“ศิลปะ – ผู้สูงอายุรุ่นใหม่” กับความลงตัวในแบบ JAI CRAFT DESIGN





Cr: Jai CRAFT DESIGN 

 
     อะไรคือคุณค่าของผ้าพันคอสักผืนที่คุณนึกถึง?
               
     แน่นอนว่าต้องมากกว่า ดีไซน์สวย เนื้อผ้าดี เช่นเดียวกับที่แบรนด์น้องใหม่อย่าง Jai CRAFT DESIGN (ใจคราฟท์ ดีไซน์) ที่สามารถแจ้งเกิดขึ้นมาได้ท่ามกลางแบรนด์ผ้าพันคอมากมาย ด้วยการสร้างคุณค่าใหม่ที่มากไปกว่านั้น จากการทำงานร่วมกันระหว่างคู่พ่อลูก 2 วัยต่างเจเนอเรชัน ชูศิษฐ์ และ ณภัทร เขียวชะอุ่ม จนก่อเกิดเป็นงานศิลปะสวมใส่ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับทั้งนักออกแบบและผู้ใช้ไปพร้อมกัน
      

     แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN มีที่มาจากคำว่า ใจ ในภาษาไทย ซึ่งสื่อความหมายถึงหัวจิตหัวใจที่รักในงานศิลปะที่กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนงานดีไซน์สิ่งทอสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สูงอายุ
               

    การได้เห็นพ่อที่เกษียณอายุราชการ ขะมักเขม้นกับการนั่งวาดภาพสีน้ำ หลังจากเลิกจับพู่กันมานาน เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจที่ทำให้ณภัทร ผู้ก่อตั้ง Jai CRAFT DESIGN เริ่มทดลองทำโปรเจกต์ผ้าพันคอลายศิลป์ร่วมสมัยกับผู้เป็นพ่อดู
  
   
Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     “ตอนนั้นเราทำงานโฆษณาอยู่ พ่อเข้ามาถามว่า มีงานให้พ่อทำบ้างไหม เพราะเห็นเราจ้างเด็กๆ วาดรูป แต่ในใจเราคิดว่าพ่อคงไม่ทันรุ่นเด็กๆ หรอก” อดีตโปรดิวเซอร์โฆษณาอย่างณภัทร เล่าถึงความคิดเดิมที่เคยมีช่องว่างระหว่างวัยเป็นตัวกั้น จนกระทั่งยังคงเห็นพ่อตั้งอกตั้งใจวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ Passion ในการทำงานศิลปะของพ่อ ทำให้เขาเกิดความคิดอยากนำผลงานของพ่อมาทำให้มีคุณค่าและสร้างความภาคภูมิใจอีกครั้ง โปรเจกต์เล็กๆ ในครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้นจากการออกแบบผ้าพันคอขาย ด้วยทุนตั้งต้นหลักหมื่น มีช่องทางการทำตลาดผ่านออนไลน์และออกบู๊ธตามที่ต่างๆ
               

     “หลายคนเดินเข้ามาที่บู๊ธ เพราะเห็นงานผ้าพันคอของเราแล้วชอบ แต่พอได้รู้จักเรื่องราวของแบรนด์ ยิ่งทำให้เขารู้สึกชื่นชม จนอยากซื้อฝากคนอื่นด้วย เพราะรู้สึกว่ามันมีคุณค่า มีเรื่องราวที่สามารถเล่าต่อได้” ณภัทรเล่า

       
Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     แนวคิดการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ยังทำให้แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN ได้รับการโปรโมตผ่านสื่อช่องทางต่างๆ รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหนึ่งในโชว์เคสธุรกิจงานดีไซน์กับการรับมือกระแสโลกเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 ที่ผ่านมา
               

     ณภัทรบอกว่า แนวคิดหลักของแบรนด์ Jai CRAFT DESIGN คือ ผลิตงานศิลปะที่สวมใส่ได้จากการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุรุ่นใหม่ ความตั้งใจของเขาคือ อยากสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสธุรกิจให้กับกลุ่มผู้สูงอายุรุ่นใหม่ได้นำเสนอและพัฒนาความสามารถของตนเองในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว
               

     “จุดยืนของเราไม่ต้องการใช้คำว่า ผู้สูงอายุมาดึงให้คนเข้ามาสนใจผลงาน มาซื้อเพราะความรู้สึกสงสารว่าคนแก่วาดนะ ช่วยซื้อหน่อยเถอะ แต่เราอยากให้คนที่เดินมาที่บู๊ธเราเพราะสะดุดตาว่าผลงานมันสวย ใช้โปรดักต์เป็นตัวนำ พอเดินเข้ามาแล้วสัมผัสถึงรู้ว่าเป็นผลงานที่ออกแบบโดยผู้สูงอายุ”
  

  Cr: Jai CRAFT DESIGN 
           

     ณภัทรย้ำว่า แนวคิดของแบรนด์ Jai CRAFT DESIGN พยายามใช้คำว่าผู้สูงอายุรุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มผู้สูงอายุแบบนี้ในเมืองไทยอีกเยอะ คือเป็นกลุ่มคนที่ยังมีไฟ พร้อมที่จะเรียนรู้และใช้ความสามารถที่ตัวเองมีในการสร้างสรรค์ผลงาน เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถมากนัก โดยปัจจุบันนอกจากชูศิษฐ์ ผู้เป็นพ่อวัย 65 ปีแล้ว ยังมีเพื่อนคุณแม่ที่มีใจรักในงานศิลปะมาร่วมเป็นศิลปินให้กับแบรนด์อีกด้วย โดยมีณภัทรทำหน้าที่วางคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน พร้อมทั้งดูแลการบริหารจัดการธุรกิจ
               

     ก้าวสู่ปีที่ 2 แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการออกสินค้าคอลเลกชันใหม่ที่สร้างคุณค่าเพิ่ม ด้วยการนำ Story ของแบรนด์ศิลปินผู้สูงอายุรุ่นใหม่ มาบวกกับ Story ของวัตถุดิบใหม่อย่างไหมอีรี่ (Eri Silk)
               

     “ไหมอีรี่เป็นเส้นใยที่มี Story น่าสนใจมาก เพราะเป็นเส้นไหมที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรในภาคอีสาน โดยเรารับรังไหมที่ชาวบ้านเลี้ยงมาทอผสมกับไหมชนิดอื่นเพื่อให้เกิดความเงานิดๆ จนได้เป็นผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของเราเอง”
 

  Cr: Jai CRAFT DESIGN 
     
       
       เรื่องราววงจรชีวิตของไหมอีรี่ ยังกลายมาเป็นคอนเซปต์ในการสร้างสรรค์ผลงานแนว Abstract ที่ใช้ชื่อว่า เส้นใยแห่งชีวิต (Threads of Life) แฝงความหมายและปรัชญาชีวิตบนลวดลายผ้า 3 ผืน 3 โทนสี ทั้งโทนสีสันสดใสไปจนถึงโทนสีน้ำตาล ที่สะท้อนถึงวัฏจักรชีวิตตั้งแต่ช่วงเกิด เติบโต จนกลายเป็นผีเสื้อที่เลือกทางเดินของตัวเอง
               

     นอกจากสินค้าเดิมที่ขายดีอย่างผ้าพันคอแล้ว สินค้าในคอลเลกชันใหม่ยังแตกไลน์มาสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ และของตกแต่งบ้านมากขึ้น อย่าง กระเป๋า และปลอกหมอน โดยวางตำแหน่งธุรกิจเป็นบริษัทดีไซน์ออกแบบลวดลายผ้าพิมพ์ สินค้าไลฟ์สไตล์ และของตกแต่งบ้านจากสิ่งทอ พร้อมทั้งขยับสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังแตกไลน์ธุรกิจมาทำเวิร์กช็อปในรูปแบบ Art Therapy ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันซึ่งกำลังจะเริ่มต้นในปีนี้อีกด้วย
              

 Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     “เราอยากทำให้แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN เป็นเหมือนชุมชนของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่มีคำว่าอายุมาเป็นข้อจำกัด สิ่งที่เราได้รับจากการทำธุรกิจนี้คือ สัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้น เริ่มจากตัวคุณพ่อที่เห็นเลยว่า ทำแล้วมันดีต่อใจเขา และส่งความสุขต่อมาที่ผลงาน ส่งต่อไปยังลูกค้า และความสุขนั้นก็ส่งกลับมาถึงตัวเราด้วยในที่สุด”
           

     และนี่คือคุณค่าของ Jai CRAFT DESIGN ธุรกิจสร้างสรรค์ที่ดีต่อใจทั้งคนออกแบบ คนซื้อ และคนทำธุรกิจอย่างพวกเขา





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน