​Daraga ของฝากชิ้นเล็กจากเมืองไทย ที่ไม่มากไป...น้อยไป






 
     เวลาเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ นอกจากเก็บภาพความประทับใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มักเป็นตัวแทนให้ระลึกถึงช่วงเวลาดีๆ เหล่านั้น ก็คือ ของฝาก ฝากทั้งตัวเองเพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำ ฝากทั้งคนใกล้ที่ไม่ได้เดินทางไกลมาด้วยกัน แต่ของฝากแบบไหนถึงจะประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ อยู่ได้นาน ร่วมสมัย ดูไม่เบื่อ ปวีณา ดำเด่นงาม - อาย และพัชราภรณ์ สมิทธิวิวรรธน์ - ซาร่า สองสาวเพื่อนซี้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวไปพบเห็นตามที่ต่างๆ มาทำเป็นของฝากชิ้นเล็กแทนใจที่เก๋ด้วยดีไซน์และอัตลักษณ์ความเป็นไทย ที่ออกแบบมาได้พอดิบพอดี ไม่มากไปน้อยไป
 




     “เราสองคนเป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว เวลาไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ก็ชอบสะสมของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ ติดกลับมือมาด้วยเสมอ เมื่อได้ท่องเที่ยวมากขึ้น ได้เห็นมากขึ้น จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากทำของที่ระลึกให้กับเมืองไทยบ้าง ซึ่งบ้านเรามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอยู่ค่อนข้างมาก แต่ยังไม่ค่อยมีของที่ระลึกแบบเก๋ๆ ที่ดูร่วมสมัย จึงอยากลองทำของที่ระลึกดีไซน์สวยให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับประเทศไปเป็นของฝากบ้าง เหมือนได้เก็บภาพประทับใจ ความทรงจำดีๆ จากเมืองไทยกลับไป รวมทั้งเป็นของฝากครอบครัว เพื่อนๆ และตัวเอง ซึ่งปกติแล้วเราทั้งคู่เป็นฟรีแลนด์รับงานออกแบบ อาทิ สถาปัตยกรรม อินทีเรีย และแลนด์สเคปกันอยู่แล้ว จึงลองช่วยกันคิดคอนเซปต์และออกแบบขึ้นมา”
 


     

     เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ ทั้งคู่ก็เริ่มต้นทำออกมา โดยเปิดตัวคอลเลคชั่นแรกภายใต้คอนเซปต์ ‘Thailand Icons’ ที่หยิบจับเอาอัตลักษณ์ความไทยแสดงออกมาเป็นลายเส้นน่ารักๆ ของ Icons เมืองไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ประกอบด้วยทั้งหมด 7 ลายด้วยกัน ได้แก่ วัดอรุณ, วัดพระแก้ว, ยักษ์วัดแจ้ง, ตุ๊กตุ๊ก, เสาชิงช้า, ช้างไทย, มวยไทย โดยเลือกถ่ายทอดลงบนที่ติดตู้เย็นทำจากเซรามิก ซึ่งแต่ละชิ้นเป็นงานคราฟต์ ทำให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน อาทิ สีของดิน พื้นผิว การเคลือบ  พร้อมกับตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Daraga’ เขียนเป็นภาษาไทย คือ ‘ดารากะ’ หมายถึงดวงดาว สื่อแทนการท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ โดยใช้ดวงดาวนำทาง และใช้ว่าวจุฬา ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับดวงดาวเป็นสัญลักษณ์ ทดลองวางขายครั้งแรกที่งาน little tree market 2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
 




     เอกลักษณ์งานดีไซน์ของแบรนด์ดารากะอยู่ที่การออกแบบได้อย่างร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็สื่อถึงความเป็นไทยได้ดี โดยพยายามออกแบบลดทอนรายละเอียดของรูปทรงต่างๆ ลง เพื่อให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น เป็นงานสไตล์มินิมอล ดูเรียบง่าย ไม่มากไป น้อยไป ที่สำคัญ คือ ตั้งใจทำเป็นของฝากชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เลือกซื้อไปเป็นของฝากได้ง่าย ไม่เป็นภาระหนักหนักกระเป๋า โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายอยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 3 ซึ่งในอนาคตจะย้ายไปอยู่ในโซนเสน่ห์ไทย และพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม โดยทั้งคู่ตั้งใจไว้ว่าในอนาคตอาจขยับขยายทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา รวมถึงกระจายออกไปยังแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มากขึ้นด้วย
 




     “ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน จึงเลือกหยิบอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของไทยทำออกมาก่อน แต่ต่อไปในอนาคตถ้าเป็นไปได้ในอนาคต เราอยากจะทำของฝากในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคให้มีของที่ระลึกขายเฉพาะที่นั่น อยากสร้างเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั่น เหมือนเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น เราอยากกินอะไร ซื้ออะไรก็ต้องไปเฉพาะที่เมืองนั้น เราอยากช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ แต่ยังไงก็ยังจะคงคอนเซปต์ที่วางไว้ คือ เป็นของฝากชิ้นเล็ก แต่เต็มไปด้วยความรักและอ้อมกอดอบอุ่นจากเมืองไทย “Small Gift But Big Hug “ แพคเก็บง่าย ไม่หนักกระเป๋า ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกเยอะที่น่าสนใจของเมืองไทยที่เราอยากนำเสนอลงไปให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับรู้”
 



Facebook : Daraga design studio



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน