​Digital Entrepreneurship พลิกธุรกิจ SME ด้วยวิถีดิจิทัล





 

     “อะไรก็เกิดขึ้นได้ในยุค Digital Disruption แม้แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ยังกลายเป็นยักษ์ล้ม การปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล หรือ Digital Entrepreneurship จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ SME ในโลกธุรกิจที่ปลาเร็ว พร้อมจะกินรวบทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่
               

แบบไหน? ถึงจะเป็น Digital Entrepreneurship
 

     ในมุมมองของ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกไว้ว่าการจะปรับเปลี่ยนตัวเองมาสู่ Digital Entrepreneurship ต้องมี 5 คุณลักษณะสำคัญ ได้แก่    


     1. มีความเป็นนักเล่าเรื่อง หรือ Storyteller เพราะการเป็นผู้ประกอบการต้องใช้ทรัพยากร ใช้เงินทุนจากภายนอก ความสามารถในการสื่อสารด้วยการเล่าเรื่องจึงสำคัญมาก คนทำธุรกิจต้องรู้จักขายไอเดียให้เป็น เล่าเรื่องให้คนเข้าใจ นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาและโซลูชันที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น


     2. มีทักษะความรู้พื้นฐานดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเทคโนโลยี แต่ต้องเก่งในบางเทคโนโลยีที่จำเป็น  เช่น  Facebook Marketing การทำ SEO (Search Engine Optimization) ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital Ecosystem ที่ผสานเชื่อมต่อกันได้


     3. ต้องมี Experimental Mindset เป็นนักลองถูกลองผิด เพราะโลกยุคดิจิทัลหมุนไปอย่างรวดเร็ว อย่ามัวแต่เป็นนักคิดนักวางแผน อย่ารอความสมบูรณ์แบบ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด ทดลองทำออกมาก่อน เวิร์กไม่เวิร์กค่อยแก้ไข ยิ่งผิดเร็ว ยิ่งปรับตัวไว


     4. มีความสามารถในการจัดการเรื่องเงิน วางแผนการใช้เงินลงทุนอย่างชาญฉลาด เพราะการทำธุรกิจสมัยใหม่ Asset หรือสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของธุรกิจ ไม่ใช่สินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset) อย่างที่ดินหรืออาคาร หากแต่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่อยู่บนหน้างบการเงิน (Off Balance Sheet Asset) เช่น ฐานผู้ใช้งานทั่วโลกที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นรายได้ สร้างธุรกิจมูลค่ามหาศาลให้กับ Facebook


     5. ทำธุรกิจที่มุ่งสร้าง Better Life...Better Society กำไรที่เป็นตัวเงินอาจไม่ใช่คำตอบเดียวในการทำธุรกิจ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ถามตัวเองในทุกวันที่ตื่นมาว่า ธุรกิจของคุณจะช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง ทำธุรกิจดี สังคมดี เมื่อนั้นรายได้จะตามมา
 




ถอดบทเรียน
SME สู่ผู้ประกอบการดิจิทัล
              

     ไผท ผดุงถิ่น วิศวกรบริษัทรับเหมา ผู้ก่อตั้ว Builk แพลตฟอร์มยกระดับวงการก่อสร้าง เป็นกรณีศึกษาของผู้ประกอบการที่น่าสนใจในการปรับตัวด้วยวิถี Digital Entrepreneurship จากธุรกิจอิฐหินปูนทรายสุดแสนโลว์เทค ซึ่งดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้เลยกับดิจิทัล
               

     จุดเริ่มต้นของ Builk เกิดขึ้นมาจากความต้องการการแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในวงการก่อสร้าง โดยดึงเพื่อนๆ ที่มีความรู้ไอทีมาช่วยเขียนซอฟต์แวร์ เพราะไผทได้พูดไว้อย่างชัดเจนว่า “ผมเริ่มต้นธุรกิจโดยที่เขียนโปรแกรมเองไม่เป็น เงินก็ไม่ค่อยมี ต้นทุนเดียวที่ผมมี คือ ประสบการณ์ในธุรกิจก่อสร้าง เคยเจ๊งและเจ็บจริงด้วยตัวเองมาก่อน”
               

     ตลอด 8 ปีของการทำธุรกิจ Builk คำตอบของการอยู่รอดที่ไผทค้นพบ คือ การไม่หยุดนิ่งกับ Business Model เดิมๆ  ดังนั้น Builk จึงไม่ได้เป็นแค่ซอฟต์แวร์ควบคุมต้นทุนก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังแตกตัวไปสู่โมเดลการเป็นแพลตฟอร์ม หรือนั่งร้านเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในวงการก่อสร้างไปได้ไกลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เกิดเป็น Workflow-Integrated Marketplace เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รับเหมา รวมถึงเจ้าของโครงการ ผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ B2B สำหรับธุรกิจก่อสร้างยุคดิจิทัล
 

Disrupt or Die
               

     ตัวอย่างการปรับตัวของ Claim Di (เคลมดิ) บริษัทขายซอฟต์แวร์เล็กๆ ที่เริ่มต้นจากการใช้เทคโนโลยีออนไลน์มา Disrupt ธุรกิจด้าน Emergency เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำได้เร็วขึ้น เป็นกรณีศึกษาของการปรับไปสู่การเป็น  Digital Entrepreneurship ที่น่าสนใจเช่นกัน
               



 
     กิตตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Claim Di เล่าถึงการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ Disrupt ตัวเองมาเรื่อยๆ จากการขายซอฟต์แวร์ มาเป็นการเปิดให้ลูกค้าใช้งานฟรี พร้อมกับผันตัวเองมาสู่การเป็นผู้ให้บริการ Outsource ทั้งด้านการสำรวจภัย และ Call Center ให้กับลูกค้าบริษัทประกันภัย
               

     “โจทย์ของคนทำธุรกิจจึงต้องคิดว่า ในแต่ละสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะ Disrupt ตัวเองให้อยู่รอดและเติบโตได้อย่างไร”
       


        

     ในมุมมองของกิตตินันท์ การมีประสบการณ์ที่เคยรู้เรื่องนั้นมาจริงๆ หรือ Domain Expert เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี เพราะปัญหา หรือ Pain Point ของผู้ใช้กับผู้ให้บริการเป็นประสบการณ์คนละมุมกัน คนทำธุรกิจจึงต้องมีความเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง เปรียบเหมือนกับประสบการณ์ความเจ็บปวดจากนรก ถ้าเราไม่เคยตกนรก และไม่เคยลุกขึ้นจากนรกมาได้ จะไปเขียนไบเบิลให้คนอื่นเข้าใจและเชื่อได้อย่างไร
               

     นอกจากนี้ คุณสมบัติเหนืออื่นใดที่ผู้ประกอบการต้องมีคือ พลังใจที่ทำให้อยากตื่นมาทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ นอกเหนือจากรายได้คือ การทำธุรกิจเพื่อช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น
               

     ทั้งหมดนี้คือ ทักษะ Digital Entrepreneurship ที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่มีไม่ได้ ในวันที่เกมธุรกิจพร้อมจะเปลี่ยนทิศทางลมได้ทุกเมื่อ    



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี   
    

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน