ในห้วงเวลาที่ทุกคนบอกว่าร้านค้าโชว์ห่วยกำลังจะตาย ด้วยการรุกคืบของโมเดิร์นเทรด ทว่า สมหวัง เดชศิริอุดม ทายาทผู้สืบทอดกิจการ เล้งเส็ง ค้าส่งรายใหญ่แห่งสกลนคร กลับเชื่อมั่นว่าโชว์ห่วยจะไม่มีวันตาย ปรัชญาในการทำงานของเขา คือการอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย ซึ่งแต่เดิมเขาเคยคิดว่าการอยู่รอด คือการทำตัวเองให้อยู่รอด ที่ผ่านมาจึงเน้นืพัฒนาธุรกิจด้วยการให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสินค้าคุณภาพมานำเสนอลูกค้า และพัฒนาการบริการของทางร้าน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ตราบเมื่อโมเดิร์นเทรดรุกเข้ามาเขตที่ทำกินของตัวเอง ถึงได้ตระหนักชัดว่าเพียงแค่มุ่งทำให้ตัวเองอยู่รอดอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะธุรกิจค้าส่งจะอยู่รอดได้ ร้านค้าปลีกรายเล็ก ซึ่งเป็นลูกค้าหลักจะต้องอยู่รอดได้ก่อน
“ช่วงสามเดือนแรกที่โมเดิร์นเทรดแบรนด์ดังเข้ามา ยอดขายเราตกไป 40% แต่ในความโชคร้าย มีความโชคดีอยู่บ้าง ตรงที่การมาของค้าส่งแบรนด์ดัง และกระแสที่ว่าโชว์ห่วยกำลังจะตาย เป็นเหตุให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีโครงการจะพัฒนาร้านค้าในต่างจังหวัด ผมใช้โอกาสนี้ในการเข้าร่วมด้วย ทำโครงการร้านค้าโชว์ห่วยพันธมิตร ด้วยการไปจัดร้านให้ลูกค้า ทำให้พบว่าปัญหาหลักของร้านค้าโชว์ห่วย ไม่ใช่ขายสินค้าไม่ได้อย่างที่บ่นๆ กัน แต่เพราะขาดการบริหารจัดการที่ดีทำให้ไม่ได้ขายของเสียมากกว่า"
“เขาขายของได้น้อยลง ก็เพราะชอบเอาของไปซุกไว้ตามที่ต่างๆ ทำให้ของที่สต๊อกไว้ถูกหลงลืมจนเกิดการเน่าเสีย หรือได้รับความเสียหาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนเสียเปล่า ของที่ควรนำมาขายก็ไม่เอามาขาย กลับไปเอาของที่ขายไม่ได้มาวางโชว์บนเชลฟ์ การตั้งราคาที่สูงจนเกินไป น้ำปลาขวด 25 บาท ขายขวดละ 35 บาท เราก็ต้องเข้าไปนั่งคุยกับลูกค้าว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเขาจะอยู่ได้ต้องให้เกิดการหมุนเวียนสินค้าในร้าน โดยตั้งราคาต่ำเพื่อให้ขายหมดไว แล้วสั่งสินค้าเข้ามาใหม่ ไม่ใช่ตั้งราคาเอากำไรเยอะๆ เพราะจะทำให้สินค้าปล่อยยาก ที่สำคัญเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคทั่วไปรู้ราคาตลาดของสินค้าดี แค่นั่งสองแถวเข้าไปในเมืองก็เห็นแล้วว่าในเมืองขายเท่าไร"
“พอเราเห็นปัญหาอย่างนี้ ก็ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าไปช่วยเขาพัฒนาเรื่องของการบริหารจัดการภายในร้านค้า ปีนี้ทำไปประมาณ 300 ร้านค้า พอทำเสร็จก็เห็นว่าลูกค้าขายดีขึ้น แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ยังคงมีมาเรื่อยๆ เราก็มานั่งคิดว่าวันนี้ องค์กรใหญ่ๆ ที่มีความมั่นคงล้วนมีแผนก R&D ของตัวเอง ความที่เราไม่ใช่ผู้ผลิต แต่เป็นช่องทางการขาย ตอนนี้เราก็เลยมาทำแล็บค้าปลีก เพื่อให้เป็นร้านค้าจำลองในการศึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงกับลูกค้า แล้วนำปัญหามาคิดหาโซลูชั่น เพื่อใช้ในการพัฒนาร้านค้าให้กับลูกค้า ซึ่งบางครั้งปัญหาบางอย่างก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ลูกค้าอาจมองข้ามไป เช่นการเลือกสินค้า การจัดเรียงสินค้า พื้นที่ที่มีอยู่แค่ 100 ตร.ม. จะต้องจัดวางสินค้าอย่างไรให้เหมาะ นอกจากนี้เราก็ยังพยายามหาซอฟต์แวร์ดีๆ มาให้ลูกค้าใช้ ซอฟต์แวร์ที่ดีไม่ต้องเลิศหรูมาก เอาแค่ใช้งานง่าย และทำยังไงให้รู้ว่าเรามีเหลือสต๊อกอยู่เท่าไร ขายไปแล้วเท่าไร”
สมหวังบอกว่าการช่วยลูกค้า ก็เหมือนกับการช่วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะค่าใช้จ่ายในการขอเปลี่ยนคืนสินค้าที่จะลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การช่วยให้ร้านค้าท้องถิ่นพัฒนาได้ เศรษฐกิจในชุมชนจะดีตาม ซึ่งนั่นหมายถึงการเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยประเทศชาติอันเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ การช่วยให้ร้านหนึ่งร้านอยู่รอดได้ ก็เหมือนกับการจุดเทียนหนึ่งเล่มติด ช่วยได้มากร้าน ก็หมายถึงเทียนหลายเล่มที่จุดส่องสว่าง ซึ่งก็จะทำให้ร้านค้าปลีกกลับมารุ่งโรจน์ได้อีกครั้ง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี