​สูตรสำเร็จ “คุณเหวิน” โตด้วยกลยุทธ์เสิร์ฟเร็ว บนทำเลทางด่วน







     ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมแวะซื้ออาหารระหว่างการเดินทาง เปิดโอกาสให้แบรนด์ “คุณเหวิน” ร้านซาลาเปา ขยับขยายธุรกิจมาสู่การเสิร์ฟอาหารบนทำเลทอง อย่างจุดพักรถทางด่วนประชาชื่นขาออกหรือ The Rest Area Prachachuen จุดพักรถทางด่วนแห่งใหม่ที่เปิดให้บริการเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว


     จากการเปิดเผยของ ศิรินันท์ อเนกวิโรจน์ เจ้าของร้านซาลาเปาคุณเหวิน เล่าว่า เริ่มทำธุรกิจมาตั้งตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 9 ปีแล้ว ตอนแรกทำซาลาเปาทานกันเองที่บ้านเฉยๆ พอได้รับคำชมจากคนรอบข้างมากขึ้น จึงจุดประกายให้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง





     “ด้วยความที่เป็นลูกหลานคนจีนเลย ทำให้ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลหรือวันธรรมดาก็จะทำซาลาเปาทานกันเองที่บ้านอยู่แล้ว พอเริ่มมีคนชมว่าอร่อยมากขึ้นเลยเป็นที่มาของการเปิดร้าน บวกกับตอนนั้นคู่แข่งในตลาดอย่างซาลาเปา ยังมีไม่เยอะ ถ้าเทียบกับพวกร้านขนมปังหรือเบเกอรี่ อีกทั้งการได้ทานอะไรอุ่นๆ อย่างซาลาเปาในตอนเช้า นอกจากจะอิ่มท้องแล้วยังทำให้รู้สึกดีอีกด้วย”





     แม้เริ่มต้นด้วยการขายเฉพาะขนมจีบ ซาลาเปา แต่การได้โอกาสไปเปิดร้านที่จุดพักรถทางด่วนประชาชื่นฝั่งขาออกทำให้แบรนด์ได้แตกไลน์ธุรกิจออกมาเป็นร้านอาหารจีนชื่อ ครัวคุณเหวิน ที่นอกจากจะคงเมนูเดิมอย่างขนมจีบ ซาลาเปาไว้แล้ว ยังเพิ่มเมนูอาหารอย่างก๋วยเตี๋ยวและข้าว ที่เน้นการใช้ปูเป็นวัตถุดิบหลัก เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าที่ใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางอีกด้วย





     “จริงๆ แล้วเรามีร้านตรงจุดพักรถทางด่วนประชาชื่นทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก โดยฝั่งขาเข้าจะขายเฉพาะเมนูพวกขนมจีบ ซาลาเปา แต่ถ้ามีอาหารอย่างอื่นด้วยจะเป็นร้านที่อยู่ตรงฝั่งขาออก ที่เลือกขายตรงทำเลนี้เพราะเป็นเส้นถนนที่คนผ่านเยอะมากและมีรถสัญจรผ่านประมาณเป็นแสนๆ คันต่อวัน เป็นเส้นที่สามารถเดินทางไปเมืองทอง รังสิต อยุธยาหรืองามวงศ์วานและเกษตรได้”


     การมีทำเลที่ดีเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจ ศิรินันท์ บอกว่า การได้ทำเลที่จุดพักรถทางด่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนรู้จักแบรนด์ได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมายอะไร

     


     “เพราะคนต้องเดินทางผ่านเส้นนี้ตลอดเวลาเลยทำให้เห็นร้านเราไปโดยปริยาย เหมือนเราไม่ต้องไปทำป้ายโฆษณาใหญ่ๆ แค่เรามีร้านอยู่ตรงนี้ก็เหมือนเป็นการโฆษณาร้านไปในตัว อย่างนักเดินทางเวลาที่ขับรถมาอาจจะไม่รู้จักเราเลย แต่พอเห็นชื่อร้านเข้าบ่อยๆ เขาก็จะเริ่มจำได้และอาจจะแวะมาบ้าง พอมีการพูดคุยกับคนอื่นว่ารู้จักร้านนี้ไหม ก็จะนึกได้ว่าอยู่บนทางด่วนไง ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนบอกต่อกันว่าร้านนี้อยู่บนทางด่วนนะ ซึ่งช่วยให้คนรู้จักร้านเรามากขึ้น โดยเฉลี่ยจะมีคนมาซื้ออาหารที่ร้านประมาณ 400 คนต่อวัน ดังนั้น การมีทำเลที่ดีส่งผลต่อธุรกิจมาก ถ้าได้ทำเลดีโอกาสที่จะขายดีก็มีมากขึ้น คนก็จะรู้จักเราง่ายขึ้นและเป็นการโฆษณาร้านไปในตัวโดยที่ไม่ต้องลงทุน”
การทำธุรกิจอาหารที่อยู่บนทางด่วน ทำให้เจ้าของร้านต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยเธอบอกว่า เราต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่เน้นความเร็วและไม่อยากรอ ดังนั้นเมนูอาหารต้องเสิร์ฟเร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถรับประทานได้  





     “พฤติกรรมผู้บริโภคบนทางด่วนจะเน้นไปที่ความเร็ว คนที่มาตอนเช้าและเย็นส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน และวัยเรียน พฤติกรรมจะรีบเร่งเหมือนกัน คือถ้าสมมติว่ามาแล้วต้องให้รอ คนก็จะไม่ซิ้อแล้วเขาก็จะไป ดังนั้นเราก็ต้องเร็วและต้องมีความพร้อมที่จะเสิร์ฟและบริการอยู่เสมอ”





     นอกจากความรวดเร็วในการเสิร์ฟและบริการแล้วนั้น เรื่องคุณภาพของอาหารต้องได้มาตรฐานเป็นอีกสิ่งที่ ศิรินันท์ ให้ความสำคัญ โดยกล่าวว่า การทำให้มีมาตรฐานเหมือนเดิมทุกวัน ทานวันไหนก็ได้รสชาติแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์เราไปได้ตลอด


     ปัจจุบันแบรนด์คุณเหวินมี 4 สาขา ได้แก่ ร้านซาลาเปาคุณเหวิน สาขาทางด่วนประชาชื่นขาเข้า ร้านครัวคุณเหวิน สาขาทางด่วนประชาชื่นขาออก ร้านซาลาเปาคุณเหวิน สาขาสำเพ็ง 2 และร้านซาลาเปาคุณเหวิน สาขาโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน