“คำไทย” คุกกี้พยัญชนะ ของฝากแบบไทยแท้ๆ







     เห็นสินค้าที่นำอัตลักษณ์ของไทยมาใช้ก็มากมาย แต่น้อยรายนักที่จะนำตัวอักษรของไทยมาใช้ ทั้งที่ไทยเองเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้ กมลเนตร ริมชัยสิทธิ์ หญิงสาวที่หลงรักในเสน่ห์ของอักขระไทย จึงได้คิดค้น “คำไทย” คุกกี้ของฝากรูปร่างพยัญชนะไทยและตัวเลขไทยออกมา เป็นงานศิลปะแฮนด์เมดอีกแบบหนึ่งที่ทำออกมาในรูปแบบของอาหารไม่ซ้ำกันเลยทั้ง 44 ชิ้น และ 10 ชิ้นในกล่องเดียวกัน
     


          

     “เริ่มต้นมาจากความสนใจส่วนตัว คือ เรามองว่าเวลานักท่องเที่ยวมาบ้านเราสิ่งที่เขาชอบ ก็คืออะไรที่แตกต่างที่บ้านเขาไม่มี ซึ่งของฝากที่เห็นโดยมากมักนำเสนอออกมาในรูปแบบของวัดวาอาราม ช้าง มวยไทย อาหารไทย ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงภาษาไทย ทั้งที่เราเองก็เป็นเพียงประเทศไม่กี่แห่งบนโลกที่มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตัวเอง เลยคิดว่าจะทำยังไงให้สามารถหยิบจับและสื่อสารเข้าใจได้ง่ายๆ จึงทำออกมาในรูปแบบของคุกกี้รสเนยให้เขาสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝาก เป็นขนมกินเล่นง่ายๆ และได้เรียนรู้ตัวอักษรของไทยไปด้วย ซึ่งหากทำเป็นรูปแบบอื่นที่ยากกว่านี้อาจจะไม่สนุกก็ได้”





     โดยรูปแบบของคุกกี้คำไทยนั้นมีให้เลือก 2 อย่าง คือ 1.คุกกี้พยัญชนะไทย 44 ตัว และ2.ตัวเลขไทย 10 ตัว นอกจากขนมแต่ละชิ้นที่ไม่ซ้ำกันแล้ว ในแต่ละกล่องยังมีแผนภูมิอธิบายตัวอักษรและตัวเลขไทยแต่ละตัว และการอ่านออกเสียง 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ให้สามารถเอากลับไปเล่นไปทายกันได้ด้วยเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ สำหรับราคาขายนั้นหากเป็นคำไทยคุกกี้พยัญชนะไทยจะอยู่ที่ราคาประมาณ 320 บาท และตัวเลขไทย 220 บาท โดยวางจำหน่ายที่โมเดิร์นเทรดและซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างชั้นนำ อาทิ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน เทอมินัลทเวนตี้วัน
 
  
         
    
     แม้จะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของขนม แต่จริงๆ แล้ว คุกกี้คำไทย คือ การทำงานศิลปะอย่างหนึ่งที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การคิดค้นรูปแบบการนำเสนอ ความประณีตในการผลิต เป็นงานแฮนด์เมดที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการขึ้นรูป
               

     “การทำคุกกี้ออกมา 1 กล่องให้รูปแบบออกมาไม่ซ้ำกันเลย ไม่ใช่เรื่องง่าย คุกกี้ของเราไม่เหมือนระบบอุตสาหกรรมที่กล่องหนึ่งทำออกมารูปแบบเดียวซ้ำกันเยอะๆ ของเราทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด ต้องใช้แม่พิมพ์และปั้มมือ เพราะเครื่องจักรไม่สามารถขึ้นรูปแบบนี้ได้ เพราะอักษรไทยมีรายละเอียดของส่วนเว้า ส่วนโค้งค่อนข้างมาก ฉะนั้นกว่าจะได้มาแต่ละกล่องไม่ใช่เรื่องง่าย ราคาคุกกี้ของเราจึงค่อนข้างสูงกว่าคุกกี้อื่นๆ ถึงแม้จะเป็นขนมเหมือนกัน แต่เราตั้งใจวางตำแหน่งสินค้าไว้ที่กลุ่มของฝากและงานศิลปะมากกว่า”  
               




     นอกจากประณีตละเอียด ทำขึ้นมาทีละชิ้นในเชิงงานศิลปะ พิถีพิถันแล้ว คุณภาพของตัวคุกกี้เองก็ไม่แพ้กัน ไม่มีการใส่วัตถุกันเสีย แต่ละชิ้นจะถูกแยกใส่ซองพลาสติกต่างหาก และค่อยบรรจุลงในถาด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โดยไม่ใช้สารเคมีให้มากที่สุด
               

     “นอกจากงานดีไซน์ เรายังให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าด้วย เรามองว่าต่อให้ขยายธุรกิจออกไปมากกว่านี้ เราก็ยังคงจะยึดคอนเซปต์นี้ คือ ความสวยงาม ประณีต มีคุณภาพ และปลอดภัย เพียงแต่อาจหาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้สามารถผลิตได้เยอะขึ้น เพราะทุกวันนี้มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาหาเราเยอะมาก อยากเป็นตัวแทนจำหน่าย แต่กำลังการผลิตเรายังไม่พร้อม รวมถึงเรื่อง shelf life เนื่องจากเราทำแบบแฮนด์เมด วัตถุกันเสียก็ไม่ใส่ จึงทำได้ในปริมาณที่ยังไม่เยอะ อายุการเก็บรักษาได้ไม่นานแค่ 6 เดือน ไม่เพียงพอต่อการทำส่งออก แต่เรามีความคิดที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้น เพราะมีความต้องการของตลาดรองรับอยู่แล้ว”





     กมลเนตรเล่าว่าวัตถุประสงค์จริงๆ ของการทำขึ้นมา นอกจากเป็นของฝาก เผยแพร่คุณค่าตัวอักษรไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพื่ออยากให้คนไทยได้หันกลับมามองว่า นี่คือ อีกหนึ่งคุณค่าของไทยที่ไม่เหมือนใคร เพราะคงมีเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่จะมีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง


     “ความจริงเราอยู่ในตลาดมาจะ 4 ปีแล้ว แต่คนไทยอาจจะเห็นน้อย เพราะวางขายอยู่ในโซนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่วันหนึ่งเราก็ฝันว่าอยากพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ราคาหยิบจับได้ง่ายขึ้น ซึ่งยังมีหลายอย่างของไทยที่เราอยากนำเสนอออกไป อาจเป็นเรื่องของรสชาติที่เพิ่มขึ้น หรือรูปแบบของขนมที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เพียงแค่คุกกี้ แต่ที่ยังคงอยู่คือพยัญชนะไทยและตัวเลขไทย แต่จะออกมาเป็นรูปแบบไหนนั้น รอติดตามชมได้ภายในสิ้นปีนี้”กมลเนตรกล่าวทิ้งท้าย


Facebook : Kum Thai by Sweet Words



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน