จับแคบหมูมาใส่นวัตกรรม ความอร่อยล้ำๆ แบบ 2 in 1







     เมื่อมีผู้เล่นมากมายอยู่ในตลาดโดยเฉพาะในเชียงใหม่ ทำให้แคบหมูในตำนานแบรนด์แม่แช่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ต้องสรรหาความแตกต่างโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค


     จิรทีปต์ วัฒน์ทวีพรหม ผู้เข้ามาสานต่อแบรนด์แคบหมูแม่แช่ม บอกว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องคิด คือการสร้างความแตกต่างให้ฉีกจากผู้เล่นอื่นๆ ที่แค่เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีร้านขายแคบหมูกว่าร้อยเจ้าแล้ว จึงเป็นที่มาของการคิดตัวโปรดักต์ใหม่ๆให้ออกมาตอบโจทย์ตลาด





     “แคบหมูรสน้ำพริกหนุ่ม เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทางเราคิดขึ้นมาและอยู่ในช่วงของการทดลองตลาด เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพิ่มความสะดวกสบายเวลาจับจ่าย โดยไอเดียของโปรดักต์ตัวนี้นั้นมาจากการที่แบรนด์ต้องการขายน้ำพริกหนุ่มคู่กับแคบหมู ด้วยความที่แคบหมูเป็นของแห้งและน้ำพริกหนุ่มเป็นของเปียกเลยทำให้การวางขายนั้นต้องแยกกัน โดยปกติของการจัดโซนสินค้าภายในห้างน้ำพริกหนุ่มและแคบหมูจะถูกวางขายในโซนที่ต่างกัน หรือถ้าเป็นตามร้านต่างๆ น้ำพริกหนุ่มจะถูกแช่เย็นและวางขายในตู้เย็น ซึ่งเวลาที่ลูกค้าไปซื้อแคบหมูแล้วก็ต้องวิ่งไปซื้อน้ำพริกหนุ่มอีกที เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองสามารถวางขายคู่กันได้จึงเป็นที่มาของการทำแคบหมูรสน้ำพริกหนุ่มให้ผู้บริโภคสามารถกินแคบหมูแล้วได้รสชาติของน้ำพริกหนุ่มไปในขณะเดียวกัน”


     โดยทางแบรนด์คาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ตัวใหม่จะถูกใจผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความแตกต่างและความสะดวกสบายที่จับต้องได้





     นอกจากแคบหมูรสน้ำพริกหนุ่มแล้ว ทางแบรนด์ยังมีการใช้เทคโนโลยี Freeze Dry หรือการอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งเข้ามาใช้ในการทำน้ำพริกหนุ่มอบแห้งอีกด้วย โดยได้ทาง ผศ.ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาวิจัยและเป็นที่ปรึกษาในการผลิตโปรดักต์ตัวนี้


     “โดยปกติน้ำพริกหนุ่มที่ขายกันนั้นมีอายุการเก็บรักษาแค่เพียง 1 วัน เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมีการใส่วัตถุกันเสียทั้งนั้นและบางทีอาจจะใส่เกินมาตรฐานซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หรืออย่างในส่วนของการบรรจุน้ำพริกหนุ่มลงในขวดแก้วโดยใช้การสเตอริไลส์หรือการฆ่าเชื้อนั้น อาจทำให้น้ำพริกหนุ่มมีรสชาติขมเพราะกระบวนการฆ่าเชื้อแบบนี้ต้องใช้อุณหภูมิสูงซึ่งจะทำให้เนื้อสัมผัสเละ กลิ่นและรสที่ได้จะเหมือนผักต้มและโดยธรรมชาติของพริกเมื่อโดนความร้อนก็จะขม ทางแบรนด์จึงเข้ามาปรึกษาและได้มีการนำเอาเทคโนโลยีการอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งเข้ามาช่วยในการผลิตน้ำพริกหนุ่มอบแห้ง”


    สำหรับข้อดีของการนำเอาเทคโนโลยี Freeze Dry เข้ามาใช้นั้นทาง ผศ.ดร.สุจินดา บอกว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านความร้อนเลยซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะคงความสดของตัวน้ำพริกหนุ่มเอาไว้และสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานมากขึ้น





     “ด้วยการใช้เทคโนโลยีตัวนี้จะทำให้เราได้น้ำพริกหนุ่มอบแห้งที่มีน้ำหนักเบาและสามารถคืนตัวได้ด้วยการเติมน้ำที่อุณหภูมิห้อง คนทิ้งไว้สักพักก็จะได้น้ำพริกหนุ่มที่พร้อมรับประทาน นอกจากนี้อายุการเก็บรักษายังอยู่ได้นานถึง 6 เดือน สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการนั้นการใช้การอบแห้งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาซึ่งสามารถช่วยลดน้ำหนักด้านการขนส่งได้ นอกจากนี้ยังสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อน้ำพริกหนุ่มเป็นของฝากได้อีกด้วย”


     มาถึงตรงนี้ จิรทีปต์ กล่าวเสริมว่า แบรนด์ต้องสร้างความต่างให้กับตัวผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้เกิดจุดขายและจุดแข็ง ต้องเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา ที่สำคัญต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อต่อยอดและผลักดันให้ธุรกิจนั้นเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน