ทำไมผู้ประกอบการไทยถึงต้องเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ไม่ใช่แค่เพียงการคุ้มครองผลงานการประดิษฐ์ คิดค้น หรือการสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการเองเท่านั้น แต่สำหรับในเวทีธุรกิจ นี่คือแต้มต่อสำคัญที่ SME จะใช้สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาดได้
“บทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่แค่การจับของปลอม หรือเอาผิดกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ แต่เราคือหน่วยงานที่บริหารจัดการระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด ตั้งแต่ส่งเสริมให้คนผลิตคิดค้นอะไรใหม่ๆ และนำเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปราบปรามการละเมิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) กระทรวงพาณิชย์ ทำความเข้าใจกับ SME ถึงบทบาทที่แท้จริงของกรมฯ โดย IP ที่ผู้ประกอบการคุ้นเคยกันอยู่บ้างก็เช่น สิทธิบัตร (Patent) อนุสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า (Trademark) ความลับทางการค้า (Trade Secret) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indications) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีคำขอจดเครื่องหมายการค้าสูงถึง 40,000-50,000 คำขอต่อปี สิทธิบัตรอยู่ที่ 8,000-9,000 คำขอต่อปี และอื่นๆ อีก 4,000-5,000 คำขอ
“วันนี้นโยบายของรัฐบาลคือ การไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 พอพูดถึงการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ก็มักมุ่งมาที่เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเราจะพูดเสมอว่า สินค้าที่ขายอยู่เดิมๆ อย่างสินค้าเกษตรหรือสินค้าอะไรก็ตามวันนี้มันขายไม่ได้แล้ว เพราะราคามันน้อย ฉะนั้นเราต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขายในราคาที่แพงขึ้น เพราะคนจะยอมจ่ายมากขึ้น ความท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้คนไทยคิดสร้างสรรค์ และผลิตสินค้าและบริการที่มีองค์ประกอบเหล่านี้สูงขึ้น แล้วผลักดันเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” เขาบอก
ทรัพย์สินทางปัญญาคือ แต้มต่อทางการค้าของ SME เขายกตัวอย่าง หากสามารถพัฒนาสิ่งใหม่เป็นครั้งแรกขึ้นมาได้แล้วมาจดสิทธิบัตรไว้ กฎหมายก็จะให้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวกับผู้คิดค้น นั่นหมายความว่า คนอื่นจะมาผลิตของแบบเดียวกันไม่ได้ตลอดระยะเวลาความคุ้มครอง เพราะฉะนั้นเราก็จะมีตลาดสำหรับสินค้าของเราเอง ก่อเกิดเป็นความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยที่ใครจะมาสู้ไม่ได้ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการส่งเสริม และให้ประโยชน์ตอบแทนกับคนคิด ไม่ใช่แค่งานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง แต่สามารถหารายได้จากความคิดนั้นด้วย ขณะที่กรมฯ เองยังมีฐานข้อมูลสิทธิบัตรของทั้งโลกให้ SME ได้มาศึกษา จะได้ไม่ต้องทำซ้ำให้เสียเงินเปล่า และคิดสิ่งใหม่ที่จะมีโอกาสในการขายได้อย่างแท้จริง
หรืออย่างสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ก็เป็น IP อีกประเภทหนึ่งที่เข้าถึงชุมชนได้ดี และเป็นระบบที่คุ้มครองชื่อเสียงของสินค้าที่มีภูมิศาสตร์ผูกติดอยู่ อย่าง ส้มบางมด และอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่น่าดีใจคือ พอขึ้นทะเบียน GI แล้วเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของชุมชนให้สูงขึ้น เป็นอีกตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มแต้มต่อของผู้ประกอบการได้
“ที่ผ่านมาเราได้จัดทำ IP โรดแมป 20 ปี เพราะต้องการให้เห็นว่าเป้าหมายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร ระหว่างทางก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยเราอยากให้คนไทยสนใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เป็นเจ้าของให้มากขึ้น จะเห็นว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรหลายอย่างมาก ทั้งเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม ทำเรื่องความคุ้มครอง การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ การบังคับใช้ เพื่อที่จะช่วย SME ได้อย่างครบวงจร ความฝันของผมคือ ระบบความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีมันต้องส่งเสริมนวัตกรรมด้วยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นเป้าหมายหลักของเราคือ จะต้องให้การจด IP ทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด นี่เป็นภารกิจสำคัญ”
และนั่นคือเป้าหมายที่การทำงานในวันนี้ยังคงไม่หยุดนิ่ง รวมถึงการพัฒนาบุคลากร โดยดึงคนเก่งคนดีเข้ามาทำงานกับพวกเขาให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจได้อย่างแท้จริง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี