Noon Studio จิวเวลรี่เม็ดทราย สร้างความใหม่ด้วย texture ที่แตกต่าง





 
 
     โลดแล่นอยู่ในวงการมาเกือบ 5 ปี แบรนด์ Noon Studio สร้างความยูนีคและแตกต่างให้กับเครื่องประดับโดยการหยิบเอาทรายมาเป็นวัสดุหลักเกิดเป็นจิวเวลรี่ที่มี texture แบบใหม่ที่ดึงดูดใจลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี
 

     สิรี ชิตพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Noon Studio เครื่องประดับจากเม็ดทราย เล่าว่า เริ่มทำแบรนด์มาตั้งแต่ปลายปี 2556 ด้วยความที่จบการออกแบบจิวเวลรี่มาเลยอยากทำแบรนด์เครื่องประดับที่ไม่ได้ใช้วัสดุแบบพิมพ์นิยมหรือไม่ได้ใช้พลอยเหมือนที่คนทั่วไปเขาใช้กันแต่เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่แตกต่างมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน
 

     “เรามีการศึกษาและทดลองกับวัสดุหลายชนิดว่าสามารถเอามาทำเป็นรูปแบบไหนได้บ้าง จนมาตกผลึกที่การนำทรายมาเป็นวัสดุหลักในการทำเครื่องประดับของแบรนด์ เพราะทรายในวงการจิวเวลรี่ยังไม่ซ้ำใคร ยังไม่ค่อยมีใครนำมาใช้สักเท่าไหร่ อีกทั้งส่วนประกอบหลักของทรายจะเป็นพวกซิลิกาที่อยู่ในรูปผลึกของควอตซ์ให้ความระยิบระยับ มีความแวววาว ซึ่งซิลิกาจริงๆแล้วเป็นแร่ธาตุองค์ประกอบส่วนใหญ่ของพวกหินแร่ โอปอล เป็นองค์ประกอบเดียวกัน เราก็เลยรู้สึกว่าทำไมเราไม่เอาทรายมาลองทำดู ก็เริ่มทดลองมาเรื่อยๆ จนเจอวิธีการที่นำทรายมาใช้ได้ดีที่สุด โดยทรายที่ใช้เป็นทรายจากธรรมชาติที่เราไปรับซื้อมาจากตลาดทั่วไป แล้วนำมาผ่านกระบวนการของเราทำเป็นเครื่องประดับ”
 




     แน่นอนว่าการใช้วัสดุที่แตกต่างจากการทำเครื่องประดับอื่นๆ ทำให้แบรนด์ต้องเจอกับความท้าทายในการหาคนมาทำการผลิต
 

     “เรื่องของการผลิตมันก็จะค่อนข้างยากเพราะว่าเป็นของใหม่ ไม่มีคนมารับผลิต หาที่ผลิตไม่ได้ วิธีแก้คือเราต้องมานั่งสอนและเทรนคน ส่วนขั้นตอนของการผลิตถ้าเป็นในส่วนของตัวโลหะจะเป็นการจ้างโรงงาน แต่พวกประกอบ เราจะต้องเอามาประกอบเอง เพราะมันเป็นเทคนิคของเราและเราไม่อยากให้แบบหลุด เป็นเหตุผลสองอย่างที่เราไม่ค่อยอยากจะจ้างทั้งหมด หรืออาจจะจ้างหลายๆที่แล้วเอามาประกอบที่เรา ยังไงสุดท้ายผลงานที่จะเกิดขึ้นต้องจบที่เรา เหมือนแต่ละที่ก็จะไม่รู้ว่าแบบอันนี้มันจะเป็นยังไง อย่างแหวนก็ขึ้นตัวเรือนจากที่อื่น แล้วเราก็มาใส่หัวแหวนเอง เพราะฉะนั้นมันต้องมาจบที่เรา”
 

     แม้ความใหม่และแตกต่างจะสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับทางแบรนด์ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายในการที่ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจและกล้าใช้โปรดักต์เช่นกัน
 

     “ด้วยความที่การใช้ทรายมาทำเครื่องประดับยังมีความใหม่อยู่มาก บางทีคนจะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ใช้พลอยล่ะ ก็จะมีคำถามแบบนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แล้วเราก็รู้สึกอยากให้คนจำเราได้เพราะเราต้องการสร้างความแตกต่างอยู่แล้ว ไม่งั้นเราจะทำมาทำไม เราจะทดลองมาทำไม ดังนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ใช้เวลาในการที่คนจะจำและเข้าใจเรานานสักนิดมากกว่าสินค้าอื่นที่เขาใช้พลอย กว่าคนจะเข้าใจ เริ่มกล้าใส่ รู้สึกว่ามันโอเค ก็จะใช้เวลานานนิดหน่อยด้วยความที่เรามี texture ที่แตกต่าง”


 

     แต่อย่างไรก็ตาม ความใหม่และแตกต่างไม่เพียงสร้างแต่ความท้าทายเท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้แบรนด์เป็นตัวกลางรับทำ OEM หรือรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าที่สนใจทำเครื่องประดับจากทรายอีกด้วย
 

     “นอกจากลูกค้าที่ต้องการจิวเวลรี่ที่เป็นทรายจะมาหาเราแล้ว ตอนนี้ทางแบรนด์ยังรับกระทั่งเป็นตัวกลางทำ OEM ให้คนที่อยากผลิตจิวเวอรี่ที่เป็นทรายอีกด้วย ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับทางเราเพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปผลิตที่ไหนถ้าไม่มาผลิตกับเรา แม้เราไม่ได้มีโรงงานเป็นของตัวเอง เป็นเพียงการรับออเดอร์ อย่างพวกโรงงานหล่อก็จะเป็นของที่อื่นหรือเจ้าอื่นเป็นซัพพลายเออร์ แต่เทคนิคการประกอบทรายก็ต้องกลับมาจบที่เรา”
 

     นอกจากนี้  สิรี ยังบอกอีกว่า ทางแบรนด์มีการเน้นกลุ่มลูกค้าไปที่ประเทศหรือแถบที่คนจะสามารถอินกับทรายได้ เพราะลูกค้าจะมีความเข้าใจในผลงานหรือโปรดักต์ของแบรนด์ได้ดีกว่า
 

     “กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตลาดค่อนข้างจะกว้างเพราะแบบของแบรนด์มีทั้งแบบวัยรุ่นและผู้ใหญ่ จะดูไม่ค่อยเชย วัยรุ่นใส่ก็ได้ ผู้หญิงที่มีอายุขึ้นมาหน่อยที่ยังแต่งตัวอยู่ก็ยังใส่ได้ ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนมากเป็นชาวตะวันออกกลางจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เพราะด้วยความที่ทรายมีความใกล้กับวัฒนธรรมของเขา ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน