ในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาทำการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายจากผู้ปกครองอย่างคึกคัก ทั้งผู้ให้บริการด้านการศึกษา อย่างโรงเรียนเอกชน โรงเรียนกวดวิชา และสถาบันเสริมทักษะต่างๆ รวมถึงผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายจากผู้ปกครองสะพัดสู่ธุรกิจต่างๆ ตามมา
สำหรับในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาต่างเร่งทำการตลาด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายจากผู้ปกครองล่วงหน้า และช่วงชิงกำลังซื้อในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า
ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 โดยมีการปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ควบคู่หารายได้เสริมเพิ่ม อีกทั้งส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน ยกเว้นค่าชุดนักเรียน ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่ค่าเรียนเสริมทักษะ เช่น ภาษาต่างประเทศ ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น
การที่ค่าใช้จ่ายกลุ่มค่าเรียนเสริมทักษะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ทรงตัว เป็นการสะท้อนว่า ผู้ปกครองหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของบุตรหลานมากขึ้น เช่น ภาษาต่างประเทศ คอมพิวเตอร์ จินตคณิต ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น นอกเหนือจากทักษะด้านวิชาการ เพราะด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรุดหน้า ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการแรงงานในอนาคต รวมถึงความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย หรือมีทักษะใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอื่นๆ สำหรับบุตรหลานเพิ่มเติม
คาดเปิดเทอมใหญ่ปี’ 61 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ใช้จ่ายเงินสะพัด 27,500 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นค่าเทอม 13,200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม (เช่น ค่าบำรุงการศึกษา) 4,600 ล้านบาท ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน 4,300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (เช่น ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา ค่าเรียนเสริมทักษะ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ) รวมกัน 5,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้การใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่การใช้จ่ายของผู้ปกครองกลุ่มที่ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินที่มีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานเพิ่มเติม เช่น ย้ายบุตรหลานจากโรงเรียนรัฐบาลมายังโรงเรียนเอกชน เป็นต้น ประกอบกับผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา ควบคู่ไปกับการเรียนเสริมทักษะ ยังสามารถหนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 โดยรวมยังสามารถขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เร่งทำการตลาด กระตุ้นการใช้จ่ายจากผู้ปกครอง
ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ยังคงต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรึงราคาสินค้า ท่ามกลางการแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มที่ผู้ปกครองปรับลดค่าใช้จ่ายสินค้าด้านการศึกษาด้วยการให้บุตรหลานยังใช้ของเดิมที่มีอยู่ หรือให้น้องใช้ของต่อจากพี่ อีกทั้งยังมองหาสินค้าราคาไม่แพง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อในระยะเวลาสั้นๆ เป็นไปอย่างรุนแรงขึ้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการทำการตลาด และจัดโปรโมชั่นด้านราคา เพื่อดึงดูดเม็ดเงินใช้จ่ายจากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ประกอบการยังขยายช่องทางการขายเพื่อเข้าถึงผู้ปกครองได้อย่างสูงสุด ทั้งหน้าร้านของตนเอง ร้านค้าปลีกขนาดเล็กและใหญ่ ไปจนถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
สำหรับโรงเรียนกวดวิชา เผชิญภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในระยะที่ผ่านมาจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และการแข่งขันจากติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่ม โดยผู้ประกอบการบางรายทยอยปิดสาขาบางสาขาลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี จากค่านิยมของผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ต้องการให้บุตรหลานศึกษาในโรงเรียนที่มีความเข้มข้นทางวิชาการและหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงโรงเรียนที่มีชื่อเสียง น่าจะยังส่งผลให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการให้บุตรหลานเรียนกวดวิชา โดยแนวโน้มการเรียนกวดวิชาน่าจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จากการเรียนการสอนที่สาขา ไปสู่การเรียนการสอนผ่านทางสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ เช่น e-Learning สื่อมัลติมีเดีย สื่อออนไลน์ เป็นต้น มากขึ้น
ในส่วนของสถาบันเสริมทักษะต่างๆ ยังได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุตรหลานในด้านต่างๆ โดยการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการสถาบันเสริมทักษะต่างๆ ยังไม่รุนแรง รวมถึงยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ครองตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังสามารถเร่งทำการตลาดเพื่อขยายฐานนักเรียนใหม่ๆ ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี