วันนี้ในตลาดสินค้าเกษตรไทยยังมีโอกาสใหม่ๆ อีกมาก ไม่ได้จำกัดเพียงแค่พืชเกษตรหลักๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเท่านั้น ยกตัวอย่าง DEVA FARM ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกในประเทศไทย ของ ณัฐชัย และ ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์ อดีตเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันผู้หลงใหลในคราฟต์เบียร์ พวกเขาเลือกที่จะท้าทายความเชื่อที่ว่า ฮอปส์ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่ให้รสชาติขมและกลิ่นหอมของเบียร์แต่ละยี่ห้อ ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาวเท่านั้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการทดลองปลูกในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบการทำ Smart Farming ที่คูลสุดๆ พร้อมเปิดรับผู้คนให้ไปเรียนรู้ด้วย
โดยทั้ง 2 คนเป็นฟาร์เมอร์ที่ไม่ได้เริ่มจากเกษตรกร แต่เป็นคนในวงการไอที เลยเจ๋งพอที่จะเขียนซอฟต์แวร์เองได้ เพื่อปรับฟาร์มเล็กๆ ของตัวเองให้กลายเป็น Smart Farmer เช่น การวางระบบการให้น้ำและปุ๋ย สร้างโรงเรือนเป็นกรีนเฮาส์เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงอีกด้วย
เทคโนโลยีที่เอามาใช้ทำฟาร์มเกษตรแบบใหม่ บวกกับโอกาสจากกระแสเบียร์ทำมือหรือคราฟต์เบียร์ที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นอย่างมาก ดูจากปี 2559 ที่มีแบรนด์ไทยเพียง 2-3 แบรนด์ มูลค่าตลาดเริ่มต้นเพียงประมาณ 35 ล้านบาท แต่มาปี 2560 พบว่า มีแบรนด์คราฟต์เบียร์พุ่งสูงขึ้นถึง 60 แบรนด์ คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 300 ล้านบาท โดยมีการคาดกันว่าในปี 2563 จะมีสัดส่วนเป็นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในตลาดเบียร์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้นับเป็นโอกาสของผู้ผลิตวัตถุดิบผลิตคราฟต์เบียร์อย่างพวกเขา ที่สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่างกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งยังมีความน่าสนใจอยู่มาก รวมถึงพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น นำไปสกัดออกมาเป็นผง ซึ่งสามารถขายได้แพงกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า
“ยุคนี้เป็นยุคของ Maker เป็นยุคของคน Gen Y ที่ชอบทำอะไรเอง ไม่ว่าจะเป็นปลูกผัก ทำอะไรกินเอง บางคนพอทำได้ก็อาจคิดว่ามันเป็นธุรกิจได้ก็เริ่มทำเป็นธุรกิจ เริ่มทำแบรนดิ้ง และทำตลาดเอง โดยตัดคนกลางออกเพื่อคุยกับผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งเหล่านี้มันเป็นเทรนด์ของโลกที่ยังมีโอกาสซ่อนอยู่อีกมาก เป็นโอกาสของผู้ประกอบการเกษตรยุคนี้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี