Fai For Fan ป้ายไฟนี้ เพื่อแฟน (คลับ)

 

เรื่อง  เรไร จันทร์เอี่ยม
ภาพ  ชาคริต ยศสุวรรณ์

     จากกระแสนิยมดังกล่าวได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเวลานี้มีลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับศิลปินมากมายรู้จักเขาดีในชื่อ ‘ปิงป้ายไฟ’ หรือ พลรัตน์ กุลพรศิริกุล สืบเนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อน เขาเกิดไปสะดุดใจกับข้อความหนึ่งที่ถูกโพสต์อยู่บนเว็บบอร์ด ‘ทำป้ายไฟที่ไหน’ จึงอดไม่ได้ที่จะสงสัยไปต่างๆ นานาว่า เจ้าสิ่งนี้หาที่สั่งทำยากหรืออย่างไร หรือว่ามีร้านทำแต่ยังน้อยอยู่ หรือว่าเขาประชาสัมพันธ์ไม่ดี คนถึงไม่รู้ว่ามีอยู่ ในความคิดขณะนั้นเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมากมาย หรือสิ่งเหล่านี้จะเป็นการส่งสัญญาณว่ายังมีช่องว่างในตลาดรอเขาอยู่

       จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พลรัตน์ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากไม่อยากจะละทิ้งโอกาสดีๆ นี้ไป อีกทั้งด้วยพื้นฐานความรู้ ซึ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงทำให้เขามั่นใจว่าสามารถทำได้

      

       สำหรับการทำตลาดในช่วงแรก เขาใช้วิธีเข้าไปโพสต์ ‘รับทำป้ายไฟ’ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ รวมถึงเว็บบอร์ดของตัวศิลปินนักร้อง และหลังจากนั้นก็ได้สร้างเว็บไซต์ www.faiforfan.com ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า โดยชื่อ Fai For Fan นั้น พลรัตน์บอกว่า มาจากคำว่า ป้ายไฟสำหรับแฟนคลับ นั่นเอง

       “ส่วนหนึ่งที่ผมเลือกทำตลาดบนเว็บไซต์ก่อน เป็นเพราะตัวเองพอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้มา เคยทำงานที่บริษัทเว็บไซต์ เลยทำให้พอจะเข้าใจว่าเราจะทำตลาดบนเว็บไซต์ได้อย่างไร งานชิ้นแรกที่ทำไม่ได้มาจากกลุ่มแฟนคลับ จำได้ว่ามีลูกค้ามาจ้างให้เราเขียนคำว่า Home ให้ ดูเหมือนว่าเขาจะเอาไป Present ในชั้นเรียนให้อาจารย์ฟัง

       หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าแฟนคลับเข้ามา เป็นลักษณะบอกต่อๆ กันมากกว่า ยกตัวอย่าง คลับของบี้ เดอะสตาร์ เริ่มจากแฟนคลับคนหนึ่งโทรศัพท์มาสั่งทำป้าย พอเพื่อนเห็นว่าสวย ก็โทรฯ มาสั่งบ้าง จากคนหนึ่งเป็น 5 คน 10 คน พอวันหนึ่งทางตัวคลับ ซึ่งเขามีการรวมกันเป็นกลุ่มนั้น รู้ว่าผมทำก็จะสั่งเข้ามาในนามของคลับ ซึ่งก็ได้ออร์เดอร์เยอะหน่อย”

 

 

       อย่างไรก็ดี ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น ‘เบา บาง แข็งแรง และสวยงาม’ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อของ Fai For Fan หรือปิงป้ายไฟ ถูกแนะนำและพูดถึงอย่างรวดเร็วในโลกไซเบอร์และกลุ่มแฟนคลับ พลรัตน์บอกว่า จุดเด่นสำคัญของป้ายไฟดังกล่าวนี้ เกิดจากความพยายามที่จะออกแบบพัฒนาให้แตกต่างไปจากท้องตลาดทั่วไป

       “คือผมจะมองว่าของคนอื่นเป็นอย่างไร มีจุดบอดตรงไหน แล้วค่อยพัฒนาให้เป็นในแบบของตัวเรา เท่าที่เห็นคือป้ายไฟที่พบในท้องตลาดส่วนมากจะหนา แต่ไม่แข็งแรง ฟังดูอาจจะงง หลายคนคิดว่าหนาก็น่าจะแข็งแรง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ซึ่งตรงนี้อยู่ที่วิธีการผลิต เมื่อเห็นว่าเขาเป็นแบบนี้ ผมก็พยายามทำชิ้นงานของเราให้ออกมาบาง เบา และแข็งแรงด้วย ซึ่งก็กลายเป็นคุณสมบัติของผมที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น”

      

       ขณะเดียวกันในเรื่องของดีไซน์ พลรัตน์เล่าว่า จะเน้นที่ความสวยงามและหลากหลาย ทั้งตัวอักษรและการวางตำแหน่งของหลอดไฟ โดยที่เขาจะเป็นคนออกแบบเอง หรือบางครั้งลูกค้าก็จะออกแบบมาให้ ฉะนั้นเมื่อลูกค้ารู้ว่า Fai For Fan สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ กระบวนการความคิดของลูกค้าก็เริ่มจะเปิดกว้าง เมื่อเทียบกับการไปสั่งทำกับผู้ผลิตรายอื่นๆ เพราะเวลาลูกค้าไปถามว่า ‘ทำแบบนี้ได้ไหม’ หากคำตอบคือ ‘ทำไม่ได้’ ลูกค้าก็จะถามกลับทันทีว่า ‘แล้วทำอะไรได้บ้าง’ ดังนั้น กลายเป็นว่าลูกค้าต้องเป็นฝ่ายตามผู้ผลิต แต่สำหรับ Fai For Fan แล้วไม่ใช่ เพราะไม่ว่าลูกค้าจะต้องการดีไซน์แบบไหน สามารถที่ตอบสนองความต้องการนั้นๆ ได้ทั้งหมด นี่จึงเป็นความแตกต่างอีกข้อที่ทำให้ลูกค้าติดใจที่จะใช้บริการจากผู้ผลิตรายนี้

 

 

“คุณอยากได้อะไร ฝันเพ้อละเมอให้เต็มที่ หน้าที่ของผมคือ ทำฝันให้เป็นจริง อย่าถามว่าผมทำอะไรได้ เพราะถ้าคุณถามแบบนั้น คุณก็จะได้ในสิ่งที่ผมเคยทำ สมมุติคุณไปเชียร์พี่เบิร์ด คุณคงไม่อยากได้ป้ายไฟที่เหมือนๆ กัน 10 คน 20 คน เชื่อว่าแต่ละคนก็ต้องการแบบที่ไม่เหมือนใคร ฉะนั้นผมจึงต้องพยายามทำให้หลากหลาย ต่อให้เป็นป้ายพี่เบิร์ดเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน แต่ก็ต้องทำให้แตกต่างกัน”

       อย่างไรก็ดี ในความเห็นของพลรัตน์นั้น มองว่า ความแตกต่างดังกล่าว คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และปัจจุบันก็หมดยุคสมัยที่ทุกคนจะผลิตสินค้าเหมือนๆ กันแล้วจะขายได้ ถึงแม้ขณะนี้ตลาดป้ายไฟจะยังไม่หวือหวา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวตามเทรนด์ของการจัดให้มีการแข่งขันประเภทเรียลลิตี้มากขึ้น

        ประกอบกับเวลานี้ นอกเหนือจากป้ายไฟจะถูกนำไปใช้เชียร์ศิลปินในดวงใจแล้ว พลรัตน์บอกด้วยว่า ตลาดยังเปิดกว้างไปยังกลุ่มองค์กรธุรกิจและอื่นๆ อีกด้วย เช่น ใช้ในกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ หรือใช้เป็นป้ายชื่อร้านค้า ตลอดจนถูกนำไปมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ  เช่น วันเกิด วันรับปริญญา เป็นต้น ฉะนั้น Fai For Fan จึงยังมีช่องทางและโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

        ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตาม เมื่อ ‘ไอเดีย’ บวกเข้ากับ ‘ความแตกต่าง’ ย่อมนำมาสู่ ‘โอกาสที่ดี’ เสมอ และ Fai For Fan ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

 

Key to Success

• มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
• พัฒนาธุรกิจด้วยการสร้างความแตกต่าง
• ให้ความสำคัญกับลูกค้า เพื่อตอบสนองทุกความต้องการ


www.faiforfan.com
www.facebook.com/faiforfan
โทร. 08-1654-0112 (ตั้งแต่เวลา 06.30-24.00)

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล