​Back to the origin ฟื้นชีวิตฝ้ายไทยริมฝั่งโขงด้วยนวัตกรรม







     จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าริมฝั่งโขงแถบจังหวัดอุบลราชธานี คือ แหล่งปลูกฝ้ายชั้นดี ทว่าปัจจุบันอาณาจักรฝ้ายแห่งนี้กำลังถูกลดพื้นที่ลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีตลาด เช่นเดียวกับภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการเข็นฝ้ายโดยใช้มือปั่นและรีดออกมาให้ได้เส้นใยธรรมชาติก็กำลังถูกลืมเลือนเช่นกัน และอาจจะหมดไปในวันหนึ่ง
               

     นิตยา โชติชัยชรินทร์ คือ ทายาทผู้รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว บริษัท โกลเด้น คีริน จำกัด โรงงานผลิตผ้าสำหรับเด็ก เช่น ผ้าสาลู ผ้าขนหนู ผ้าห่อตัวเด็ก ภายใต้แบรนด์มิมิเบบี้ เธอคือหนึ่งคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาตลอดชีวิต และผูกพันกับโลกของฝ้ายไทย จึงถักทอธุรกิจผ้าพันคอแบรนด์ Back to the origin ขึ้น เพื่อหวังคืนชีวิตให้กับฝ้ายไทยริมฝั่งโขง
     
     
   

     “ริมแม่น้ำโขงมีแร่ธาตุธรรมชาติ เมื่อน้ำลดชาวบ้านจะมาปลูกฝ้ายโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นฝ้ายออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงเก็บมาปั่น รีดให้เป็นเส้นและทอด้วยมือ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกฝ้ายลดลงเพราะชาวบ้านหันไปปลูกอย่างอื่นที่ได้เงินเร็วกว่าแทน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้และกลับมาปลูกฝ้ายอีกครั้ง เพื่อรักษาภูมิปัญญาของคนไทยไว้ แรกๆ ใช้วิธีรับซื้อผ้าของชาวบ้านมาขายแต่สุดท้ายมองว่าแค่นั้นไม่ยั่งยืนและเห็นผลช้า ครั้นจะลงไปสู้กับสินค้าโอท็อปก็ไม่ได้อีกเพราะเราเป็นผู้ประกอบการเอกชนธรรมดา จึงเปลี่ยนมาทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการย้อมผ้าสีธรรมชาติที่ถ่ายทอดมาจากผู้เฒ่าในท้องถิ่น แล้วโปรโมตออกไปให้คนรู้จักว่าที่ทุ่งนาเมือง โขงเจียม มีดีเรื่องฝ้ายและการย้อมผ้า ให้คนหันมารู้จักพวกเขามากขึ้น และรู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศเรา”
               




     ผลิตภัณฑ์ของ Back to the origin มาจากฝ้ายออร์แกนิกและใช้วิธีย้อมโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น สีชมพูได้มาจากเปลือกไม้ประดู่ สีเขียวจากใบหูกวาง และสีเทาจากใบบัวบก เป็นต้น
ด้วยแต้มต่อของการเป็นผู้ผลิตสิ่งทออยู่แล้ว เธอจึงได้รู้จักกับนวัตกรรมเส้นใยฟิลาเจน (Filagen Fiber) เส้นด้ายที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนที่สกัดจากปลามิลค์ (Milk Fish) ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นผ้าคอลลาเจนที่มีคุณสมบัติกักเก็บความชุ่มชื้น ป้องกันรังสียูวีได้ และสวมใส่สบาย จึงนำมาพัฒนาใช้กับธุรกิจและเนรมิตความแตกต่างให้กับ Back to the origin จากเดิมผ้าพันคอฝ้ายขายในราคา 390 บาท แต่ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมใหม่ผ้าพันคอคอลลาเจนขายได้ในราคา 1,200 บาท และยังขายดีขึ้นกว่าเดิมมากด้วย
               

     “เรานำนวัตกรรมผ้าคอลลาเจนจากไต้หวันเข้ามาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว ก่อนจะมาถึงตรงนี้ก็ได้ร่วมพัฒนากับสถาบันสิ่งทอ เราเรียนรู้จากธุรกิจหลักว่าต้องปรับเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพราะถ้ายังสู้ในตลาดล่างก็ต้องแข่งกับสินค้าจากจีนที่เข้ามาเยอะและเขาเก่งมาก วงการสิ่งทอชอบซื้อสินค้าจากจีนเพราะง่ายและถูก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัว ที่จริงแล้วสินค้าของไทยเราไม่แพ้ชาติอื่นถ้าเทียบกันเรื่องราคาและคุณภาพ สินค้าจีนความคงทนปลอดภัยยังด้อยกว่าของไทยเรามาก นี่คือจุดแข็งของเรา”



     

     นอกจากผ้าพันคอคอลลาเจน เธอมีแผนจะทำชุดเครื่องนอนสำหรับผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานอนและอยู่กับเตียงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโรคได้อีกด้วย
               

     “จุดหมายปลายทางเรามุ่งหวังว่าจะทำให้ทุ่งนาเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง พัฒนาการท่องเที่ยวและเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับฝ้าย สุดท้ายแล้วที่อยากได้คือ ทำให้มีโรงเรียนการเข็นฝ้ายเกิดขึ้นที่นี่ เพื่อให้เด็กในชุมชนมีรายได้และแก้ปัญหายาเสพติดไปได้ในคราวเดียวกัน” 
    

           

     ไม่เพียงแค่การพัฒนาชุมชนบ้านทุ่งนาเมืองเท่านั้น นิตยายังเปิดรับความร่วมมือกับวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อนำนวัตกรรมสิ่งทอนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติมในชุมชนต่างๆ เช่น จังหวัดตรัง ที่มีกระบวนการพิมพ์ลายผ้าด้วยการจุ่มเทียนแล้วนำไปย้อมคล้ายผ้าบาติก เป็นต้น


     “เราเกิดมากับสิ่งทอที่คุณพ่อทำมาตั้งแต่ต้น จึงอยากจะทำดีคืนกลับไปสู่ชุมชนด้วย จุดเริ่มต้นของแบรนด์ไม่ได้เกิดมาจากธุรกิจเพราะธุรกิจหลักของเราคือ สินค้าเด็กซึ่งทำเงินได้เยอะอยู่แล้ว งานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยากทำเพื่อสังคมแล้วมันก็โตเกินคาด ที่ผ่านมาเราไม่ได้คาดหวังอะไรเพราะถูกสอนมาว่าการทำความดีไม่ต้องเร่ง แค่ทำไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดหมายเอง”






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน