หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศมาตรการ “REPLACE” เป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติโดยตั้งเป้าปี 2023 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกจะปลอดจากกรดไขมันทรานส์ เนื่องจากมีหลักฐานชี้ชัดว่าน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) หรือที่เรียกกรดไขมันทรานส์นั้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลคือมีประเทศต่างๆ ราว 45 ชาติที่ขานรับ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น การประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้ากรดไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร
ความจริงการต่อต้านการใช้กรดไขมันทรานส์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว และสวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายควบคุมปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร จากนั้นหลายประเทศในยุโรปได้ดำเนินรอยตาม ขณะที่สหรัฐฯ เองเริ่มพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังในปี 2015 และให้เวลาบริษัทผู้ผลิตอาหารในการปรับตัว 3 ปีซึ่งปี 2018 นี้เป็นปีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าจะให้กรดไขมันทรานส์หมดไปจากวงจรการผลิตอาหาร ส่วนไทย การประกาศของกระทรวงสาธารณสุขย่อมกระทบต่อผู้ผลิตในวงการอาหารทุกระดับ แต่ที่ผ่านมาพบว่าหลายบริษัทเริ่มปรับตัวไปล่วงหน้าแล้ว เช่น การปรับสูตรขนมอบ หรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนยขาว เพื่อให้กลายเป็นกรดไขมันทรานส์น้อยที่สุด เป็นต้น
ตัวอย่างของอาหารบางชนิดที่จะไม่เหมือนเดิม เมื่อกรดไขมันทรานส์กลายเป็นของต้องห้าม เช่น
โดนัท -หากไม่ใช้ไขมันทรานส์ โดนัทที่ได้อาจอมน้ำมัน และหืนเร็ว
คุกกี้ เค้กและขนมอบอื่นๆ -การใช้ไขมันทรานส์มีผลต่อเนื้อสัมผัส (texture) และอายุของผลิตภัณฑ์
แครกเกอร์- ในการผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทนี้อาจต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมันอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันคาโนล่า
ป๊อบคอร์น- รวมถึงป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จที่ใช้ไมโครเวฟ ผู้ผลิตอาจต้องเปลี่ยนจากเนยเทียม/มาการีนมาเป็นเนยสดแท้
พิซซ่าแช่แข็งและอาหารแช่แข็งอื่นๆ - โดยมากมีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เพื่อให้ shelf life หรืออายุการเก็บรักษายางนานขึ้น การใช้อย่างอื่นทดแทน อาจทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มสารกันบูดเพื่อให้อาหารเก็บได้นานขึ้น
ครีมเทียม –สามารถแทนด้วยน้ำมันถั่วเหลือง หรือทำให้เครื่องดื่มเข้มข้นขึ้นด้วยผงอัลมอนด์ ผงเม็ดมะม่วงหิมพานต์ป่นละเอียด
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริโภค แม้จะมีการห้ามใช้กรดไขมันทรานส์ แต่สิ่งที่ควรทราบก็คือ
1. ไม่ว่าอย่างไร กรดไขมันทรานส์จะไม่หายไปจากอาหารแปรรูป ยากที่จะเรียกได้ว่าปลอดไขมันทรานส์อย่างหมดจดเพราะกรดไขมันทรานส์นี้ไม่เพียงมาจากการสังเคราะห์ หากยังสามารถเกิดขึ้นได้ธรรมชาติ โดยพบในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม แม้จะมีปริมาณน้อยนิดก็ตาม
2. การที่ฉลากระบุ “กรดไขมันทรานส์ 0%” ไม่ได้หมายความว่าอาหารนั้นๆ ไม่มีกรดไขมันทรานส์เลยสักนิด เพราะหลายประเทศมักออกกฎ เช่น หากอาหารนั้นมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 2% หรือไม่เกินกี่กรัมของปริมาณที่กำหนดก็ถือว่าปลอดไขมันทรานส์ ดังนั้น การระบุบนฉลากว่า “ไม่มีไขมันทรานส์” จึงอาจเป็นกับดักที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้
3. น้ำมันทางเลือกที่นำมาใช้แทนกรดไขมันทรานส์ แม้จะมาจากธรรมชาติ แต่ก็ก่อปัญหาได้เช่นกัน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าวที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว หรือน้ำมันอื่นๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่าก็ทำให้อาหารหืนเร็ว ที่สำคัญน้ำมันก็คือน้ำมันหากบริโภคไม่บันยะบันยังก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
4. การขจัดไขมันทรานส์จากอาหารไม่อาจการันตีถึงการมีสุขภาพดีตราบใดที่ผู้บริโภคยังใช้ชีวิตบนพื้นฐานของพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้นว่า กินแบบไม่สมดุล กินมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย ดื่มหนัก สูบหนัก เป็นต้น กรดไขมันทรานส์อาจเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การส่งเสริมสุขภาพแข็งแรงจึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
ที่มา
http://healthland.time.com/2013/11/07/7-foods-that-wont-be-the-same-if-trans-fats-are-banned/
https://civileats.com/2015/06/19/4-things-you-should-know-about-fdas-ban-on-trans-fats/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี