​O-SPA พา “สบู่ไทย” ไปดังตลาดนอก!

Text : sir.nim
Photo : Pae Yodsurang

 


 

Main Idea
 
  • กว่า 9 ปีที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว่า 17 ประเทศทั่วโลก สำหรับ “O-SPA” แบรนด์สบู่ออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์สกินแคร์พรีเมียมของไทยสำหรับคนผิวแพ้ง่าย เมื่อมีความพร้อม จึงอยากกลับมาสร้างแบรนด์ในบ้านเกิดให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น
 
  •  โดยกว่าจะผลิตสินค้าออกมาในแต่ละชิ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ต้องแตกต่าง 2.ต้องดีกว่า 3.ต้องภูมิใจ




     ในบรรดาสินค้ากลุ่มสกินแคร์ที่มีอยู่ในเมืองไทย หากเอ่ยถึงชื่อ ‘O-SPA’ อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ แต่สำหรับในตลาดต่างประเทศแล้ว O-SPA คือ แบรนด์สบู่ออร์แกนิกและสกินแคร์ของไทย ที่มียอดการส่งออกสูงกว่า 17 ประเทศทั่วโลก และสร้างแบรนด์มายาวนานกว่า 9 ปี อะไร คือ ช่องว่างทำให้แบรนด์ไทยแบรนด์นี้สามารถเติบโตแข่งขันในตลาดโลกได้ ไปดูคำตอบพร้อมๆ กัน
 

     “ต้องบอกก่อนว่าตั้งแต่เริ่มต้นเราตั้งใจออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อไปขายยังตลาดต่างประเทศเลย เพื่อแข่งกับแบรนด์จากยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ที่ค่อนข้างจะดังและแข็งแรงในกลุ่มสินค้าสกินแคร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เพราะอยากให้ต่างชาติได้เห็นว่าเมืองไทยเองก็สามารถผลิตสินค้าดี มีมาตรฐานระดับโลกขายได้เหมือนกัน โดยเราพยายามเน้นเรื่องคุณภาพและมองหาช่องว่างทางตลาด โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของแบรนด์สกินแคร์ที่มี แม้เป็นแบรนด์ดังๆ ก็ยังคงใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่การันตีว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทั้งหมด เราจึงพยายามพัฒนาตรงนี้ขึ้นมาเพื่อไปแข่งขันในตลาดโลก” กชกร เตชะพูลผล ผู้ริเริ่มก่อตั้งแบรนด์ เล่าถึงวัตถุประสงค์ที่มาให้ฟัง
 

       
       
      โดยเล่าว่าก่อนหน้าที่จะมาทำสบู่พรีเมียมส่งออกนี้ ตัวเองประสบปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้เป็นคนผิวแพ้ง่ายมาก่อน จากผลิตภัณฑ์ที่เคยใช้ได้ ก็กลับใช้ไม่ได้แม้เป็นสินค้ามาจากแบรนด์ดังก็ตาม จึงคิดอยากผลิตสินค้าสกินแคร์จากธรรมชาติที่ปลอดภัยขึ้นมาใช้ ภายใต้ไทยแลนด์แบรนด์ที่ชื่อว่า ‘O-SPA’
               
 
     “เริ่มต้นเราไม่ได้มีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำสบู่เลย แต่บังเอิญมีญาติเป็นเจ้าของโรงงาน เลยช่วยกันคิดวางคอนเซปต์และให้เขาผลิตให้ ซึ่งต้องบอกว่าโชคดีที่เราเรียนเมืองนอก ทำให้มีประสบการณ์ได้เห็นได้ทดลองใช้สินค้าดีๆ ของต่างประเทศมากมาย จึงทำให้รู้ว่ามาตรฐานสินค้าที่จะไปแข่งขันอยู่ในตลาดโลกได้ต้องเป็นยังไง เขาต้องการอะไร ขาดอะไร และบังเอิญก็เรียนมาด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่น่าจะลองทำ เพราะตั้งแต่เด็กๆ เราเคยมีความใฝ่ฝันว่าอยากทำสินค้าไทยไปขายเมืองนอก เอาเงินจากเมืองนอกเข้ามา”
               
 



     โดยสบู่ทุกตัวของ O-SPA เป็นสบู่ Hand craft ซึ่งผลิตจากส่วนผสมชั้นดีจากแหล่งวัตถุดิบต่างๆ ของโลก ให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ขึ้นรูป ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นให้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายสามารถใช้ได้ ไม่ต้องกังวลการระคายเคืองจากสารเคมี
               
 
     “ผลิตภัณฑ์ของเราทุกตัวที่ทำออกมาจะมีการทดสอบทำ skin test ด้วย ซึ่งผลที่ได้ออกมาทุกตัวไม่มีตัวไหนต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลย บางตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ ไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิวเลย ไม่เฉพาะแต่ตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น วัสดุที่นำมาใช้ต่างๆ เช่นกระดาษหีบห่อก็ต้องมีใบรับรองความปลอดภัย (certificate) ด้วย เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานระดับโลกที่วางไว้”





     ทั้งนี้ทั้งนั้น กว่าจะผลิตออกมาเป็นสินค้าได้แต่ละชิ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น กชกรกล่าวว่าสินค้าจากแบรนด์ O-SPA ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ต้องแตกต่าง 2.ต้องดีกว่า 3.ต้องภูมิใจ
 
 
     “เราตั้งปณิธานไว้เลยว่า ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 คำนี้ คือ แตกต่าง ดีกว่า ภูมิใจ เราจะไม่ผลิตสินค้าชิ้นนั้นออกมาขาย เพราะเราต้องการขายสินค้าที่แม้แต่พ่อแม่หรือลูกของเราก็ใช้ได้ จุดเด่นของแบรนด์ O-SPA คือ ต้องบอกว่าเราเป็นแบรนด์ที่จริงจังและให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้ามาก กว่าจะได้สินค้าออกมาแต่ละชิ้นตั้งแต่เริ่มต้นทำแบรนด์แล้ว เราใช้เวลาทดลองผลิตและพัฒนาสินค้าค่อนข้างนานเลยกว่าจะทำออกมาขาย อย่างสบู่ก้อนแรกที่ทำออกมา คือ สบู่ข้าว เราใช้การพัฒนาประมาณ 2 ปี คือ ผลิตออกมาเทสต์ เทสต์จนผ่าน แต่ใช้แล้วยังไม่โอเค ก็ปรับใหม่ เราลองผลิตออกมาถึง 6 เวอร์ชั่น จึงจะได้ขายจริง แต่ครั้งแรกที่ทำออกมาก็สามารถเข้าขายในห้างที่สิงคโปร์ได้เลย หลังจากเราเปิดตัวสบู่ออกไปได้ไม่นาน ก็มีลูกค้ารีแควสเข้ามาว่าอยากให้ช่วยผลิตครีมและสินค้าสำหรับเด็กให้ด้วย เราก็ลองผลิตให้ จากตอนแรกคิดว่าจะทำแค่เป็นไลน์เสริมให้เฉพาะที่สิงคโปร์ ปรากฏว่าลูกค้าจากประเทศอื่นๆ ก็ต้องการด้วย จึงแตกไลน์เป็นกลุ่มสินค้าอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา และปัจจุบันมีเพิ่มเติมในส่วนของสกินแคร์ที่ดีต่อผิวสำหรับคนวัยหกสิบปีขึ้นไปด้วย”
 



 
     ส่วนที่มาของชื่อ O-SAP นั้นมาจากคำว่า Soap โดยมีการดึงตัว O ออกมาไว้ข้างหน้า เพื่อสื่อให้เห็นว่า แม้เป็นสินค้าที่เรียบง่ายอย่างสบู่ ก็สามารถใส่ความเป็นสปา ช่วยบำรุงผิวพรรณ สร้างกลิ่นหอมอโรม่าบำบัดร่างกายจากภายในสู่ภายนอกได้เช่นกัน โดยไม่ต้องจ่ายเงินแพงๆ เข้าสปา แค่อาบน้ำอยู่บ้านก็ได้รับความสดชื่นง่ายๆ เหมือนกัน
 
 
     นอกจากความตั้งใจจริงในการผลิตสินค้าคุณภาพออกสู่ตลาดแล้ว กชกรกล่าวว่าอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเหมือนปัจจัยสำคัญในการแข่งขันที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ ก็คือ ความได้เปรียบทางด้านแรงงานฝีมือคุณภาพที่มีต้นทุนราคาถูกกว่าในบ้านเรานั่นเอง
 



 
     “ต้องบอกว่าในเมืองไทยเรามีผู้ผลิตสกินแคร์เก่งๆ เยอะ เพียงแต่เราสร้างแบรนด์กันไม่เป็น ในส่วนของ O-SPA สิ่งที่ทำให้เราสามารถแข่งขันกับแบรนด์ดังในตลาดต่างประเทศได้ เรามองว่าข้อดี คือ ต้นทุนค่าแรงในบ้านเราที่มีราคาถูกเมืองนอก เราจึงสามารถทำสินค้าได้ในราคาต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น ในคุณภาพที่เหนือกว่า สิ่งนี้จึงทำให้เขาตัดสินใจได้ไม่ยากเลยที่จะเลือกเรา มีหลายครั้งเหมือนกันเวลาไปออกงานเมืองนอกแล้วต้องน้อยใจ เพราะเขาไม่คิดว่าเราเป็นสินค้ามาจากเมืองไทย ไม่คิดว่าสินค้าจากบ้านเราจะทำได้ขนาดนี้ แต่ส่วนหนึ่งก็แอบดีใจที่เขาเลือกเรานะ ทั้งที่จริงเขาสามารถเลือกนำเข้าสินค้าจากแบรนด์ดังต่างๆ ทั่วโลกได้เลย แต่เขาก็เลือกเรา มีหลายเจ้าเลยในตลาดโลกที่มีเราเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกของเขา เหมือนเราได้เป็นตัวแทนช่วยเปิดใจให้เขาได้รู้จักสินค้าไทยมากขึ้นด้วย แต่สิ่งที่ยากสำหรับเราตอนนี้ คือ ตลาดในเมืองไทยเอง O-SPA เราเติบโตมากว่า 17 ประเทศทั่วโลกแล้ว แต่ในเมืองไทยเองคนยังรู้จักเราน้อย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้ลองใช้แล้วติดใจ ก็เลยใช้ต่อมา ในปีนี้เราจึงวางแผนทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น เพราะอยากให้คนไทยได้ทดลองใช้สินค้าดีๆ ที่ผลิตขึ้นเองโดยคนไทย ซึ่งคุณภาพไม่แพ้แบรนด์นอกที่เข้ามาในบ้านเราเลย แต่ถ้าเทียบราคากันแล้ว เราถูกกว่ามาก และเป็นอีกหนึ่งสินค้าไทย ที่คนไทยควรภูมิใจ”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน