Thai Fit Studio คลาสออกกำลังแนวใหม่ อ่อนช้อยอย่างนางรำ แข็งแกร่งดั่งนักกีฬา





 
 
     เราอาจจะคุ้นเคยกับการใส่เสื้อผ้ารัดรูปเพื่อความคล่องตัว ออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก หรือซุมบ้าจนเหงื่อออกท่วมร่าง แต่ใครจะคิดว่าการสวมเสื้อยืดกับนุ่งผ้าถุงแล้วร่ายรำด้วยท่านาฏศิลป์จะกลายเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน


     ครูดิว-ขจิตธรรม พาทยกุล ทายาทโรงเรียนสอนดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย พาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ จึงนำศาสตร์และศิลป์ที่ได้คลุกคลีตั้งแต่ยังเล็กมาสร้างสรรค์เป็นคลาสออกกำลังกายภายใต้ชื่อ Thai Fit Studio โดยเปิดเผยว่า การรำไทยนั้นใช้ร่างกายทุกส่วนและใช้สมองในการเชื่อมโยงท่าต่างๆ ในช่วงเริ่มต้นจึงปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านกายภาพ และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อร่วมกันออกแบบเป็นคลาสเรียน ได้แก่ Thai Myth เป็นการนำเอานาฏศิลป์ ท่าทางของตัวละครในวรรณคดีต่างๆ มาผสานเข้ากับการออกกำลังกาย, Thai Folks นำเอาศิลปะการรำพื้นบ้านจาก 4 ภาคของไทยมาใส่จังหวะเพิ่มขึ้น และ Thai Martial Arts นำเอาท่าทางในการแสดงโขนและศิลปะป้องกันตัวของไทย มาประยุกต์เป็นท่าออกกำลัง แต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ไล่ตั้งแต่การวอร์มอัพ เทรนนิ่ง และคูลดาวน์




 
     ปัจจุบัน Thai Fit เปิดบริการเป็นโมบายคลาสคือ ร่วมมือกับสตูดิโอ และ Creative Space ต่างๆ กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคลาสสำหรับวัยกลางคน ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยทำงาน เพราะเป้าหมายของ Thai Fit คืออยากให้คนหันมาเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษคิดขึ้นมาจึงต้องเริ่มจากกลุ่มนี้ก่อน

 
     “เราอยากให้โปรดักต์มันชัดเจน แยกออกจากการเรียนรำไทยเพื่อความสวยงามปกติไปเลย นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่เปิดคลาสที่โรงเรียนพาทยกุลเป็นหลัก แต่ที่โรงเรียนพาทยกุลเป็นที่ผลิตครู ทดลอง ทำเวิร์กช็อป ค้นคว้า และวิจัย แผนของเราต่อไป” 


     

     สตูดิโอที่ Thai Fit ไปเปิดคลาสสอนมีหลากหลายทั้งสตูดิโอสอนเต้น ฟิตเนส และพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งคนชอบเต้นอย่างเดียว คนชอบออกกำลัง หรือคนที่ไม่เคยออกกำลังมาก่อนเลยก็มี เนื่องจากวิธีออกกำลังกายของ Thai Fit เป็นโปรดักต์ที่ใหม่มากจนแทบอ้างอิงกลุ่มลูกค้าเดิมจากโปรดักต์อื่นไม่ได้เลย 

 
     ครูดิวตั้งความหวังจะให้ Thai Fit ไปได้ไกลจึงจำเป็นต้องมีบางคลาสที่เข้าระบบฟิตเนส ลดทอนความยาก เพิ่มความสนุก เพื่อให้เป็นสากล และสามารถพัฒนาต่อยอดด้วยตัวเองให้ได้




 
     หากถามว่าไกลแค่ไหน ครูดิวก็บอกว่า ตอนนี้นอกจากทำคลาสที่เมืองไทยแล้ว ยังมีโอกาสไปทำเวิร์กช็อปนอกสถานที่ในต่างประเทศ เช่น แวนคูเวอร์ แคนาดา โดยสถานกงสุลใหญ่เป็นผู้เชิญ และที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย โดยมูลนิธิเตือน พาทยกุล ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม และบริษัท บุญรอด บริวเวอรี จำกัด (มหาชน) 

 
     นั่นคือในแง่ระยะทาง แต่หากพูดถึงเป้าหมายในเชิงธุรกิจ เธอกำลังพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ โดยจะทำงานร่วมกับมูลนิธิเตือน พาทยกุล และมีแผนจะขยายสู่กลุ่มชาวต่างชาติต่อไป


     

     นอกจากนี้ ในอนาคต Thai Fit อาจจะเป็นสตูดิโอที่เทรนครูเพียงอย่างเดียว หากใครเรียนแล้วสามารถนำไปเปิดคลาสในภูมิภาคอื่นๆ ได้ หรือซื้อลิขสิทธิ์ของ Thai Fit ไปเปิดเอง เธอก็ยินดี

 
     “พอทำธุรกิจนี้เองก็รู้เลยว่ามันยากมาก ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เยอะมาก กว่าจะเทรนครูได้แต่ละคนต้องใช้ทั้งเวลา ประสบการณ์ทุนเดิมของครูที่ต้องมีพื้นฐานรำ มันไม่ง่ายเลย ยิ่งเราทำเพลงเองเกือบทั้งหมด ออกแบบท่าและเพลงไปพร้อมๆ กัน ใช้ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่คำนึงถึงค่าการเต้นของหัวใจ ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มทำแรกๆ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเอาไปทำได้สักที ถ้ามีคนทำบ้างอาจจะดีกว่านี้ มีการแข่งขัน ตลาดจะได้คึกคัก”


 
Thai Fit Studio
FB : www.facebook.com/thaifitstudio



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน