เมื่อรุ่นน้อง Sea Blue Again ขอเรียนวิชาโกอินเตอร์จากผ้าย้อมครามรุ่นพี่ “แม่ฑีตา”

 





     ในยุคที่ผ้าย้อมห้อม ย้อมครามถูกยกระดับจากผลิตภัณฑ์ชุมชนกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในปัจจุบัน เราเลยได้เห็นความเก๋ไก๋ของเหล่าเสื้อผ้าแฟชั่น ผ้าพันคอ กระเป๋าสีฟ้าอ่อน และอื่นๆ วางขายอยู่ทั่วไป ซึ่ง Sea Blue Again ก็เป็นหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มจากการใช้พื้นที่ในบ้านย้อมเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามออร์เดอร์ ก่อนจะต่อยอดมาเป็นย้อมผ้าผืนแล้วส่งต่อให้ช่างฝีมือขึ้นรูปเป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ โดยทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก
 

     วันนี้ถึงเวลาที่เจ้าของแบรนด์อย่าง อุ้ม-พิจิตรา ธรรมสถิตย์ คิดถึงการเติบโตไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมองดูแบรนด์ผ้าไทยรุ่นพี่ที่ตีตลาดอินเตอร์มานาน อย่างแบรนด์ “แม่ฑีตา” คือต้นแบบที่น่าสนใจ โดยปัจจุบันมีทายาทรุ่น 3 อย่าง มอญ-สุขจิต แดงใจ เข้ามารับช่วงต่อพาสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองสกลนครก้าวไกลไปทั่วโลก มาดูกันว่า ในฐานะรุ่นพี่แบรนด์ผ้าไทยที่แข็งแกร่ง จะมีข้อแนะนำให้กับน้องใหม่ในสนามนี้อย่างไร
 

พิจิตรา : การไปทำตลาดประเทศต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เริ่มต้นอย่างไร
 

สุขจิต : คือทางธุรกิจก็ต้องเรียนรู้กฎหมายนำเข้าของเขา แต่เราไม่ได้เข้าไปในรูปแบบบริษัท เราไปในภาพลักษณ์ของศิลปิน เป็นคนกลุ่มเล็ก ซึ่งต่างประเทศค่อนข้างเปิดกว้างกับงานคราฟต์หรืองานหัตถกรรมที่คนอาชีพอิสระทำ เขาจะให้โอกาสโดยที่เราไม่ต้องไปจดทะเบียนบริษัทหรือต้องไปในเชิงการส่งออกจำนวนมาก ตลาดต่างประเทศมีโอกาสที่เขาเปิดให้เราเข้าไปได้หลายรูปแบบ เราสามารถเดินทางไปได้โดยที่เอาผ้าพันคอไปผืนเดียวเป็นตัวอย่างให้เขาดูและนามบัตรที่บอกว่าเราเป็นใคร แต่ต้องมีโพรไฟล์ที่ชัดเจนแน่นอนพอให้เขาเชื่อว่าเราผลิตจริง ไม่ได้มีแค่นามบัตรอย่างเดียว



 

พิจิตรา : เราสามารถมองหาโอกาสไปต่างประเทศอย่างไรได้อีกบ้าง
 

สุขจิต : ถ้ารุ่นคุณแม่เราก็จะพึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างเดียว โดยกรมฯ เขาจะแจ้งมาว่ามีงานแฟร์ที่ประเทศไหนบ้าง มีปฏิทินรายปีเลยด้วยซ้ำ แน่นมาก แต่สมัยนี้เรามีอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยเพิ่มเติม สามารถเปิดดูเองได้ว่ามีงานแฟร์ที่ไหนบ้างแล้วก็จองตั๋วเครื่องบินไปได้เลย ไม่ได้ยากเหมือนแต่ก่อนที่ต้องพึ่งหน่วยงานราชการเป็นหลัก
 

พิจิตรา : แม่ฑีตาเลือกประเทศที่จะเข้าไปทำตลาดอย่างไร
 

สุขจิต : จริงๆ ถ้ามองตลาดงานคราฟต์ งานหัตถกรรมมองไม่ยาก มีอยู่ไม่กี่ประเทศที่น่าจะขายได้ แล้วเราก็มองลักษณะนิสัยของคนประเทศนั้นด้วย เมื่อก่อนเราเน้นตลาดญี่ปุ่นและคาดหวังกับประเทศญี่ปุ่นมากถึงขั้นที่ตอนมัธยมปลายแม่ถามว่าอยากเรียนภาษาอะไร ก็ตอบเลยว่าญี่ปุ่น เพราะเจอลูกค้าญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก็เลยมุ่งมั่นกับญี่ปุ่นแต่ก็ผิดหวังกลับมา ตอนนี้ถามว่ายังขายญี่ปุ่นได้ไหม ก็ยังได้อยู่ แต่คนเขาไม่ได้บริโภคเยอะเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ตอนนี้เรามองว่าไม่จำเป็นจะต้องมาตัดสินแล้วว่าภูมิภาคไหน ประเทศไหนจะซื้อหรือไม่ซื้อ ถ้าเราวัดโดยพื้นที่แบบนั้นก็เหมือนหนังสือเรียนบริหารธุรกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือทุกคนมาแบ่งตามภูมิภาคแบบเดิมไม่ได้แล้ว มันเป็นเรื่องเก่า ทุกวันนี้การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้เรามาขายของในนี้กัน เพราะฉะนั้นทฤษฎีเก่าๆ ไม่สามารถเอามาใช้ได้อีกแล้วในยุคนี้ เพราะโลกนี้คือหนึ่งเดียว
 




พิจิตรา : แล้วการออกงานแฟร์ล่ะ ยังสำคัญอยู่ไหม
 

สุขจิต : ตอนนี้เราออกงานแฟร์น้อยลงแล้ว เพราะเคยไปออกงานแฟร์แล้วขายไม่ได้เลยก็มี คือคนเดินเยอะนะแต่เขาไม่ได้ซื้อ โดยเฉพาะงานแฟร์ในเมืองไทย เรารู้สึกว่าภาพลักษณ์งานแฟร์ในเมืองไทยมันจับฉ่าย แต่ละงานไม่ค่อยมีความชัดเจน เข้าใจว่าบางงานเขาอยากร่วมกับนักธุรกิจไทย เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างหลากหลายมาก แล้วพอกลับมาดูที่ผลิตภัณฑ์ที่เราทำ เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม คนที่เสพของพวกนี้ ซื้อของพวกนี้เขาไม่มีใครมาเดินงานแฟร์กันแล้ว คนที่เสพงานแบบเราเขาชอบความชัดเจน เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงเราได้ก็คืออินเทอร์เน็ต
 

พิจิตรา : อยากทราบว่าตอนนี้ยอดขายของแม่ฑีตาจากช่องทางออนไลน์เป็นอย่างไร
 

สุขจิต : 90 เปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ แม้แต่ลูกค้าที่ซื้อมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ เวลาที่จะซื้อของกับเราก็จะโทรศัพท์มาหรือส่งข้อความมาในเฟซบุ๊ก คือตอนนี้ไม่มีใครมาเดินงานแล้ว เราเน้นไปที่อินสตาแกรม คนต่างชาติอยู่ที่ไหนเราก็จะไปเน้นตรงนั้น ตอนที่เราทำแบรนด์ใหม่ๆ ใครมากดไลค์เราจะเข้าไปดูเลยว่าเขาเป็นใคร เรียนที่ไหน ทำอะไร แล้วก็เห็นชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายๆ กัน
               

พิจิตรา : ที่ผ่านมาแม่ฑีตามีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ตามยุคสมัยหรือไม่
 

สุขจิต : เราพยายามทำโปรดักต์ให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด จริงๆ อะไรที่ดูเก่าๆ ก็โอเคนะ แต่ถ้าเก่าแล้วไม่เข้ากับปัจจุบันคนก็ไม่ใส่กัน ดังนั้น เราต้องแสดงความเป็นตัวตน ความเป็นแบรนด์ที่ชัดเจนที่สุด ความชัดเจนเป็นสิ่งที่คนต้องการมาก ถ้าตัวเราไม่ชัดคนจะรับรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ถ้าของที่เราทำสื่อไม่ถึงคนที่ซื้อ เราก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าตกลงแล้วของที่เราจะขายคืออะไร และลูกค้าคือใคร เราสู้กับแบรนด์ต่างชาติซึ่งเมืองนอกไม่ได้มีผ้าทอ เราก็ใช้ความเป็นผ้าทอเข้าสู้ อย่างผ้าย้อมครามญี่ปุ่นขายความเป็นยีนส์ แต่เราเน้นลายทอให้เป็นมากกว่าผ้าย้อมครามอื่นๆ มันคือเอกลักษณ์ของเราที่ให้คนรับรู้ เมืองไทยไม่มีใครขายลายทอมาก่อน เราไม่เคยรับรู้ว่าเมืองไทยเรามีลายทออะไรบ้าง ทั้งลายพญานาค ลายตัวแล ลายจระเข้ ซึ่งเราภูมิใจมาก ทำให้เราหาตัวตนของเราเจอ
 




พิจิตรา : สินค้าของเรา ลูกค้าเป็นกลุ่มเฉพาะจริงๆ
 

สุขจิต : ใช่ คือถ้าเราทำของที่แมสอาจจะขายได้ก็จริง แต่ถ้าของแมสไม่มีคาแร็กเตอร์บางอย่างมันก็เป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องทำแบรนด์ก็ได้ แต่พอเราพูดถึงความเป็นแบรนด์ เป็นตัวตน ก็ต้องดูว่าตัวเราเองแน่แค่ไหน อย่างรูปแบบสินค้าที่เราทำ เรามองแล้วว่าในตลาดไม่มีใครที่ทำแบบเรา อาจจะมีคนทำผ้าทอ แต่พอพูดถึงว่าเสื้อผ้าแนวนี้ต้องนึกถึงแม่ฑีตาก่อน คือแบรนด์อื่นเขายังไม่ชัดเจนเท่าเรา นี่คือจุดแข็ง เราเน้นลูกค้าผู้ชายเป็นหลักมากกว่าผู้หญิง แต่เราก็ได้ลูกค้าผู้หญิงด้วย คือผู้หญิงสมัยนี้เปลี่ยนไปไม่ได้ใส่กระโปรงหวาน หรือสีชมพูเท่านั้น เราเลยมองข้ามเรื่องเพศไปแล้ว เราใช้ความรู้สึกข้างในของคนมากกว่า เราเน้นการทำผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ไม่ได้เน้นเรื่องเพศ แต่มันทำให้เราชัดเจนขึ้น แบรนด์อื่นยังแบ่งเรื่องเพศชัดเจนอยู่ก็เลยทำให้พวกเขาเหมือนกันไปหมด พอเราทำแบบยูนิเซ็กซ์ กลายเป็นว่าเราเด่นขึ้นมาเพราะไม่มีใครทำ
 

พิจิตรา : อุปสรรคในการทำตลาดต่างประเทศมีอะไรอีกบ้าง
 

สุขจิต : ก็ยังเป็นเรื่องของแบรนด์ที่เราต้องสู้กับฝรั่ง สู้กับแบรนด์ใหญ่ๆ นานาชาติที่เขาชัดเจนและทุนหนากว่า ภาพลักษณ์ดูดีกว่า เรามองตรงนั้นมากกว่า แต่เรื่องมาตรการทางกฎหมายเราไม่ได้มองว่ามันสำคัญ เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยได้เยอะ คือแบรนด์น่ากลัวกว่าเยอะ เรื่องอื่นยังไม่เท่าไร ซึ่งกว่าจะทำให้แบรนด์แข็งแรงได้ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน อนาคตเรามองว่าอยากจะเป็นแบบ Gucci Dior แต่เป็นแบรนด์ของไทย ถ้ามองแบรนด์เหล่านั้นคือ เขาขายงานคราฟต์เป็นหลัก เราจึงพยายามทำให้คำว่าคราฟต์ของไทยยกระดับขึ้น เพราะเรามองแล้วว่าเราไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ เราอยากเป็นแบรนด์ที่ท้าทายตัวเราเอง ยกตัวอย่างการสร้างแบรนด์ของเรา ที่จริงเรามีโปรดักต์หลากหลายแต่เราต้องเลือกนำเสนอตัวเราเองกับลูกค้าว่าเราเด่นในเรื่องอะไร ถ้าดูห้องเสื้อใหญ่ๆ ทุกคนทำกระเป๋าหมด แต่ถ้านึกถึง Dior คนจะจำอย่างเดียวคือ เสื้อผ้า
 




พิจิตรา : ทุกวันนี้สินค้าไทยในมุมมองของคนต่างชาติเป็นอย่างไร ยังมีโอกาสแค่ไหนในตลาดโลก
 

สุขจิต : คนต่างประเทศเขาไม่ได้ดูถูกเรา แต่ไทยเป็นประเทศที่ดูถูกของไทยมากที่สุด ทำไมของไทยไม่มีคนซื้อกันเพราะคนไทยไม่ให้ความสนใจกับโปรดักต์ไทยเลย เวลาคนเสพชุดไทยก็เสพเพราะมีสื่อ มีละครพาไป แต่คนต่างชาติเขาเห็นงานแล้วเขามองที่โปรดักต์  เวลาเราไปออกงานแฟร์คนไทยเดินผ่านไม่ให้ความสนใจเลยว่าเป็นผ้าอะไร เห็นว่าเราใช้ฝ้ายเส้นใหญ่ไม่บางเหมือนเมืองนอก สีไม่แจ่ม ทำไมดูขรึมๆ เหมือนชาวนา นี่คือสิ่งที่เราเจอลูกค้าติมาตลอดเกือบ 30 ปี เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เจอลูกค้า 10 คน 9 คนเขาพูดแบบนั้น แต่ทุกวันนี้ลดลงแล้วอาจจะเหลือสัก 2 คน อย่างไรก็ยังคิดว่าโปรดักต์ของไทยขายต่างชาติได้ดีกว่าขายคนไทยแน่นอน





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน