ขายเสน่ห์งานผ้ามัดย้อม ในแบบ Hyena Brand






 
     ถ้าพูดถึงผ้ามัดย้อม หลายคนน่าจะนึกถึงสินค้าโอท็อป หรือไม่ก็ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า ที่มีลวดลายริ้วๆ เป็นเอกลักษณ์สไตล์พื้นบ้าน บ่งบอกถึงความเป็นงานคราฟต์ที่มีไว้เป็นของขวัญของฝากเท่านั้น แต่สำหรับ ภัทรจิตร ดิษฐสกุล ผู้ก่อตั้ง Hyena Brand ได้ปลุกพลังงานคราฟต์ของผ้ามัดย้อมให้กลายมาเป็นงานผ้าหลากสไตล์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่งแต้มสีสันและรูปแบบให้ทันยุค ทันสมัย จนเป็นที่ต้องการของตลาด
 


     

     “ด้วยความที่เราชอบเรื่องผ้าอยู่แล้ว สมัยเรียนก็เรียนเกี่ยวกับผ้า ตอนทำงานก็ทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์อยู่กับแบรนด์ดังๆ ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการและเทคนิคต่างๆ รวมถึงแหล่งวัตถุดิบว่าจะสามารถหาได้จากที่ไหน พออิ่มตัวจากงานประจำก็คิดว่า งานผ้านี่แหละที่จะมาเป็นอาชีพของเรา เลยลาออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง ตอนนั้นคิดว่าถ้าเริ่มตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปีถ้าไปไม่รอดเรายังพอกลับไปทำงานประจำได้ แต่แล้วก็ได้ทำมาจนถึงทุกวันนี้ โดยตั้งแต่แรกเราเริ่มต้นด้วยความชัดเจนเลยว่า จะทำในสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น จึงมาสรุปที่งานมัดย้อม เพราะถ้าเป็นงานพิมพ์อย่างน้อยเราก็ต้องจ้างซัพพลายเออร์ เวลาขึ้นตัวอย่างงานแต่ละทีก็ต้องพึ่งคนอื่น แต่ถ้าเป็นมัดย้อม เราสามารถทำด้วยตัวเองได้ทุกอย่าง ตั้งแต่หาวัตถุดิบ ผลิต ขายไปจนถึงตกแต่งร้าน เป็นการเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยความสนุก”
 


     

     ตัวตนและจุดเด่นของ Hyena Brand ที่แตกต่างจากผ้ามัดย้อมทั่วๆ ไป คือการดีไซน์รูปลักษณ์ของงานผ้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กระโปรง กางเกง เข็มขัด รองเท้า กระเป๋า ผ้าม่าน ปลอกมอน และทุกสิ่งอย่างที่นำมาย้อมได้ ให้กลายมาเป็นของใช้ในทุกโอกาสและทุกๆ วัน โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ภัทรจิตรบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่บางจนโป๊เกินไป ใส่ไปทำงานได้ เหมือนจ่ายครั้งเดียวต้องคุ้มค่า ไม่ใช่แค่ใส่ไปทะเลครั้งเดียวเสร็จแล้วก็เก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า
 




     “เราโชคดีที่ได้อยู่กับดีไซเนอร์เก่งๆ ได้เรียนรู้เรื่องรสนิยมดีๆ การตัดเย็บดีๆ ทำให้เอามาปรับใช้กับแบรนด์ตัวเองได้ และเราขายในราคาที่ไม่เวอร์เกินไป ลูกค้ารับได้ เราอยู่ได้ โดยงานของเราจะใช้สี Indigo เคมีทั้งหมด แต่เป็นสีที่มีความปลอดภัย เราก็บอกลูกค้าไปตรงๆ ไม่จำเป็นต้องปกปิดอะไร ต้องยอมรับว่าเราเองไม่ได้ถนัดในการทำสีจากธรรมชาติ เพราะเป็นศาสตร์ที่มีความละเอียด ต้องใช้ความชำนาญสูง แต่เราเน้นทำในสิ่งที่เราถนัดและทำได้คือ การออกแบบ ตั้งแต่การสร้างลวดลายผ้า การไล่สีไปจนถึงการออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้ง่ายๆ กับทุกโอกาส”
 




     ปัจจุบันเสื้อผ้าของ Hyena Brand จะเน้นไปที่โทนสีดำ น้ำเงิน และเทา เพราะเป็นสีที่ใส่ได้ทุกวัน แต่ก็มีสีอื่นปนอยู่ด้วย และถึงแม้จะปักหมุดว่า Hyena Brand ไม่ได้เป็นแฟชั่นจ๋า แต่ก็ไม่ยอมให้ตัวเองตกเทรนด์ โดยในปี 2561 นี้จะเน้นโทนสีชมพูและเขียวอ่อนเพิ่มขึ้นมาด้วยตามเทรนด์แฟชั่นโลก จากจุดนี้นี่เองที่ทำให้แบรนด์เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักและมีสัดส่วนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ลูกค้าจากโซนยุโรป และโซนเอเชีย อย่าง จีน มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือ กลุ่มลูกค้าคนไทยที่มักจะแวะเวียนไปอุดหนุนที่หน้าร้านในตลาดนัดจตุจักรทุกเสาร์-อาทิตย์ ด้วยราคาที่เย้ายวนใจทุกกลุ่ม ที่มีตั้งแต่ 80-2,500 บาท ในความหลากหลายของสินค้าที่บอกได้คำเดียวว่าเยอะจริงๆ
 




     สำหรับความคาดหวังเรื่องการเติบโตของ Hyena Brand นั้น ภัทรจิตรบอกว่า ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความสุขที่ได้เห็นลูกค้ากลับมาบอกว่า สินค้าใช้ดีแล้วบอกต่อคนอื่น รวมถึงอยากให้ลูกค้าติดตามแบรนด์ไปเรื่อยๆ เพราะมั่นใจว่าจะสามารถทำแบบใหม่ๆ ออกมาได้อยู่เสมอ ซึ่งดีไซน์เสื้อผ้าที่ทำให้โดนใจลูกค้านั้นก็เป็นเพราะภัทรจิตรเลือกสไตล์การตัดเย็บที่ออกมาเป็นตัวเองมากที่สุด ไม่ได้หวือหวา อลังการ อ่อนหวาน หรือแอ๊บแบ๊วจนเกินไป เพราะของที่ขายได้คือ ของที่ใส่ทุกวัน เป็นศิลปะบนผืนผ้าที่ธรรมดา แต่ทำออกมาให้สวยและตรงใจลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า
 
 
     “งานผ้ามัดย้อมมันมีเสน่ห์ตรงการมัดทีละชิ้น ไม่ได้ทำทีเดียวเหมือนงานพิมพ์ทั่วไป ฉะนั้นเรื่องคู่แข่งถ้ามองภาพกว้างอย่างประเทศจีนที่เป็นเจ้าแห่งเครื่องจักรนั้น ก็ต้องบอกว่า เราโชคดีมากที่เขายังไม่สามารถทำแบบเราได้ หรือทำได้แต่คงไม่คุ้มเพราะเป็นงานที่ใช้เวลา แต่ถ้าเป็นในไทยด้วยกันเอง เราไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่งแต่แรกแล้ว เรามองเขาเป็นเพื่อน เป็นคนในสายงานเดียวกันที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมามากว่า ไม่นับรวมคนที่ชอบก๊อบปี้คนอื่นแล้วขายตัดราคานะ ทุกวันนี้เราเองก็ยังไม่มีโรงงานเป็นของตัวเองนะ ใช้วิธีทำเล็กๆ จ้างช่างที่รู้ใจ เราคิดว่าเรามีความสุขดีที่ได้ทำอะไรที่ชอบ ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้ก็พอแล้ว”
 


 

   แม้การขายของในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์ในการบุกตลาดหรือทำยอดขายกันอย่างล้นหลาม แต่สำหรับภัทรจิตรนั้นเธอใช้เฟซบุ๊กเป็นแค่ช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นความเคลื่อนไหว และดีไซน์แบบใหม่ๆ ของสินค้าเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มลูกค้าของ Hyena Brand คือกลุ่มที่เข้ามาแบบปากต่อปากและการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยการเจอะเจอกันที่หน้าร้าน ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
 

     “ที่เราใช้ชื่อแบรนด์ว่า Hyena ก็เพราะว่าตัวหมาป่า Hyena มันมีลายด่างๆ เหมือนผ้ามัดย้อม แล้วก็ตัวเล็กๆ เหมือนเราที่ต้องสู้ทุกอย่าง 7 ปีที่ผ่านมา เราพยายามพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา เราถึงชอบไปร้าน ถ้าไม่ติดอะไร ก็จะไปตลอด ชอบไปนั่งดูลูกค้า ไปพูดคุย ทำให้รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และก็เอามาปรับใช้กับงานของตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็มองคนอื่นด้วยว่าเขาทำอะไรกันไปบ้าง ไม่ได้แปลว่าต้องก๊อบปี้ แต่ดูเพื่อจะทำยังไงให้แตกต่าง เราไม่ได้มุ่งเน้นอยากจะเติบโตมาก แต่จะทำตามกำลังที่มี โดยที่เรายังมีความสุขกับมันอยู่” ภัทรจิตรกล่าวทิ้งท้ายในแบบฉบับของแบรนด์เล็กที่เน้นคุณภาพเป็นสำคัญ


 

FB : hyenabrand
Line : hyenabrandbkk



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน