ส่องโอกาสธุรกิจดอกไม้แห้ง ผ่านแบรนด์ Pavan







       ดอกไม้ คือ สิ่งที่สร้างความสวยงามให้กับโลกใบนี้ หลายครั้งมักถูกนำมาประดับตกแต่งเพิ่มชีวิตชีวาให้กับบ้านที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ออฟฟิศต่างๆ หรือนำมามอบเป็นของขวัญแทนใจให้แก่กัน แต่น่าเสียดายด้วยความบอบบางของดอกไม้ จึงทำให้มีอายุอยู่ได้นานก็ต้องแห้งเหี่ยว จะทำอย่างไรให้ความงดงามนั้นคงอยู่ต่อไปได้นานยิ่งขึ้น Pavan ธุรกิจร้านขายดอกไม้แห้ง คือ สิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว และมาดูกันว่า โอกาสของธุรกิจดอกไม้แห้งนั้นจะมีมากเพียงใด ในฐานะความสวยทางเลือกสำหรับลูกค้า


สวยแบบแห้งๆ ตอบโจทย์คนไม่มีเวลา


       ไอเน็ต วิรัชลาภ เจ้าของร้านดอกไม้แห้งดังกล่าว เล่าโอกาสที่มาของธุรกิจในการนำดอกไม้สดมาทำเป็นดอกไม้แห้งให้ฟังว่า

       “เราเองทำงานสายอินทีเรียมานาน จนทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง และมีความรู้ด้านมาร์เก็ตติ้ง จึงทำให้มองเห็นโอกาสว่า ผู้คนยุคนี้มีความเร่งรีบกันมากขึ้นการจะหาดอกไม้สวยๆ สักช่อมาตกแต่งบ้านให้ดูสวยงามอยู่เสมอ อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ตั้งแต่การหาซื้อ การดูแลรักษา จนถึงการหาดอกไม้ใหม่ๆ มาเปลี่ยนทดแทนดอกเก่าที่เหี่ยวเฉาไปแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีเวลา ดอกไม้แห้ง จึงคือคำตอบที่มาช่วยตอบโจทย์ ถึงแม้จะวุ่นวายแค่ไหนกลับมาบ้านก็ยังได้เห็นความสดใสจากดอกไม้ โดยที่ไม่ต้องดูแลอะไรให้ยุ่งยากเลย อีกอย่างดอกไม้แห้งยังเข้ากับการตกแต่งที่นิยมกันในตอนนี้ด้วย ทั้งลอฟต์และวินเทจ ซึ่งในตอนนั้นเมืองไทยเองยังไม่มีใครทำเรื่องนี้จริงจัง เราก็เลยลองทำขึ้นมา”





จะสด หรือแห้ง ก็สวยไม่แตกต่าง


       ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่และยังไม่เคยทำมาก่อน ไอเน็ตใช้เวลาศึกษาและทดลองทำอยู่นาน กว่าจะได้สีสันที่สวยใกล้เคียงกับดอกไม้สดและสามารถเก็บรักษาได้นาน โดยดอกไม้แต่ละชนิดกรรมวิธีก็แตกต่างกันออกไป บางชนิดก็สามารถนำมาทำได้ บางชนิดก็ทำไม่ได้ ซึ่งมีทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและที่ปลูกอยู่ภายในประเทศ

       “หัวใจสำคัญของการทำดอกไม้แห้ง คือ ทำยังไงให้สภาพยังใกล้เคียงเหมือนของจริงตอนที่ยังเป็นดอกไม้สดอยู่มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องอบให้แห้งไม่ให้ขึ้นรา เพื่อรักษาดอกไม้ให้อยู่ได้นานๆ ซึ่งบางชนิดก็ไม่สามารถทำได้ อย่างกุหลาบพอเอาไปทำแห้งแล้วจะกรอบ เราต้องเลือกดอกที่ทำแห้งแล้วยังสามารถคงรูปอยู่ได้ด้วย หรือบางชนิดถึงทำแห้งได้แต่คนละสีกรรมวิธีก็แตกต่างกันไปอีก อย่างดอกสแตติสถ้าเป็นสีม่วงจะใช้เวลาอบวันครึ่ง แต่ถ้าเป็นสีชมพูต้องใช้เวลา 2-3 วันทีเดียวจึงจะได้ โดยกรรมวิธีในการอบนั้นเราใช้วิธีอบอยู่ในโดมโดยใช้ความร้อนจากธรรมชาติ สลับกับการนำออกมาพักที่อุณหภูมิห้อง เพื่อให้เขาได้คลายความร้อนความชื่นออกมาและให้สีที่สวยเหมือนเดิม ซึ่งไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยความเข้าใจจึงจะทำได้”





เพิ่มมูลค่า ปลูกดอกไม้สด เอามาทำดอกไม้แห้ง 


       โดยดอกไม้แห้งจากร้าน Pavan นั้นมีให้เลือกหลายชนิดด้วยกัน ทั้งดอกไม้ไทยและดอกไม้ต่างประเทศ โดยนำวัตถุดิบมาจากหลายส่วนด้วยกัน ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศ จ้างกลุ่มเกษตรกรให้ผลิตให้ จนถึงขั้นทดลองปลูกเอง

       “ดอกไม้ของเรามาจากหลายส่วนด้วยกัน ถ้าเป็นดอกไม้ต่างประเทศ เราจะนำเข้าเป็นดอกไม้สดเข้ามาในปริมาณค่อนข้างมาก จากนั้นจึงนำมาอบทำแห้งด้วยตัวเอง สำหรับดอกไม้ไทย เช่น ดอกหญ้า รวงข้าว เราจะให้เกษตรกรทางภาคอีสานปลูกและอบแห้งมาให้เลย อีกส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของเราเลย คือ เราได้ทดลองปลูกต้นข้าวสาลีและดอกหญ้าหางกระต่ายได้ด้วยตนเองในพื้นที่หุบเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งที่มีโอโซนดีมากๆ และมีอยู่ไม่กี่แห่งในไทยที่สามารถปลูกได้ จากการนำเข้าในปริมาณมาก ทำให้ได้ราคาถูก บางส่วนก็ทดลองปลูกได้เอง จึงทำให้เราสามารถขายลูกค้าได้ในราคาที่ไม่แพง สูงกว่าดอกไม้สดนิดหน่อย บางอันก็แทบจะเท่ากันเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญเรายังได้สร้างงานและกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย”





แพงกว่านิดหน่อย แต่ใช้งานคุ้มกว่า


       เมื่อเทียบราคากับดอกไม้สดแล้ว ดอกไม้แห้งอาจมีราคาสูงกว่านิดหน่อย สำหรับร้าน Pavan ราคาอยู่ที่ช่อละ 150 – 350 บาท ดอกที่มีราคาแพงที่สุด คือ ยิปโซสีชมพู แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาการใช้งานที่นานขึ้นแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า  โดยนอกจากจะใช้เป็นแจกันตกแต่งพื้นที่ให้ดูสวยงามแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลาย เช่น ดอกไม้หิ้งพระ หรือของขวัญที่มอบให้แก่กัน แต่ดอกไม้ ก็คือ ดอกไม้ที่ยังมีความเป็นธรรมชาติ ไอเน็ตกล่าวว่านอกจากการอบแห้งเพื่อให้ดอกไม้สามารถอยู่ได้นานขึ้นแล้ว การใช้งานและวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของดอกไม้ด้วย

       “เวลาลูกค้าเอาดอกไม้แห้งไปใช้ แน่นอนว่าหากนำไปวางไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำหรือบริเวณแอร์ลงหนักๆ ตลอดเวลา และไม่นำออกมาพึ่งระบายอากาศ ดอกไม้ที่ทำแห้งไว้แล้วอาจมีสิทธิ์กลับมาขึ้นราได้ เพราะเขายังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ สิ่งที่เราทำ คือ แค่ช่วยยืดอายุออกไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานได้สะดวก ซึ่งจริงๆ แล้วการดูแลรักษาก็ไม่ยาก ถ้ามีฝุ่นก็แค่เอาไดร์ฟเป่าผมมาเป่าเบาๆ นานๆ ทีก็เอาออกมาพึ่งลมและแดดอ่อนๆ เท่านั้น แค่นี้ก็สามารถยืดอายุใช้งานของเขาได้นานยิ่งขึ้น”





ประหยัดรายจ่าย ตัวช่วยโรงแรม ร้านอาหาร


       ปัจจุบันร้านขายดอกไม้แห้ง Pavan มีสาขาหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ สยามพารากอน ชั้น 4 โซน living, เอ็มโพเรียมชั้น 4 และเร็วๆ นี้ที่ Chic republic ห้างขายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน รวมถึงคาเฟ่ร้านดอกไม้ย่านบางนา ซึ่งกำลังจะเปิดตัวขึ้นเร็วๆ นี้

       นับเป็นอีกทางเลือกของการตกแต่งบ้านที่น่าสนใจ ซึ่งไม่เพียงแต่ที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พักต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามให้แล้ว ยังช่วยให้ประหยัดต้นทุน ยืดอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สะดวก สบาย ดูแลรักษาก็ง่าย ไม่ต้องยุ่งยากอีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสของธุรกิจดอกไม้แห้งที่จะเติบโตต่อไปได้


        Facebook : pavanfurniture


 
  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน