​เจาะวิธีคิด Diamond Dust แก้เกมธุรกิจ จับตลาดน้ำแข็งพรีเมียม







     เพราะภาพจำในวัยเด็กของ ยศพล วัธนเวคิน โรงน้ำแข็งเป็นธุรกิจที่ไร้ความศิวิไลซ์ อีกทั้งยังเห็นพ่อต้องทำงานหนัก และไม่เป็นเวลา นั่นทำให้เขาและพี่น้องไม่เคยคิดฝันอยากเข้ามารับช่วงกิจการต่อจากพ่อเลยแม้แต่นิด แต่ใครจะคาดคิดเมื่อชีวิตพลิกผันให้เขาต้องเข้ามาดูแลโรงน้ำแข็งต่อจากพ่อ จากธุรกิจที่ไม่เคยอยู่ในสายตา เขากลับใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น 30% และยังต่อยอดสู่การเป็นธุรกิจน้ำแข็งแบรนด์พรีเมียม Diamond Dust  ซึ่งทำให้โรงน้ำแข็งของเขาลอยตัวขึ้นมาโดดเด่นอยู่บนตลาดพรีเมียม


     ยศพลเล่าว่าสมัยที่เขาเข้ามาดูแลกิจการโรงน้ำแข็งใหม่ๆ เป็นยุคที่โรงน้ำแข็งยังต้องพึ่งยี่ปั๊ว ซาปั๊วมารับซื้อน้ำแข็งไปขายส่งให้กับร้านค้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของโรงน้ำแข็งมาก ความอึดอัดต่ออิทธิพลเก่าที่เน้นแข่งขันกันที่ราคา เป็นแรงกดดันที่พลักดันให้ยศพลคิดยกระดับสินค้า และบริการของเขาให้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น





     “เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่เป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊วเก่า พวกนี้ส่วนใหญ่โตมากับรถส่งน้ำแข็ง ผมเพิ่งมาใหม่จะไปสู้อะไรกับคนพวกนี้ได้ สิ่งที่ทำได้ ก็คือต้องยกระดับให้ขึ้นมาเล่นในตลาดพรีเมียม ซึ่งตลาดน้ำแข็งไม่เคยมีมาก่อน ช่วงนั้นพอดีเมกะบางนากำลังเปิดใหม่ ผมเอาความคิดตัวเองเข้าไปคุยกับผู้บริหาร บอกจะทำห้องเย็นไว้เป็นเซ็นเตอร์กลางห้าง แล้วพร้อมรับผิดชอบปัญหาทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นให้กับห้าง ไม่ว่าปัญหาน้ำหยด น้ำแข็งไม่สะอาด ราคาน้ำแข็งไม่ได้มาตรฐาน โกงน้ำหนักน้ำแข็ง ห้างไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องพวกนี้ คอนเซปต์ผมโดนใจเขา จนเราได้ดิวนี้มาเป็นผู้รับผิดชอบส่งน้ำแข็งให้กับร้านค้าในเมกะบางนาทั้งหมด





     “ช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ผมยอมขายขาดทุน เพื่อที่จะเปลี่ยนภาพจำของคนว่ากระสอบใช้ใส่น้ำแข็งไม่ได้ มันสกปรก การบรรจุถุงต้องทำเป็นระบบปิดทั้งหมด ผู้บริโภคต้องเป็นคนแรกที่ได้จับน้ำแข็งนี้ แรกๆ ร้านค้าก็ยังเชื่อเรื่องราคา มีคำถามแบบเดิมๆ เช่น น้ำแข็งคุณกี่โล เจ้านั้นให้เท่านั้นเท่านี้กิโล คิดๆ แล้วไม่คุ้ม คนกินไม่เห็นหรอกว่ามันใส่ถุง หรือใส่กระสอบมา แต่ไม่ว่าจะโดนร้านค้าปฏิเสธมายังไง ผมก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่ผมคิด สมัยนี้ลูกค้ายอมจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อน้ำขวดกิน แล้วทำไมถึงไม่กล้าจ่ายแพงเพื่อซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขอนามัยของผมกิน”





     การยกระดับน้ำแข็งขึ้นมาเป็นพรีเมียม และได้เป็นผู้จำหน่ายเพียงผู้เดียวในห้างใหญ่อย่างเมกะบางนา ได้ต่อยอดโอกาสใหม่ กระทั่งสามารถขยายแนวคิดน้ำแข็งพรีเมียมของยศพลออกสู่ตลาดกว้างครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล


     “พอทำได้สักพัก ผมก็เอาตัวเลขมาดู สังเกตว่าร้านกาแฟร้านหนึ่งใช้น้ำแข็งเท่ากับร้านอาหาร 7 ร้าน และเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่อเมซอนเข้ามาในเมกะบางนาพอดี เฉพาะสาขาในเมกะบางนา อเมซอนใช้น้ำแข็งเท่ากับร้านอาหาร 20 ร้าน เราก็เลยเข้าไปคุยกับผู้จัดการของอเมซอน ซึ่งเขาก็ยินดีกับคุณภาพน้ำแข็ง และการบริการของเรา ก็เลยตอบตกลงใช้น้ำแข็งของเราทุกสาขา คราวนี้ Diamond Dust เลยได้ทลายออกจากเมกะบางนากระจายไปทั่วตลาด เราได้ส่งไปตามสาขาต่างๆ ของอเมซอน ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำแข็งของเราแพงกว่าคนอื่น 5-10%  แต่ถ้าเทียบกับมูลค่าแบรนด์ของอเมซอน วันนี้หลายพันล้านแล้ว สำหรับเขาจ่ายค่าน้ำแข็งแพงขึ้นมาอีกหน่อยแลกกับความมั่นใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับแบรนด์ของเขา ผมว่ามันคุ้มนะ”
  

      
     
    ถึงวันนี้ แม้จะมีแบรนด์น้ำแข็งพรีเมียมเพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่ยศพลก็ไม่รู้สึกกลัว ตรงกันข้าม เขากลับมองว่านี่คือบทพิสูจน์ถึงสิ่งที่เขาเชื่อ และทำให้เขามั่นใจยิ่งขึ้นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าตามความเชื่อของตัวเอง ด้วยการยกระดับโรงน้ำแข็งของตัวเองให้ได้มาตรฐานระดับโลก อย่าง GMP HACCP  ซึ่งแม้จะมีคนทักเหมือนกันว่าสินค้าเป็นแค่น้ำแข็งจะทำมาตรฐานโลกไปทำไม แต่สำหรับเขาแล้ว Diamond Dust ไม่ใช่แค่น้ำแข็งที่ให้ความเย็น แต่คือความสะอาด ที่กินได้ดื่มได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเขาเชื่อว่าเทรนด์ทั่วโลกไปทางนี้ การก้าวไปก่อนคนอื่น นั่นหมายถึงโอกาส ซึ่งหากวันหน้าแบรนด์ข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามแต่ที่ต้องใช้น้ำแข็งเข้ามาในไทย Diamond Dust จะเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่แบรนด์ระดับโลกต้องเลือก



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน