ยางพาราไทย นับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มียอดส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยมูลค่าการส่งออกยางพาราดิบรวม 1.7 แสนล้านบาทในปี 2558 โดยคิดเป็น 87% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่มีมูลค่าการแปรรูปยางพาราสูงถึง 2.07 แสนล้านบาท คิดเป็น 13% เท่านั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนของการแปรรูปยางพารา คิดเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แต่กลับสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการส่งออกในรูปยางพาราดิบ
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) จึงมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ SME กลุ่มยางพาราให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ในเรื่องนี้ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการหลักสูตร SME - D Scaleup Rubber Innovation ครั้งแรกประเทศไทย
โดยเป็นหลักสูตรการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจยางพารารูปแบบใหม่ที่ต้องการสร้างแนวคิดสร้างสรรค์ผสมผสานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มของยางพาราผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถออกสู่ตลาดโลกได้จริง รวมถึงเอื้อโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากทางธนาคาร เพื่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นมิติใหม่การพัฒนา การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากวิทยากรชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นกูรูตัวจริงในแวดวงธุรกิจยางพารามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้พร้อมเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลฟูมฟักตั้งแต่การเริ่มต้นกระบวนการคิดสู่การต่อยอดธุรกิจ การสร้างมาตรฐาน และส่งเสริมการตลาด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์การแปรรูปยางพาราออกเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับหลักสูตรการเรียนจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ อาทิ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวาณิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยางพาราระหว่างประเทศ รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ นักวิจัยด้านยางพารา ระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และบอร์ดบริหารการยางแห่งประเทศไทย ธีรศักดิ์ วงศ์ปิยะ กรรมการผู้จัดการประเทศไทย บริษัท โบลด์ กรุ๊ป ที่ปรึกษานวัตกรรมที่ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับบริษัทชั้นนำของโลก เช่น BMW, Shell, CPALL ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สวทน. และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา นิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัทพลีอาดีส บางกอก จำกัด ผู้ให้บริการ Content Solution & Knowledge Management เพื่อการสื่อสารมวลชนและโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที สื่อมวลชนผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าการเกษตรยาง ปาล์ม และข้าว
ทั้งนี้ การอบรมจะเน้นภาคปฏิบัติสร้างประกายจุดแนวความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม เทคโนโลยี การแชร์องค์ความรู้ การต่อยอดการตลาดและการสื่อสารทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจแปรรูปยางพารา ซึ่งจะมีค่ายฝึกปฏิบัติจริงระยะเวลาหลักสูตรอบรม 3 เดือน ตั้งแต่มิถุนายน ถึงกันยายน 2561 และจะมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดอีก 2 เดือน ช่วงตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ธนาคารจะให้การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำกับผู้เข้าร่วมอบรมที่มีศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่ตลาด เพื่อการสร้างและต่อยอดธุรกิจรวมถึงการส่งเสริมการตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถเติบโตแบบยั่งยืน โดยธนาคารมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อาทิ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 เพื่อใช้เป็นเงินทุนยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี และปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรกด้วย ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในประวัติศาสตร์การให้บริการสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินไทย สามารถกู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้กู้เป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล) ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้จะมีประวัติการชำระเงินไม่สม่ำเสมอ ก็สามารถกู้ได้ โดยใช้เอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อ เป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกัน ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปีแรก
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 18 มิถุนายน 2561 และจะมีการพิจารณาคัดเลือก ประกาศผลภายใน 30 มิถุนายน 2561 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 074-282267-69 และ 099-4819032 หรือสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ เฟสบุ๊ก : Powersmethai (ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี)
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี