SQOOdio สคูดิโอการปัก ตอบโจทย์แบรนด์ใหม่ ปักได้ไม่ต้องมีขั้นต่ำ







     เมื่อการผลิตสินค้าจากโรงงานส่วนใหญ่โรงงานมักจะรับผลิตสินค้าที่ต้องมี ‘ขั้นต่ำ’ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำแบรนด์หรือ SME เล็กๆ ต้องคิดหนักเวลาที่อยากจะทดลองทำสินค้าใหม่ๆ อะไรสักอย่าง ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับวงการงานปักเช่นเดียวกัน SQOOdio สคูดิโอการปัก หนึ่งในผู้ที่จะเข้ามาตอบโจทย์คนรักการทำงานปักด้วยการรับปักโดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ ลิษา พรกีรติกุล’ ผู้ก่อตั้งสคูดิโอการปักได้เล่าว่าจุดเริ่มต้นของเธอนั้นเกิดขึ้นตอนที่เธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรประเภทนี้ประกอบกับเพื่อนของคุณแม่ลิษาได้เล็งเห็นว่าเธอเริ่มมีความรู้ในด้านนี้และจุดประกายความคิดว่าเธอน่าจะสามารถมีธุรกิจด้านนี้เป็นของตัวเองได้ นอกจากนี้ด้วยความที่เธอเองเรียนจบด้านดนตรี ชื่นชอบเรื่อง Textile ซึ่งมีความเป็นศิลปะเช่นเดียวกับงานปัก เธอจึงมองว่าน่าจะสามารถใช้ธุรกิจด้านนี้สื่อสารความชอบด้านศิลปะออกมาได้ จึงกลายเป็นสคูดิโองานปักในที่สุด





     โดยลิษาได้อธิบายในเรื่องของธุรกิจงานปักว่ามีหลายสเกลด้วยกัน มีตั้งแต่ร้านปักเล็กๆ ที่เราสามารถเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปที่รับปักชื่อเสื้อนักเรียนไปจนถึงโรงงานปักขนาดใหญ่ที่รับปักจำนวนเยอะๆ ต้องมี Volume ในการปัก ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการหรือคนเริ่มทำแบรนด์จะสามารถดีลกับโรงงานเหล่านี้ได้เพราะแค่เรื่องของจำนวนขั้นต่ำก็อาจทำให้ท้อใจแล้ว


     “เรามองว่าธุรกิจทั่วไปที่จะวิ่งหาโรงงานมันยาก เพราะว่าเขาต้องมีขั้นต่ำ ต้องผลิต Volume เยอะๆ เราเลยมองว่างั้นโอเค ร้านเราไม่ต้องมีขั้นต่ำก็ได้ อย่างบางคนเขาเพิ่งเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มทำโพรดักส์ ถ้าไปเจอขั้นต่ำเขาก็ไม่ไหว เราเลยรองรับลูกค้ากลุ่มที่เป็น SME เหมือนกัน”





     จุดเด่นของงานปักที่แตกต่างจากงานสกรีนหรืองานอื่นๆ นั่นเป็นเพราะความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนที่มีมากกว่างานสกรีน นอกจากนี้เป็นมี Texture ที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าของคุณได้มากกว่างานสกรีน


     “ธรรมชาติของงานปักเรามองว่ามันมีความ Premium มากกว่า มันจะดูมี Value มากกว่า สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของคุณได้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็มองว่าแบบนั้น พอสินค้าถูกเอามาปักมันจะดูมีราคา ดูสวยขึ้น งานปักมันก็คืองานอาร์ตอย่างหนึ่ง มีเรื่องของฝีเข็ม มันมีมิติมากกว่างานสกรีนในบางครั้ง ถ้าไม่ได้นับงานสกรีนที่เป้นภาพแบบเรียลๆ นะ งานปักมันจะมี Texture มีความนูน ความเงาของไหม”





     กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของสคูดิโอการปักมีทั้งกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำแบรนด์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการปักสินค้านำไปแจกเป็นของพรีเมี่ยม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาสายแฟชั่น ปักงานทีสิสหรือกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ปักเสื้อนักเรียนก็ยังมีเช่นกัน โดยเธอบอกว่าเธอรับงานทุกประเภท ทุกกลุ่มลูกค้า ยิ่งท้าทายยิ่งชอบ

     “เรารับลูกค้าทุกแบบ งานแฟชั่นเราก็มีทำ งานทีสิสของนักศึกษาก็มี ส่วนใหญ่จะเป็นงาน Custom Made เช่น งานที่เอาไปใช้ในการถ่ายโฆษณา บางงานใช้ 1-2 ชิ้นแล้วต้องปักในที่ที่เราก็ปวดหัว บางงานดูแบบจะเป็นไปไม่ได้ เราก็รับ เราชอบทำเพราะมันท้าทายดี หรือบางทีงานยากๆ อย่างพวกเสื้อที่สำเร็จรูปมาแล้ว เพราะมันจะมีข้อจำกัดเรื่องของการใส่สะดึงเข้าไปในในเครื่อง บางทีเดี๋ยวติดแขน ติดคอปกเสื้อ ที่ยากสุดคือเสื้อนักแข่งรถที่เป็นชุดหมี เขาต้องการให้ปักโลโก้ไว้ตรงกลาง ซึ่งมันติดซิปแล้วมันต้องปักให้พอดี มันก็ท้าทายเราดี”





     ความน่าสนใจของงานปักไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามแต่มันยังเข้ากับเทรนด์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ด้วย นั่นคือการที่ผู้คนในยุคใหม่ชอบอะไรที่มีความยูนีค ทำให้งานปักสามารถตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการทำสินค้าแบบ Customize ได้เป็นอย่างดี


     “เดี๋ยวนี้ลูกค้าต้องการความบ่งบอก Identity ของตัวเอง เพราะฉะนั้นในงานปักมักจะมาในรูปแบบของ Custom made แต่ละแบรนด์ก็สามารถใช้งานปักเพิ่มกิมมิกของตัวเองได้ ลองดูตอนนี้ในโลกออนไลน์มีร้านเกิดใหม่เยอะมากและทุกคนพยายามที่จะทำอะไรแบบ Custom Made เช่น ให้ลูกค้าใส่ชื่อตัวเองได้ เลือกลายตัวเองได้ ใส่หน้าตัวเองลงไปได้ ผู้บริโภคต้องการหนีจากความ Mass ไม่อยากใส่แล้วต้องไปชนกับคนอื่น คนพยายามหาอะไรที่ใส่แล้วยูนีค”


     ลิษาได้ปิดท้ายว่าการทำธุรกิจงานปักที่สำคัญที่สุดคือต้องจริงใจกับตัวเองและลูกค้า เวลาที่ทำงานต้องไม่เอาเปรียบลูกค้า


     “ความจริงใจต้องมาก่อนเพราะเราทำงานที่เราชอบ เราก็อยากให้มันออกมาดี ต้องจริงใจและไม่เอาเปรียบลูกค้า เราเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่ทำธุรกิจให้เลี้ยงตัวเอง เซอร์วิสให้ลูกค้าแฮปปี้ ไม่จำเป็นต้องรวยร้อยล้าน”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน