ้นไปวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในวันนั้นเธอไม่คาดคิดเลยว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ใหม่ของเธอที่แตกหน่อต่อยอดจากลูกชิ้นขี่คอ
 
 
ลูกชื้นปลาแบรนด์ใหม่ถือกำเนิด
 
“คอลลาเจน” เป็นสิ่งที่ค้นพบในการนำลูกชิ้นปลาไปวิจัยในครั้งนั้น เกยูรพบว่าลูกชิ้นหนึ่งลูกมีปริมาณคอลลาเจนกว่า 500 มิลลิกรัม แต่ในเวลานั้นเธอยังไม่ได้คิดว่าจะนำมาทำอะไร กระทั่งได้เรียนต่อปริญญาเอก และเริ่มรู้สึกอยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง จึงเริ่มนำเรื่องนี้มาทบทวนอีกครั้ง พร้อมกับบอกตัวเองว่าเวลานี้มีวัตถุดิบที่เยี่ยมยอดอยู่แล้ว 
เกยูรเริ่มต้นจากการทำสำรวจชื่อ “อึ้งเป็งชุง” พบว่าลูกค้าเดิมๆล้วนจำได้ทั้งหมด แต่ในความคิดของเธอเองรู้สึกว่าหากเป็นกลุ่มวัยรุ่นชื่อนี้คงจำยาก จึงคิดชื่อใหม่ขึ้น หลังนั่นคิดนอนคิดอยู่สักระยะ ในที่สุดก็คลอดออกมาเป็น “Yoo Fishball” ซึ่ง “Yoo หรือ ยู้” นั้น เอามาจากชื่อเล่นของเธอนั่นเอง
 
 
ใส่ไอเดีย สร้างความต่างให้ “Yoo Fishball”
 
เมื่อได้แบรนด์ที่โดนใจแล้ว การบ้านชิ้นต่อไป คือการหาจุดแตกต่างจากแบรนด์ต้นตำรับ “อึ้งเป็งชุง” ที่เยี่ยมยอดอยู่แล้ว “แพ็กเกจจิ้ง” จึงเป็นความต่างอย่างแรกที่เห็นชัดที่สุด ต่อมาคือ “คอลลาเจน” ที่เกยูรเพิ่มลงไปในลูกชิ้นปลาของเธอ และยังเพิ่มวัตถุดิบที่เกี่ยวกับสุขภาพเข้าไปด้วย เพื่อให้กลายเป็นจุดขายที่ต่างจากต้นตำรับ เรียกได้ว่าทั้งสองแบรนด์จะมีจุดเด่นคนละแบบกัน
นอกจากสูตรที่มีการพัฒนาเพิ่มแล้ว เกยูรได้แยกออกมาเปิดร้านเป็นของตนเองด้วย ซึ่งแม้ในใจลึกๆของเธอยังคงมีความกังวลอยู่บ้างว่าจะเสียชื่อ “อึ้งเป็งชุง” หรือเปล่า เพราะว่าแบรนด์นี้เดินมาได้อย่างเข้มแข็งยาวนานกว่า 80 ปี แต่เธอก็ตัดสินใจขอพ่อแม่ว่าจะลองทำดูเพียงลำพัง
 
 
1 ปี 3 เดือน กับรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิ
 
จากจุดเริ่มต้นในเดือนกันยายน 2553 จนมาถึงวันนี้ เจ้าของกิจการ Yoo Fishball วัย 26 ปี กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลตอบรับที่เข้ามาดีมากมีคนเข้าร้านไม่ขาดสาย จนต้องเปิดสาขาเพิ่มซึ่งถึงวันนี้หากรวมกับร้าน “อึ้งเป็งชุง” ด้วย ก็มี 4 แห่งแล้ว เพราะแม้เกยูรจะแยกออกมาทำร้านของตัวเอง แต่ได้เข้าไปดูแลร้านซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดแบรนด์ใหม่ของเธอด้วย
ณ วันนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับ Yoo Fishball แต่เธอเองคงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะกำลังเตรียมขยายตลาดไปสู่ระดับพรีเมี่ยม เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และนำแบรนด์ “อึ้งเป็งชุง” เข้าสู่ตลาดระดับกลางตามห้างคอนวีเนียนสโตร์ เพื่อให้ทั้ง 2 แบรนด์เดินหน้าไปพร้อมๆกัน
 
ปรับระบบ...เพื่อรองรับอนาคต
 
สำหรับในร้านของเธอเองนั้น เกยูรกำลังศึกษาเพื่อนำระบบ “Self-Service” หรือบริการตัวเองเข้ามาใช้ แม้ว่าการบริการในร้านถือว่ารวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ แต่บางครั้งเวลาลูกค้าเข้าร้านเป็นจำนวนมากๆ ก็บริการได้ไม่ทันเช่นกัน 
  ฉะนั้น จึงอยากนำระบบนี้เข้ามา โดยให้ลูกค้าเดินเข้ามาเลือกเมนูอาหาร สั่งอาหาร จ่ายเงิน และนั่งรอรับอาหาร ซึ่งขณะนี้กำลังวางระบบเมนูอาหาร และใช้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การบริการเร็วขึ้น ซึ่งเป็นอีกช่องทางของการเพิ่มยอดขายด้วย ดังนั้นการพัฒนาธุรกิจไปทางนี้ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และมองว่าก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอร่อยไม่แพ้อาหารฟาสฟู๊ดของต่างประเทศ ธุรกิจแบรนด์ไทยเองก็น่าจะเติบโตได้ดีเช่นเดียวกันกับแบรนด์ต่างชาติ
นอกจากนี้ เกยูรยังเตรียมขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก เพราะเวลานี้มีบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งหากมีสาขาเพิ่มลูกค้าก็จะได้ลูกชิ้นปลาที่ยังร้อน และจะยังคงรสชาติเหมือนได้ทานที่ร้าน
 
“แค่เชื่อและศรัทธาว่าทำได้ เราก็จะทำได้ เงินมีอยู่รอบตัวทุกคน แค่รู้จักหยิบขึ้นมาใช้ให้เป็น”  เกยูร โชคล้ำเลิศ

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน