หากพูดถึง “ถั่วเขียว” หลายคนอาจจะนึกถึงการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร แต่วันนี้แบรนด์น้องใหม่อย่าง ONZONSKIN เห็นถึงอีกช่องทางในการนำเอาถั่วเขียวที่เราคุ้นกันดีมาทำเป็นสารสกัดผลิตเป็นสบู่ถั่วเขียวล้างหน้าเจาะตลาดคนรักความเป็นธรรมชาติที่นับวันจะเติบโตมากขึ้น
ในเรื่องนี้ ชนากานต์ เสนาคำ เจ้าของแบรนด์ ONZONSKIN บอกว่า การใช้ถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบหลักในการทำสบู่อาจมีไม่แพร่หลายมากนักในเมืองไทยแตกต่างจากที่ประเทศอินเดียเพราะด้วยตัวของถั่วเขียวเองนั้นมีสรรพคุณที่สามารถช่วยดับร้อนได้ และเพื่อที่จะเข้าถึงคุณประโยชน์ของถั่วเขียวได้มากขึ้นทางเราจึงได้นำเมล็ดถั่วเขียวไปให้ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำการวิจัยประมาณ 1 ปีเต็มและทำออกมาเป็นสารสกัด ผลที่ได้ทำให้เห็นว่าช่วยลดอาการอักเสบของผิวได้จริง
“ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่จะหยิบเอาถั่วเขียวมาเป็นส่วนผสมหรือวัตถุดิบหลักในการทำสบู่ ส่วนใหญ่ที่ทำจะทำอยู่ในรูปแบบผงที่ผสมแป้งแล้วเอามาขัดหน้าซึ่งมีเกลื่อนมากตามท้องตลาด อย่างไรก็ตามการทำแบบนี้มันใช้งานยาก ดังนั้นเราเลยคิดว่าถ้าสามารถนำมาทำเป็นสบู่ก้อนได้มันจะง่ายต่อการใช้งานให้กับผู้บริโภคมากกว่าที่จะใช้ในรูปแบบผง จึงเป็นที่มาของการนำสารสกัดถั่วเขียวมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์”
แม้ในสบู่ 1 ก้อนจะมีส่วนประกอบจากธรรมชาติอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นผงชาเขียว แตงกวา น้ำมันปาล์ม แอปเปิ้ลและน้ำมันมะพร้าว แต่การนำเอา “ถั่วเขียว” มาเป็นตัวชูโรงและชื่อทางการค้านั้นสามารถช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
“ที่เราต้องนำส่วนผสมอื่นๆเข้ามาช่วยเพราะการใส่ถั่วเขียวเพียวๆนั้นจะมีสรรพคุณด้านการรักษาสิวเพียงอย่างเดียวซึ่งอาจทำให้ผิวของผู้ใช้แห้งเกินไป เราจึงต้องเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวด้วยการใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตามสารสกัดถั่วเขียวที่ใช้นั้นจะมีสัดส่วนเยอะกว่าตัวอื่นซึ่งเป็นสูตรที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง”
และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันของตลาดความงามที่ผู้ใหญ่ วัยกลางคนหรือกลุ่มคนวัยทำงานหันมาใส่ใจในการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นจึงถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์ต่างจากวัยรุ่นซึ่งมักนิยมผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องของความขาวใสเห็นผลไว
“ด้วยคอนเซปต์ของแบรนด์ที่เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทำให้รู้ว่าตลาดที่เราจะเข้าไปเจาะนั้นต้องเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในกระบวนการทำงานของธรรมชาติอย่างกลุ่มคนวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ และด้วยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักเราได้นำสารสกัดไปวิจัยตรวจสอบการระคายเคืองกับแพทย์ผิวหนัง โดยทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 50 คนที่มีผู้ที่แพ้ถั่วรวมอยู่ด้วย เพื่อเช็กว่าคนที่แพ้ถั่วนั้นจะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของเราได้หรือไม่ ซึ่งผลที่ได้นั้นออกมาใน 2 ลักษณะคือ คนที่แพ้สามารถใช้ได้ตามปกติและไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นเลยต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่าเขาแพ้ระดับไหนและแพ้ถั่วประเภทไหน เพราะฉะนั้นเราจะไม่เคลมว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติแล้วจะไม่แพ้ เพราะจริงๆแล้วของที่เป็นธรรมชาติคนก็ยังแพ้ได้ เช่น อาหารทะเล ดังนั้นการแพ้จึงเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกลไกร่างกายของแต่ละคน”
มาถึงตรงนี้ ชนากานต์ บอกว่า ตลาดออนไลน์เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและไปได้ไวกว่าตลาดออฟไลน์เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่นิยมเล่นโซเชียลกันอยู่แล้วและถือเป็นเครื่องมือที่ทางแบรนด์ใช้เป็นหลักในการเข้าถึงลูกค้าทั้งบนเฟซบุ๊ก ไลน์และอินสตาแกรม ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งทางออนไลน์แล้วทางเราก็จัดส่งให้ถึงบ้านตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตปัจจุบันที่เน้นความสะดวกและรวดเร็ว
“นอกจากนี้เรายังใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่มีคนมารับซื้อสินค้าของเราและนำไปขายทำกำไรได้ต่อ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดในการขยายฐานลูกค้า ข้อดีของการที่เรารับตัวแทนจำหน่ายนั้นคือสามารถสร้างการรับรู้และเพิ่มคอนเน็กชันต่อได้จากคนที่เราไม่รู้จัก ซึ่งคนที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายได้นั้นต้องเป็นคนที่ใช้สินค้าของเราจริงๆแล้วสามารถบอกต่อได้ว่ามันดียังไง ซึ่งถือว่าดีกว่าการที่เราขายเองเพียงอย่างเดียวเพราะจะได้ตลาดที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าอยากเติบโตได้อย่างรอบด้านการตลาดออฟไลน์ เช่น การออกบูธ เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้เล่นโซเชียลและเป็นช่องทางให้คนได้เห็นสินค้าจริงของเราอีกด้วย”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี