ในวงการชิ้นส่วนยานยนต์ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไทยซัมมิท” วันนี้ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 2 ไม่ใช่แต้มต่อในการทำธุรกิจ แต่ก็ไม่เกินความสามารถของสาวแกร่งและเก่งอย่าง ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด ที่วันนี้วงการชิ้นส่วนยานยนต์ไม่มีใครไม่รู้จัก ลองมาดูเคล็ดลับความสำเร็จของเธอกันว่าบริหารยังไงถึงพาบริษัทโตไปไกลในระดับโลก
1. ทุ่มเท มุ่งมั่น
เมื่อไทยซัมมิทเป็นบริษัทที่อยู่มากว่า 40 ปี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีผู้บริหารที่มีอายุงานเป็น 20 ปีซึ่งเป็นบุคคลที่เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก แรกเริ่มอาจจะมีความกังขาในตัวเราบ้างว่าจะเข้ามารับช่วงต่อได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้พวกเขาเห็นในความทุ่มเทและมีความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “จะต้องให้เขาเห็นว่าเราสามารถที่จะเป็นผู้นำของเขาและองค์กรได้”
2. ศึกษาระบบขององค์กร
หนึ่งในปัจจัยที่จะผลักดันให้กิจการเดินต่อไปข้างหน้าได้ก็คือ การเข้าใจถึงระบบการทำงานขององค์กร ซึ่งการที่บริษัทอยู่มาได้นานหลายทศวรรษถือเป็นการการันตีอย่างหนึ่งว่าต้องมีการบริหารที่ดีมากในระดับหนึ่ง โดยเรื่องๆแรกที่เราเข้ามาจับก็คือทำการศึกษาระบบขององค์กรเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเป็นยังไง มีทิศทางไปทางไหน หากอันไหนดีเราก็เก็บไว้บวกกับมีการเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ๆเข้ามา ปรับเปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆไปสู่เรื่องที่ใหญ่มากขึ้นเพื่อให้องค์กรเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ
3. หาจุดแข็งให้เจอ
แรกเริ่มเดิมทีสินค้าของ ไทยซัมมิท ไม่ได้มีแค่ชิ้นส่วนยานยนต์เพียงอย่างเดียวแต่กลับมีไลน์โปรดักต์มากมาย ซึ่งการมีสินค้าหลายประเภทอาจฟังดูดีแต่เมื่อมองลงไปแล้วรู้สึกเลยว่ามันไม่ใช่ เพราะลูกค้าไม่สามารถรู้ได้ว่าจุดแข็งของไทยซัมมิทคืออะไร สินค้าที่แข็งแกร่งของไทยซัมมิทคืออะไร ดังนั้นเราต้องหาจุดยืนและจุดแข็งของเราให้เจอ อย่างถ้าเป็นร้านอาหารที่แม้จะมีเมนูต่างๆมากมายแต่ถ้าคนอยากกินผัดกะเพราก็ต้องมากินร้านเรา เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องมองให้ออกว่าเราอยากจะเก่งหรือเป็นผู้นำด้านไหน อย่าคิดแค่ว่าเราชอบอะไร ต้องมาดูว่าเทคโนโลยีที่เรามีนั้นอันไหนดีที่สุด และตลาดไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการขยายสินค้า
4. รู้ความต้องการของลูกค้า
แม้จะดูเป็นคำพูดธรรมดาแต่ในการทำธุรกิจต้องรู้ว่าความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงคืออะไรแล้วทำออกมาให้ได้ในทางปฏิบัติหรือเป็นการที่โปรดักต์นั้นต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้นั่นเอง รวมถึงเรื่องของคุณภาพที่นับเป็น A Must ในการทำธุรกิจที่ต้องเป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับอีกด้วย
5. ตั้งเป้าให้ไกล อย่าหยุดแค่ในประเทศ
เมื่อบางโปรดักต์ของบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แทบจะใหญ่ที่สุดในประเทศ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยน Mindset ว่าเราต้องมองไปยังตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยอาจเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่ไม่ไกลจากเรามากนัก แล้วค่อยขยายไปยังตลาดที่อยู่ไกลมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมองไปที่ตลาดใหญ่ขึ้นแต่ต้องเป็นตลาดที่เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้
6. ไม่ติดหรู
ในฐานะของการเป็นผู้นำและเจ้าของกิจการเราต้องทำให้การใช้ชีวิตในที่ทำงานอย่างในโรงงานผลิตและข้างนอกเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ต้องลุยและไม่ติดหรู ปกติเวลาทำงานก็จะใส่ชุดเหมือนพนักงานคนอื่น เราจะมีชีวิตหรูหราอยู่ข้างนอกและมีชีวิตอยู่ในโรงงานเป็นอีกแบบหนึ่งไม่ได้ เพราะในฐานะของเจ้าของและผู้นำนั้นเราจะเฟคกับลูกน้องไม่ได้นั่นเอง
7. วิสัยทัศน์ เป็นเรื่องของทุกคน
ปกติ Vision หรือ วิสัยทัศน์ นั้นจะรู้แค่เฉพาะ CEO เพราะฉะนั้นในการที่จะทำให้พนักงานรับรู้และมีส่วนร่วมกันทั้งบริษัทถือเป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละบริษัท อย่างของ ไทยซัมมิท จะมีการระบุวิสัยทัศน์ไว้ที่หลังบัตรของพนักงาน มีการให้ท่องจำและทำการสอบ แต่สำหรับ SME หรือบริษัทที่มีพนักงานไม่มากนักอาจมีวิธีการสื่อสารที่ดีกว่า เร็วกว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้นๆ ดังนั้น การที่จะทำให้คนมีเป้าหมายเดียวกันกับองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมากเปรียบเหมือนเป็นการทำให้พูดภาษาเดียวกันเพื่อที่จะเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น
8. จับตาธุรกิจ มองรอบด้าน
ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องจับตาดูทิศทางที่ไม่ใช่ธุรกิจของตัวเองแต่เป็น “ธุรกิจข้างๆ” หรือธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องว่าจะมีผลกระทบกับเรายังไงบ้าง ต้องมองรอบด้านไม่ใช่แค่เฉพาะในสายงานของเราเท่านั้น เช่น การมาของรถยนต์ไฟฟ้า การที่จะมี Car Sharing ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนจากรถยนต์ไปเป็นการใช้รถแบบใหม่แต่เป็นการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ซึ่งอาจมีผลกระทบไปยังธุรกิจต่างๆที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจยานยนต์ หรือการมาของรถยนต์ไร้คนขับที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ใช้คนขับส่งของและพนักงานรับ – ส่งเอกสาร ดังนั้นผู้ประกอบการควรใส่ใจในเรื่องนี้ รู้ก่อน ปรับตัวก่อนเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี