​เคล็ดลับสละหวานด้วยการติดสูติบัตร ‘สวนสละสมโภชน์’ เมืองตราด






 
     ‘อย่าเอาเปรียบคนกิน เราต้องซื่อสัตย์’ คำพูดจากคุณป้าสมโภชน์ เจ้าของสวนสละชื่อดังแห่งเมืองตราด ‘สวนสละสมโภชน์’ ที่ติด 1 ในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของเมืองตราด ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องแวะมาเช็คอิน เที่ยวชมสวนสละพร้อมซื้อสละพันธุ์สุมาลีกลับบ้าน
               

     มากกว่า 20 ปีมาแล้วที่คุณป้าสมโภชน์พร้อมกับคุณลุงกระจ่าง ตรีวงศ์ได้เริ่มต้นทำสวนขึ้น ในช่วงแรกๆ ยังไม่ได้ปลูกสละพันธุ์สุมาลีอย่างในทุกวันนี้ แต่ปลูกพันธุ์เนินวง ด้วยความที่คุณป้าสมโภชน์เป็นคนจริงจังเวลาที่ลงมือทำอะไร ทำให้สละพันธุ์เนินวงของคุณป้าสมโภชน์ก็อร่อย มีรสชาติหวานจนใครๆ ติดใจเช่นกัน
               

     “แม่เป็นคนที่ทำอะไรต้องทำให้สุด เรียนหนังสือก็ได้ที่ 1 ที่ 2 ตลอด ทำอะไรต้องดีที่สุด ไม่ทำเล็กๆ ที่เรามีชื่อเสียงมาทุกวันนี้ เป็นเพราะคุณภาพล้วนๆ” คำบอกเล่าจากเหมี่ยว ลูกสาวของคุณป้าสมโภชน์ ที่ตอนนี้รับหน้าที่ดูแลในเรื่องของการตลาดและการขายให้กับสวนสละแห่งนี้
               




     เหตุผลที่สวนสละสมโภชน์กลายเป็นสวนสละชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทยนั่นเป็นเพราะคุณภาพและการที่ลูกค้าพูดกันปากต่อปากถึงความหวาน หอม อร่อยของสละ ที่ใครได้ลองมาชิมหนึ่งครั้งเป็นต้องติดใจและกลับมาซ้ำอีกอย่างแน่นอน ส่วนเคล็ดลับที่คุณภาพดีขนาดนี้ คุณป้าสมโภชน์ได้เล่าให้ฟังว่าที่นี่มีการปลูกสละแบบเป็นระบบด้วยการติดป้ายวันเกิดหรือสูติบัตรให้แก่สละทุกช่อที่ปลูก
               

     “ครั้งแรกเราก็ปลูกเนินวง ทีนี้เราก็ปลูกไป ยังไม่ได้มีมาติดสูติบัตรแบบนี้ เมื่อก่อนเด็กก็จะเก็บ ก่อนเก็บก็จะต้องชิม แกะทุกช่อแล้วชิมเอา ถ้ายังเปรี้ยวก็ยังเก็บไม่ได้ ปรากฏว่าในสวนเรามีตั้ง 80 กว่าไร่เป็นพันๆ ต้น โดนไปหลายลูก หลายช่อกว่าจะได้หวานแบบที่เราต้องการ มันเสียของโดยใช่เหตุ ที่นี้เราก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงดี เลยลองตัดขวดน้ำมามัดลวดแล้วใช้ปากกาเขียนติดไว้ที่ต้น ก็มาทดสอบว่าปากกามันจะอยู่ได้นานถึง 8 เดือนมั้ย 8 เดือนเป็นช่วงเวลาที่สละหวานพอดี สุดท้ายขวดน้ำมันไม่ไหว ตัดไปเจ็บมือเพราะต้องใช้เยอะ เลยกลายมาเป็นริบบิ้น แยกสีตามเดือน เราจะเขียนวันเกิดคือวันที่ผสมเกสรเสร็จ แล้วเราก็จะมีสมุดเล่มนึง ลงบัญชีเอาไว้ด้วย วันนี้มีกี่ดอกๆ”
    

          
 
     หลังจากที่สวนสละสมโภชน์ได้ปลูกโดยใช้เลขวันเกิดเป็นตัวบอกเวลาในการเก็บเกี่ยวก็สามารถคุมคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังลดของเสียจากการชิมแล้วทิ้งได้อีกมากเลยทีเดียว เพราะส่วนใหญ่แล้วชาวสวนมักจะใช้วิธีการกะเอาด้วยตาเปล่าจากผลผลิตว่าลูกใหญ่เพียงพอ ทั้งที่ข้างในอาจจะยังเปรี้ยวอยู่ ซึ่งคุณป้าสมโภชน์ได้บอกว่าผลไม้ทุกชนิดจะมีช่วงเวลาหวาน ช่วงเวลาอร่อยของมันอยู่ แต่หลายครั้งที่เกษตรกรละเลยเรื่องคุณภาพ เน้นเอาจำนวนหรือไม่ใส่ใจรสชาติ เปรี้ยวอยู่ก็ยังตัดขาย ทำให้ลูกค้ากินครั้งเดียวแล้วเข็ด สวนสละสมโภชน์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
               

     “คำเดียวเลยคือซื่อสัตย์ แล้วเราจะทำอะไรได้นาน อย่างบางคนช่วงที่มันยังเปรี้ยวอยู่ เขาก็ตัดขายแล้ว แต่ของเรา ถ้าไม่ได้ที่ ยังไม่ถึงช่วงเวลา เร่งจะเอายังไง เราก็จะไม่ตัด ไม่ขาย ผลไม้ทุกชนิดจะมีช่วงเวลาหวานของมันอยู่ บางคนเขาไม่สนใจ ตัดตอนที่มันเปรี้ยว คนสวนมองดูรู้แต่คนกินไม่รู้ เราอยากให้คนที่เขากินสละของเราแล้วเขากลับมาอีก เราก็ไม่ทำแบบนั้น เราต้องคัดให้เขากินได้ทุกลูก อันไหนที่เปรี้ยวต้องไม่ใส่ลงไปให้เขา เขากินแล้วต้องประทับใจ นี่คือความซื่อสัตย์ ของไม่ดีห้ามขาย รักษาคุณภาพเอาไว้ พอมันอร่อย คนกินเขาก็บอกต่อกัน”
 





ขอขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
                     สีสันตะวันออก



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน