​กว่าเป็นสวนผักอินทรีย์ Smart Nine Farm ธุรกิจสุขภาพตอบโจทย์คนเมือง






 
     แม้ว่ากระแสของการบริโภคผักจะมาแรงรับเทรนด์สุขภาพ แต่หลายคนก็ยังไม่ค่อยมั่นใจผักทั่วไปที่ขายอยู่ในตลาดเนื่องจากเต็มไปด้วยสารเคมีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แถมผักในห้างยังราคาสูง จะซื้อทียังต้องคิดแล้วคิดอีก ด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง เต้ อัญชรี อัสววิมล ที่ต้องการอยากกินผักสดๆ กรอบๆ ที่ดีต่อสุขภาพไร้สารเคมี เลยกลายมาเป็น Smart Nine Farm ฟาร์มผักออแกนิกเล็กๆ ที่คุณภาพไม่เล็ก ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองอย่าง ‘บางใหญ่’ ที่พร้อมเสิร์ฟกลุ่มลูกค้าคนเมืองให้เข้าถึงผักสดอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
 
 



     “แต่เดิมเราเป็นคนชอบปลูกผักทานเองอยู่แล้ว รอบๆ บ้านเราก็จะมีผักสวนครัวที่เราปลูกเอง พอเราออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเวลาที่หาซื้อผักมาทำอาหาร ผักปลอดภัยมันก็หายาก มีแช่น้ำยาบ้างแบบนี้ ทีนี้เราเลยได้คุยกับพี่คนหนึ่งที่เขามีความฝันอยากทำสวนเลยชวนเขาออกจากงานมาทำด้วยกันเพราะว่าเราก็มีที่อยู่แล้ว เริ่มแรกเราก็มีแพลนจะทำเป็นธุรกิจแต่ก่อนอื่นเราต้องลงมือทำก่อน ให้เรามีความชำนาญ แรกๆ ก็มานั่งขุดดินกัน เป็นลมบ้างอะไรบ้างเพราะไม่เคยทำมาก่อน ทำอยู่ 3 วันได้ไม่ถึงครึ่งแปลง จนต้องเริ่มหาตัวช่วยคือรถไถคันเล็กชีวิตก็ง่ายขึ้น เราเริ่มจากปลูกผักที่เราชอบกิน ผักสลัดก็ปลูกเยอะหน่อย ผักสวนครัวก็จะมีพวกคะน้า ผักบุ้ง พริก มะเขือเทศ พอผลผลิตมันเริ่มขึ้น เราก็เก็บแล้วมันเยอะมาก กินไม่ทันเลยแจกเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าทุกคนบอกว่าอร่อยจัง สด กรอบมาก เหมือนกับว่ามันตอบโจทย์คน เขาก็ติดใจ หลังๆ เลยเกรงใจขอซื้อ เริ่มมีกลุ่มลูกค้าจากเพื่อนบ้าน”
 



 
     จากฟาร์มที่ทดลองทำเล็กๆ เริ่มต้นแค่ครึ่งถาดจนในตอนนี้ต้องลงปลูกครั้งละ 10 กว่าถาด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบในความสด กรอบ อร่อยของผักที่ได้มาสดๆ จากในฟาร์มโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังบอกกันปากต่อปาก ทำให้ผักในฟาร์มของ Smart Nine Farm กลายเป็นที่ต้องการของลูกค้า มีมาเท่าไหร่ก็หมด
 



 
     “ของเราจะเริ่มต้นด้วยการทำตาม Demand ของลูกค้า เขาต้องการเท่าไหร่เราก็เริ่มทำเท่านั้น แรกๆ เราเพาะผัก ปลูกผักแค่ครึ่งถาด หนึ่งถาด พอผักมาคนบอกว่าไม่พอ เราก็ขยายเป็น สองถาด สามถาด จนตอนนี้ต้องเพาะอย่างละ 10 กว่าถาด คนเริ่มรู้จักเราเพราะปากต่อปาก เพื่อนแนะนำเพื่อน เราเลยต้องมีการวางแผนการปลูกให้มีผักอย่างต่อเนื่อง พอรู้ว่าผักจะต้องเก็บเราก็จะเพาะต้นกล้าเตรียมปลูก ต้องเตรียมดินให้พร้อม พอดินพร้อมก็ลงต้นกล้า มันก็จะมีผักต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าของพี่จะเน้นเป็นกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ไม่ใช่ร้านค้าหรือห้าง เพราะเรารู้สึกว่าเราเองเป็นคนทำกับข้าว เวลาทำอาหารก็อยากได้ของสดๆ เวลาได้กินผักสดๆ มันดีนะ มันอร่อย เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราก็อยากให้ลูกค้าเขามีฟีลลิ่งนี้เหมือนกัน เพราะความเป็นคนเมืองมันเข้าถึงฟาร์มยาก หาแหล่งผลิตโดยตรงยาก ถ้าอยากได้ของสดต้องไปต่างจังหวัด เราทำมีฟาร์มแบบนี้ ลูกค้าก็ได้ของสด ผลผลิตก็เก็บได้นานขึ้น อย่างผักเราก็อยู่ได้ 2 สัปดาห์”
 

             
  
     อีกหนึ่งจุดเด่นของ Smart Nine Farm คือความใส่ใจตั้งแต่เรื่องของดิน ฟาร์มแห่งนี้จะให้ความสำคัญกับดินเป็นอย่างมากเนื่องจากหัวใจสำคัญของผักที่ดีนั้นมาจากดินที่ดีและอุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ เลย
               
 
     “เราจะเน้นความเป็นธรรมชาติสุดๆ พี่โตมากับคุณครูที่เขาสอนว่าเวลาปลูกผักให้ปลูกด้วยดินนี่แหละ ให้ใช้ปุ๋ยคอกนะ เราก็อยากให้คนสัมผัสว่าผักที่มันปลูกด้วยดิน ด้วยปุ๋ยคอกความรู้สึกมันเป็นแบบนี้นะ แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกลไกของมันก่อนว่าถ้าดินดีผักก็จะงาม เราจะมีวิธีการทำยังไงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ คือเราจะต้องมีอาหารและแร่ธาตุให้ครบ เราเลยใช้วิธีการบ่มดิน ให้ดินมีอาหารที่สมบูรณ์ ด้วยการใช้ปุ๋ยคอกโรยลงไปในแปลงจากนั้นเปิดน้ำรดให้ชุ่ม มันก็จะละลายกลายเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ในดิน พอดินมีจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ก็จะกลายเป็นอาหารให้พืชต่อไป”

   
            
 
     นอกจากที่คุณสามารถซื้อผักสดที่ Smart Nine Farm ได้แล้ว ที่นี่ยังมีขายสลัดอกไก่ ไส้อั่ว ซึ่งสามารถสอบถามได้ในเพจ www.facebook.com/smartninefarm ให้จัดส่งได้แบบเดลิเวอรี่ผ่านไลน์แมน โดยผัดสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท เซ็ทเล็ก 50 บาท ซึ่งเต้ได้บอกว่าขายผักอย่างเดียวรายได้อาจจะไม่มากนัก ผู้ประกอบการทางด้านนี้อาจจะต้องเริ่มมองหาวิธีการเพิ่มมูลค่าอย่างการทำผักตกเกรดมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
 




     “ถ้ารายได้จากผักจริงๆ มันน้อย กว่าจะได้มาแต่ละบาทก็ยาก ถ้าอยากให้รายได้พอกพูนอีกทางหนึ่งก็คือต้องแปรรูป อย่างที่เราเอาผักตกเกรด ต้นเล็กๆ มาตัดแต่งให้กลายเป็นผักสลัดพร้อมทาน เราก็ทำเป็นสลัดอกไก่ อกไก่หมักด้วยน้ำมันมะกอก เริ่มต้นจากการที่เราทำแจกเพื่อนบ้าน แล้วเพื่อนบ้านก็บอกว่าอร่อย เราเลยลองทำขายดู นอกจากนี้ก็มีไส้อั่วไร้มัน ต่อไปก็คิดจะทำเป็นสลัดโรลและน้ำผักปั่น พอเราเอาผักมาแปรรูปแบบนี้มันก็ช่วยในการต่อยอดได้ด้วย”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน