​Rukbatik เติมความหอม เพิ่มเสน่ห์ให้ผ้าบาติก






Cr : Rukbatik



     เมื่อความแปลกใหม่ของลวดลาย สีสันและกลิ่นหอมจากธรรมชาติบนผืนผ้า เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่กำลังมองหา แบรนด์ Rukbatik ตัวแทนจากภาคเหนือจึงก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่นำความงามของทางล้านนามาผสมผสานกับภูมิปัญญาและการใช้นวัตกรรมสร้างจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร


     สำหรับเรื่องนี้ ดำรงค์ ชุมพานิชวศุตม์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจุลณัฐ จำกัดและเจ้าของแบรนด์ Rukbatik บอกว่า แม้จะเริ่มทำแบรนด์มาได้เพียง 3 ปี แต่จากการศึกษาและมีประสบการณ์ในเรื่องของผ้าบาติก ทำให้มองเห็นโอกาสของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆผ่านทางการหยิบยกเอาภูมิปัญญามาสร้างนวัตกรรมและต่อยอดในการทำธุรกิจ



Cr : Rukbatik


     “เดิมเราศึกษามาทางด้านผ้าบาติกโดยใช้สีเคมีประมาณ 10 กว่าปีจึงเห็นว่ามันไม่ปลอดภัยทั้งกับตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดใหม่ว่าเราต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นโปรดักต์ปลอดสารเคมีเลยเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมใส่ความหอมจากธรรมชาติลงบนผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ ถือเป็นการนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการนำกลิ่นของสมุนไพร เช่น มะลิ ตะไคร้ ยูคาลิปตัสหรือลาเวนเดอร์ เข้ามาสร้างความสดชื่นช่วยให้ผู้ใช้มีอารมณ์ดีขึ้น และการใช้สีธรรมชาติ เช่น ฝาง ครั่ง เพกา ลำไย ลิ้นจี่ หรือกาสะลองเข้ามาเพิ่มลวดลายให้กับตัวสินค้า”


     การใส่กลิ่นลงไปในผ้าถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสิ่งทอกลิ่นหอมจากธรรมชาติกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบันเพราะนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์แล้วยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการเรื่องของความปลอดภัยที่ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องของอาหารการกินแต่ยังครอบคลุมถึงสิ่งที่ต้องนำมาสวมใส่บนร่างกายที่ต้องทำมาจากธรรมชาติอีกด้วย





     “นอกจากเรื่องของกลิ่นหอมแล้ว การลงมือวาดลวดลายเองโดยเป็นการผสมผสานระหว่างลวดลายแบบล้านนาและแบบสากลที่เป็นเทรนด์ของโลกทำให้งานแต่ละชิ้นออกมาแตกต่างและไม่ซ้ำกัน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยูนีคไม่ซ้ำใคร มีชิ้นเดียวในโลกก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นสินค้าที่ขายตัวเองได้ ถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของแบรนด์”


     การเป็นผืนผ้าที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปะ ทำให้สินค้าไม่ได้โดนใจแค่ลูกค้าชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการมากสำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นเพราะเป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและเข้าใจในตัวโปรดักต์ โดยทางแบรนด์ยังมองไปถึงลูกค้าในยุโรป เช่น ผู้บริโภคในแถบสแกนดิเนเวียและกลุ่มลูกค้าที่รักสิ่งแวดล้อมในการขยายฐานตลาดออกไปให้กว้างขึ้นอีกด้วย


Cr : Rukbatik


     มาถึงตรงนี้ ดำรงค์ บอกว่า เรื่องของภูมิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรมองข้าม รวมถึงการใช้นวัตกรรมจะเป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยที่สร้างความแตกต่างและจุดแข็งให้กับธุรกิจได้


     “ทุกวันนี้ SME ต้องอาศัยการนำนวัตกรรมมาใช้กับตัวโปรดักต์ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ยากเพราะล้าหลังและไม่ทันคนอื่น ถ้าอยากจะก้าวไปข้างหน้าก็ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดที่จะคิดและต้องเป็นสิ่งที่สามารถสืบทอดได้ นอกจากนี้ยังมี SME ที่ไม่เข้าใจถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แท้จริงเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการสามารถเข้าใจในเรื่องของภูมิปัญญาและนำมาใช้ให้เป็นจุดแข็งของโปรดักต์บวกกับการใช้นวัตกรรมจะทำให้สินค้าสามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกได้ และถ้าอยากจะตีตลาดให้ได้ SME ต้องคิดให้เป็น ทำให้ถูก เข้าใจกำลังตัวเอง คิดในเชิงยุทธศาสตร์การรุกและต้องเข้าใจในยุทธศาสตร์การรับ”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี     
  

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน