ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2450 ยูพีเอส (UPS) เป็นเพียงแค่บริษัทเล็กๆ ที่ให้บริการรับ-ส่งเอกสาร ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ก่อนจะผันตัวเองตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก เริ่มต้นจากให้บริการรับ-ส่งเอกสาร ขยับขยายมาสู่การส่งพัสดุ จนมาเป็นการจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่ จากการบริการเฉพาะบุคคลก็ขยายมาเป็นธุรกิจ B2B (Business-to-Business) เรียกได้ว่าโมเดลธุรกิจของยูพีเอสผันเปลี่ยนตามความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมองค์กรที่ว่ายูพีเอสจะไม่หยุดนิ่ง และจะมุ่งมั่นมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลกอยู่เสมอ
อี-คอมเมิร์ซ โอกาส และอนาคตใหม่ของยูพีเอส
ปัจจุบันการค้าโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือการเติบโตขึ้นของตลาดอี-คอมเมิร์ซ โดยในปีที่แล้วมูลค่าการซื้อ-ขายออนไลน์ในอาเซียนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์กันว่าภายในปี พ.ศ.2568 มูลค่านี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 88,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกันการค้าออนไลน์ก็ยังได้เปิดทางให้กับผู้เล่นรายเล็กๆ อย่าง SME ได้ขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
“นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับยูพีเอสด้วยเช่นกัน ความที่เราเติบโตมาจากธุรกิจเล็กๆ มาก่อน ความเข้าใจในความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อย จะทำให้ยูพีเอสสามารถพัฒนาการบริการ หรือโปรดักต์ใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ธุรกิจSME ได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกัน” ชิกะ อิมาคิตะ (Chika Imakita) ผู้อำนวยการด้านการตลาดในภูมิภาคเอเชียใต้ของยูพีเอส ชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่อันเป็นอนาคตร่วมกันระหว่างยูพีเอส และ SME
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่ดี ยิ่งมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทำให้เกิดมีจุดเชื่อมต่อทั้งทางบกสำหรับรถยนต์วิ่งและทางรถไฟไปยังประเทศใกล้เคียง การขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ไม่ว่าจะเป็นทางตะวันตก หรือตะวันออก จึงเป็นเรื่องง่าย ซึ่งนั่นหมายถึงนอกจากภายในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังมีโอกาสทางการค้าที่ขยายไปทั่วทั้งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการค้ากับญี่ปุ่น จีน หรืออินเดีย
3 แนวทางหนุน SME โตไปด้วยกัน
ธุรกิจ SME ถือว่ามีความสำคัญกับการเติบโตของยูพีเอสมาก ซึ่งโดยปกติแล้วเรื่องของโลจิสติกส์มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของต้นทุน แต่ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME มีพาร์ตเนอร์ที่ดี ก็จะทำให้การขนส่งสร้างกำไรขึ้นมาได้เช่นกัน แผนการเติบโตของยูพีเอสนับจากนี้ไป จึงเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของ SME โดยมีเป้าหมายให้โลจิสติกส์ หรือการขนส่ง เป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้ประกอบการต้องมาพะวงถึง และเพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME เติบโตไปด้วยกัน ยูพีเอสจึงวางกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 3 แนวทางด้วยกัน
แนวทางแรก คือ การช่วยให้ SME บริหารจัดการคลังสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยการบริการที่เรียกว่า Worldwide Express Saver ช่วยระบุสถานะ และเวลาการจัดส่งสินค้า และ WorldShip ซึ่งเป็นโปรแกรมการจัดเตรียมข้อมูลการขนส่ง ช่วยให้ SME บริหารจัดการเวลาในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น สินค้าถึงมือผู้รับรวดเร็วตามกำหนด ทำให้มีกระแสเงินสดไหลเวียนกลับมาในธุรกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องกระแสเงินสดนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SME เติบโตได้อย่างยากลำบาก
แนวทางที่ 2 ช่วยให้การค้าข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับ SME ด้วยบริการที่เรียกว่า TradeAbility เนื่องจากสิ่งสำคัญที่สุดในการขนส่งสินค้าข้ามแดน คือ ขั้นตอนพิธีศุลกากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใบอนุญาต หรือภาษีอากรที่ต้องจ่าย และอีกหลายขั้นตอน การจะทำให้สินค้าออกจากศุลกากรไปถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุด จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ TradeAbility ยังให้บริการในการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ซึ่งสามารถดูได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าอากร หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจนสินค้าไปถึงปลายทาง ทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดได้แม่นยำขึ้น ซึ่งก็จะบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความผิดพลาดในการคำนวณต้นทุน-กำไร
แนวทางที่ 3 ช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ SME ด้วยการเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าของธุรกิจ SME ด้วยบริการที่เรียกว่า My Choice ซึ่งเป็นโปรแกรมการจัดการการส่งสินค้าให้ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้รับและผู้ส่ง ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นเรื่องง่าย และสะดวกกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของผู้ประกอบการ SME เองการได้สร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า นอกจากจะช่วยลดปัญหาการคืนสินค้าจากลูกค้าแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสการซื้อซ้ำได้อีกด้วย
“นอกเหนือจากการบริการทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้แล้ว เรายังมีโปรดักต์ และการบริการอีกมากที่ออกมารองรับการขยายตัวของธุรกิจ SME โดยเน้นให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่เจาะตรงเฉพาะธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากแต่ละประเภทธุรกิจย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกันไป เช่น ลูกค้ากลุ่มเฮลท์แคร์ ก็จะต่างกับลูกค้ากลุ่มไฮเทค หรือพวกเทคโนโลยี หรือร้านค้าปลีกอีกด้วย”
เทคโนโลยี+โครงสร้างพื้นฐาน 2 ปัจจัยเอื้อธุรกิจโลจิสติกส์
ชิกะกล่าวว่า การค้าทั่วโลกมีความผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีโซลูชันมารองรับยูพีเอสให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในแต่ละประเทศที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือ การสนับสนุนการค้าเสรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจที่ต้องการขยาย หรือต้องการทำธุรกิจข้ามพรมแดน
“สิ่งแรกที่เราทำคือ การลงทุนในด้านเทคโนโลยีทั่วโลก ต่อปีเราใช้งบประมาณมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี เพื่อช่วยรองรับการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพื่อขยายการบริการออกไปให้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับประเทศไทยเป็นการครอบคลุมการขนส่งให้หลายๆ จังหวัดกว่า 140 เขต ใน13 เมืองหลัก อย่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา และจังหวัด EEC (โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ไปยังจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภายในเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา และขยายเวลาในการรับสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 7 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อรองรับธุรกิจค้าปลีกและเทคโนโลยี ซึ่งเรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการทั้งหลายรองรับภาคธุรกิจได้มากขึ้น”
ภาพรวมของเทคโนโลยีที่ยูพีเอสลงทุนจะเป็นโซลูชันด้านข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่จะทำให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะของสินค้าได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการลำดับการทำงานของธุรกิจได้ดี และด้วยความที่ยูพีเอสเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายทั่วโลก
ดังนั้น การลงทุนในประเทศหนึ่งจึงส่งผลต่ออีกหลายประเทศบนโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน และนี่คือความเหนือชั้นที่มีของยูพีเอสในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี