ส่องกลยุทธ์ยกระดับฝีมือแรงงาน เบื้องหลังความสำเร็จการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ PiN





 
 
     การยกระดับจากแรงงานทั่วไป เพื่อก้าวสู่แรงงานคุณภาพ นับเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 หลายธุรกิจพยายามปรับตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ในทันที ลองมาดูตัวอย่างและวิธีพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มากขึ้น จากปิ่น – ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ศิลปินและนักออกแบบเจ้าของแบรนด์ PiN ทายาทแห่งโรงงานเหล็ก ผู้เปลี่ยนเศษเหล็กให้กลายเป็นงานศิลปะที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้หลายสิบเท่า


     “ความจริง ปิ่นเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาแรงงานตั้งแต่ตอนทำทีซีส แล้วว่าเราจะยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนงานเหล่านั้นได้ยังไงจากสิ่งที่เขาทำอยู่ จนกระทั่งได้มาทำแบรนด์ของตัวเอง ปิ่นก็เริ่มหาช่างมาเชื่อมงานให้ งานของเราเป็นงานที่มีรายละเอียดเยอะ ต้องใช้ความประณีตในการทำ จากเศษเหล็กกิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท เราสามารถสร้างเป็นงานศิลปะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ไม่รู้กี่สิบเท่า ซึ่งหากเขาสามารถประยุกต์จากทักษะฝีมือและความสามารถที่มี เพื่อปรับทำงานที่ยากขึ้นได้ ก็จะสามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเขาได้เช่นกัน อันรวมไปถึงประเทศชาติด้วย เพราะจริงๆ แล้วแม้จะเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งในธุรกิจ แต่พวกเขา คือ กำลังสำคัญ เป็นบุคคลพื้นฐานที่สร้างให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งหากรวมกันหลายจุด แม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ ก็ย่อมสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ดีต่อประเทศได้อย่างแน่นอน”




     โดยปิ่นได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพจากแรงงานทั่วไป ให้กลายมาเป็นแรงงานฝีมือ ดังต่อไปนี้


เลือกคนที่กายพร้อม ใจพร้อม

     การจะพัฒนาแรงงาน อันดับแรก คือ เราต้องสังเกตก่อนว่าเขามีทักษะฝีมือและใจพร้อมที่จะพัฒนาด้านฝีมือหรือเปล่า อย่างพี่คนที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่วันแรกจนทุกวันนี้ เขามีทักษะฝีมือด้านการเชื่อมงานอยู่แล้ว แต่ทำงานเหยียบเครื่องปั๊ม พอวันหนึ่งเห็นปิ่นกำลังทำทีซีส เลยอาสามาช่วยเชื่อมงานให้ ปิ่นเห็นว่าเขาสามารถพัฒนาฝีมือได้ พอเริ่มทำแบรนด์ ก็เลยชวนมาทำงานร่วมกัน จนตอนนี้กลายเป็นช่างเชื่อมฝีมือเต็มตัวไปแล้ว หรืออย่างช่างเชื่อมที่อยู่ข้างนอก ตอนไปหาปิ่นก็ใช้วิธีเดียวกัน คือ ถามความสมัครใจว่าเขาพร้อมที่จะร่วมทำงานและทดลองไปกับเราไหม ซึ่งก็มีคนสนใจ ส่วนหนึ่งเพราะเขาจะได้มีรายได้เพิ่ม แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ เขาอยากฝึกฝนฝีมือตัวเองและทำงานที่ท้าทายมากขึ้นด้วย กลายเป็นจากวันแรกที่เริ่มส่งงานให้ เขาก็ทำงานลักษณะเชื่อมฟังก์ชั่นทั่วไป แต่พอผ่านไปเริ่มเห็นเขาทำงานประดิษฐ์มากขึ้น เช่น ทำโคมไฟใช้เอง จากตอนแรกที่ไม่เคยมีเลย ทำให้เรารู้สึกยิ่งภูมิใจที่ได้เปิดโลกการทำงานในอีกมิติหนึ่งให้เขา




 
ฝึกฝน เปิดโอกาสให้ทำงานที่ยากขึ้น

     ข้อสองที่ปิ่นมองว่าสำคัญ สำหรับการพัฒนาแรงงาน คือ ต้องให้โอกาสเขาได้ลองทำงานที่ยากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความสามารถแท้จริงที่ซ่อนอยู่ จริงอยู่งานล็อตแรกอาจไม่สวย แต่พอเขาได้พัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ จากงานที่เราส่งให้เขาทำ ได้เรียนรู้เทคนิค ได้รู้จักกับวัสดุต่างๆ ที่เราส่งให้เขา ในการทำแต่ละลวดลาย แต่ละแพทเทิร์น ความหนาบางก็แตกต่างกันไป ก็ทำให้เขาให้เขาได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนฝีมือ ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ดีขึ้น และยากขึ้น จนพัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นมาได้




 
สนับสนุน ดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

     เมื่อเราได้สนับสนุนเขาแล้ว ปิ่นมองว่าก็ควรทำให้อย่างต่อเนื่อง ถึงบางครั้งปิ่นเองไม่มีงานเข้ามา แต่เมื่อพี่ๆ  คนงานข้างนอกติดต่อเข้ามาว่ามีงานให้ทำไหม เราก็พยายามหาให้เขา ให้ทำงานเก็บเป็นสต็อกไปก่อน แต่พอถึงเวลาที่งานเร่งมากๆ เวลาปิ่นขอความช่วยเหลือไป พี่เขาก็รีบมาช่วยทำให้ ซึ่งปิ่นมองว่า นี่คือ อีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เราอยู่รอดและเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ในการพัฒนาศักยภาพการทำงานที่ยากขึ้น 





     สุดท้ายศิลปินผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหล็กได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ตัวผู้ประกอบการเองก็ควรหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้มีวิสัยทัศน์และมุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนารูปแบบงานที่ยากขึ้น  เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพของแรงงานควบคู่กันไปด้วย



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน