เมื่อผู้บริโภคอย่างกลุ่มคนพิการ หรือผู้ป่วยที่เดินเหินไม่สะดวก เป็นอีกกลุ่มที่สังคมไม่ควรมองข้าม บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีนวัตกรรม จึงทำการคิดค้น Standing Wheelchair หรือ วีลแชร์แบบปรับยืนได้ เข้ามาตอบโจทย์และอุดช่องวางให้กับตลาดนี้ได้อย่างตรงจุด
กว่า 5 ปี ของการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด บอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำอุปกรณ์ตัวนี้นั้นมาจากการตั้งโจทย์ที่แตกต่างที่ว่า ทำไมวีลแชร์ถึงยืนไม่ได้ เพราะที่เห็นอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปจะเป็นวีลแชร์ที่เป็นแบบนั่งเท่านั้น เลยนำมาสู่การปรับปรุงพัฒนาและศึกษาว่าจะทำยังไงให้วีลแชร์ตัวหนึ่งที่เป็นวีลแชร์ปกติสามารถยืนได้
“Standing Wheelchair นั้นเป็นรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้ ซึ่งมีข้อพิเศษคือสามารถปรับจากท่านั่งที่เป็นรถเข็นหรือวีลแชร์แบบธรรมดามาเป็นท่ายืนได้โดยตัวคนพิการเองและไม่ต้องใช้ไฟฟ้า นอกจากจะตอบสนองความต้องการของผู้พิการอย่างคนที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง อัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไขสันหลังอักเสบและเป็นโรคทางระบบประสาทแล้ว อุปกรณ์ประเภทนี้ยังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้อีกด้วย”
โดยวีลแชร์ปรับยืนได้นี้ได้รับการออกแบบทางกลไกสำหรับช่วยผ่อนแรงในการยกซึ่งใช้กระบอกแก๊สสปริงในการเสริมแรงและช่วยในการยืนของผู้ใช้ สำหรับผู้ป่วยที่แขนมีแรงทั้ง 2 ข้างสามารถใช้แรงแขนยกตัวขึ้นเองได้ หรือถ้าเป็นผู้ป่วยอัมพาตระดับสูงที่ไม่สามารถควบคุมแขนได้ก็สามารถยืนได้โดยมีผู้ช่วย ซึ่งมุมการยืนที่ตั้งขึ้นมาจะอยู่ที่ 80 องศาและสามารถรองรับน้ำหนักผู้ใช้ที่ 50 – 90 กิโลกรัม
“การมีอุปกรณ์แบบนี้เข้ามาเสริมในตลาดนอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคแล้ว ที่สำคัญยังทำให้ผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะการยืนถือเป็นการกายภาพบำบัดอย่างหนึ่ง ช่วยลดและป้องกันการเกิดแผลกดทับจากการนั่งนานๆ ลดปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมากขึ้น ป้องกันโรคกระดูกพรุน และช่วยให้ระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น รวมไปถึงช่วยให้ผู้ใช้มีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
นอกจากจะเป็นตัวช่วยที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้แล้ว วีลแชร์ปรับยืนได้ยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น ทำกับข้าว หยิบของจากตู้เย็นหรือชั้นวางในร้านค้า ทำงานได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ยืนกดเอทีเอ็ม ยืนซื้อข้าวแกง เป็นต้น
“เราเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมนี้ หากเทียบกับต่างประเทศโปรดักต์ของเรานั้นได้เปรียบตรงที่มีน้ำหนักเบากว่าซึ่งอยู่ที่ 21 กิโลกรัม ถือว่ามีน้ำหนักน้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอันดับ 1 ที่หนัก 11 กิโลกรัม ในขณะที่สินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายในบ้านเรานั้นจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากอยู่ที่ 90 – 150 กิโลกรัมขึ้นไปเพราะเขาใช้ระบบไฟฟ้าเนื่องจากระบบสังคมบ้านเขาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่คนเดียว แต่ของเรานั้นเป็นระบบ Manual ที่ยืนได้ง่าย ยืนได้เร็วและยืนได้ด้วยตัวของผู้ใช้เองหรืออาจมีคนในบ้าน ในครอบครัวเป็นผู้ช่วยในการปรับยืน”
แม้จะมีข้อจำกัดอยู่ที่ผู้ใช้ต้องเป็นผู้ที่มีขาทั้ง 2 ขาแบบสมบูรณ์แต่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึก ธีรพงศ์ บอกว่า ตลาดผู้ใช้วีลแชร์ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีเกือบประมาณ 2 ล้านคนและมีความต้องการอุปกรณ์ที่จะเข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเขานั้นดีขึ้น
“นอกจากวีลแชร์แบบปรับยืนได้ในปัจจุบันที่มีความเหมาะสมกับสรีระของผู้ใหญ่แล้วนั้น เรายังมองไปถึงการออกแบบให้เหมาะกับผู้ใช้ที่เป็นเด็กอีกด้วยเนื่องจากความแตกต่างทางด้านร่างกายที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้นการคำนึงถึงจุดล็อกตัวเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเคสของเด็กส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิการทางสมอง ถ้าเกิดเอาวีลแชร์ปรับยืนไปใช้แล้วเราไม่มีการล็อกให้ดีอาจทำให้ลำตัวของเด็กบิดหรือเสียรูปได้ เช่น กระดูกสันหลังโก่งขดงอ ดังนั้น การที่จะทำอุปกรณ์ออกมาตอบโจทย์กลุ่มผู้พิการเด็กหรือผู้ป่วยเด็กนั้นต้องดีไซน์ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี