การสนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้เกิดความแข็งแกร่ง เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงมีนโยบายในการจัดตั้ง SMEs Industry Transformation Center หรือ ศูนย์ SMEs – ITC ระยะที่ 1 ในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 10 แห่งขึ้นมา เพื่อให้บริการคำปรึกษา ต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัย การถ่ายองค์ความรู้และทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ
ในเรื่องนี้ อัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กนอ. ได้ดำเนินการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบที่นิคมฯ แหลมฉบัง ที่มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้าน ชิ้นส่วนยานยนต์ โลจิสติกส์ และหุ่นยนต์ และในเดือนกรกฎาคมนี้จะเปิดให้บริการอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมฯ ภาคเหนือ (ลำพูน) ที่มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารและเกษตรแปรรูป 2) นิคมฯ บางปู มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) นิคมฯ บางปะอิน มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4) นิคมฯ ภาคใต้ มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และยางพารา
ส่วนอีก 5 แห่ง จะเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย นิคมฯ เกตเวย์ซิตี้ ที่มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร นิคมฯ มาบตาพุด มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์จากพลาสติก นิคมฯ ลาดกระบัง มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการแปรรูปอาหาร นิคมฯ บางชัน มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ และนิคมฯ สมุทรสาคร มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านแปรรูปอาหาร
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนงานบริการของศูนย์ SMEs – ITC กนอ.มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย
ความร่วมมือระดับหน่วยงานภายใน มีการทำงานที่สอดประสานกัน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ ศูนย์ SMEs Support & Rescue Center ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Service Center : BSC) และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industrial Transformation Center) ที่กล้วยน้ำไท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนทั้งในด้านการเงิน เช่น สินเชื่อประชารัฐเพื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ( Micro SMEs) สินเชื่อเพื่อซื้อ/ขยายเครื่องจักร บริการปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาธุรกิจ การทดสอบตลาด การต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัย การให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน ตลอดจนการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจด้วยระบบเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น
ความร่วมมือระดับหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะเป็นการเชื่อมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือ Big Brother รวมกว่า 50 บริษัท ที่จะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันหลากหลายมาให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีตัวอย่าง อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด ที่ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัท เดลต้า ประเทศไทย จํากัด ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้กับกลุ่ม SMEs/Startup ทางด้านการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ และบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ให้ความรู้ในเรื่อง วิศวกรรมอุตสาหการ ด้านการออกแบบ พัฒนาวางแผน ควบคุม วิจัยดำเนินงานด้านระบบซอฟท์แวร์ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ให้ความรู้ในเรื่อง เทคโนโลยีในการประกอบอาหาร และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
“กนอ.มุ่งหวังให้ SMEs – ITC ทั้ง 10 แห่ง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพพร้อมกับส่งเสริมให้ SMEs มีการเติบโตทั้งในระดับส่วนกลาง และภูมิภาค รวมทั้งคาดหวังให้ผู้ดำเนินธุรกิจเหล่านี้ได้มีโอกาสนำองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆที่จะเกิดจากการใช้บริการศูนย์ SMEs – ITC มาปรับใช้ทั้งในทางตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีนวัตกรรม – ความสร้างสรรค์ รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจให้มีความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังมีแผนเปิดศูนย์บริการดังกล่าวอีก 10 ศูนย์ ในระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในราวสิ้นปี 2561” อัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี