trihub ขายความเชี่ยวชาญ กลยุทธ์สร้างชื่อร้านอุปกรณ์ไตรกีฬา





 
     “เคยคิดว่าว่าย ปั่น วิ่ง จะเป็นกีฬาที่ใช้แต่แรง แต่จริงๆ แล้วมีวิทยาศาสตร์การกีฬาที่อยู่เบื้องหลังไตรกีฬาเยอะมาก

     เช่น จะทำอย่างไรให้วิ่งเร็ว ปั่นแล้วให้ลงมาวิ่งต่อได้ดี 

     หรือ ว่ายน้ำอย่างไรให้ใช้แรงน้อย เพราะต้องเก็บแรงขามาไว้ใช้ปั่นกับวิ่ง

     ตลอดจนระหว่างทาง ต้องกินอะไร ดื่มน้ำกี่ลิตร เกลือแร่ เจล และรายละเอียดอีกมาก 

     ความยากเหล่านี้ที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของไตรกีฬา” 

 

     

     จากความหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ นำมาสู่ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไตรกีฬาที่ครบวงจรของ โบ๊ต-ศศิทัต กุลทรัพย์ตระกูล นักบินการบินไทยผู้ที่แบ่งเวลานอกเหนือจากการบิน มารับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี แอนด์ บี เอาท์ดอร์ สปอร์ต จำกัด และเจ้าของร้าน trihub 


     trihub เป็นร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไตรกีฬาที่มีอุปกรณ์ครบทุกความต้องการ โดยอุปกรณ์ที่นักไตรกีฬาใช้ จะมีความแตกต่างจากทั่วๆ ไป ซึ่งหากอุปกรณ์ดี ถือเป็นตัวช่วยทำให้สถิติดีขึ้นโดยไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม ยกตัวอย่างชุดที่ใส่ นักกีฬาต้องสวมชุดเดียวเล่นทั้ง 3 อย่าง แต่เนื้อผ้าไตรกีฬาถึงจะดีแค่ไหนก็ยังอุ้มน้ำอยู่บ้าง เมื่อว่ายน้ำจะรู้สึกได้ถึงความหน่วง ดังนั้น จึงมีการผลิตชุดผิวปลาฉลามให้มาสวมทับชุดไตรกีฬาเพื่อให้การว่ายน้ำเร็วขึ้น 2-3 นาที หรือรองเท้าปั่นจักรยานจะถูกออกแบบมาให้สวมใส่ง่ายเพื่อประหยัดเวลา รองเท้าวิ่งจะเป็นแบบไม่มีลิ้นรองเท้า และไม่มีเชือกใช้เป็นระบบล็อกแบบเร็ว เป็นต้น 



      

     ศศิทัต เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กีฬาชนิดนี้ยังไม่ได้รับความนิยม ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ จึงหายาก เมื่อนักบินอย่างเขามีโอกาสได้บินไปต่างประเทศบ่อยครั้ง จึงได้เห็นโมเดลร้านขายอุปกรณ์ไตรกีฬาและคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีร้านแบบนี้บ้าง เขาจึงเริ่มต้นธุรกิจโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายกระเป๋าไตรกีฬาแบรนด์ KITBRIX ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ก่อนจะขยายเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ดังอย่าง Zoot, ORCA, Aqua Sphere เป็นต้น
ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ ในทุกรายการแข่งขันไตรกีฬาจะได้เห็นบู๊ธของ บี แอนด์ บี เอาท์ดอร์ สปอร์ต ไปเปิดร้านขายอุปกรณ์ จนกระทั่งนักบินหนุ่มกล้าบอกว่า นักไตรกีฬาทั้ง 10,000 คน ต้องเคยเจอเขาสักงานหนึ่ง 




 
     “เขาเห็นเราบ่อยๆ รู้ว่าเราคือใคร ทำอะไร เขาก็จะรู้สึกว่าเราเชี่ยวชาญ รู้จริง และยังคงคาแร็กเตอร์ของไตรกีฬา ที่จริงการทำร้านไตรกีฬา น่ากังวลอย่างหนึ่งคือ อาจโดนกลืนไปกับกีฬาอื่นๆ ถ้าผมไม่โฟกัสตัวเองดีๆ ก็จะกลืนกลายเป็นร้านวิ่งหรือร้านจักรยาน แล้วในที่สุดก็จะแข่งขันกับร้านอื่นหรือห้างสรรพสินค้าไม่ได้ ดังนั้น รองเท้าวิ่งที่เอามาขายในร้านจะไปซื้อที่อื่นไม่ได้ ถึงหาได้ก็จะไม่รู้ว่าใส่คู่ไหนดีเพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ แต่ถ้ามาร้านเรา ไม่ว่าคุณจะวิ่งเป็นอย่างไร เรามีเครื่องวัดให้ และทีมงานในร้านเป็นนักกีฬาทุกคน ลูกค้าที่มาซื้อจะได้สินค้าถูกไซส์ ถูกรุ่น เราให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วย และสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอดคือ จะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกับเรา ซึ่งนั่นจะทำให้เขาอยู่กับเราไม่ไปที่อื่น”




 
     ที่ร้าน trihub มีการทำบัตรสมาชิกและสะสมคะแนนไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้า รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรทำกิจกรรมสอนนักไตรกีฬาหน้าใหม่ปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้คนที่อยากเล่นกีฬาชนิดนี้ได้เข้าใจ เรียนรู้เทคนิคการซ้อม การกินและเลือกอุปกรณ์ โดยมีโค้ชและนักโภชนาการมาให้คำแนะนำ ซึ่งเมื่อทำแบบนี้ลูกค้าจะมีความผูกพันกันแบบครอบครัวได้อย่างแท้จริง


     “ผมว่าถ้าทำอะไรแล้วได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก มันจะไม่เบื่อ ในเมื่อเราจะเล่นกีฬานี้ไปอีก 10 ปี มันก็คือการอยู่กับที่เรารักอยู่แล้วมันก็จะทำให้ความชอบของเราไม่หมดไป เราจะติดตามว่าอะไรออกใหม่ดีหรือไม่ดี และสามารถพูดกับลูกค้าได้เต็มปากว่าของที่เราเอามาขายนั้นดีเพราะตัวเราเองได้ลองใช้มันมาแล้ว”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน