​อรอิง มะม่วงแช่แข็ง ที่ให้ความสดเหมือนอยู่ในสวน





 

     เมื่อความเย็นและสดชื่นเป็นสิ่งที่คนคิดถึงโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน แบรนด์ "อรอิง" ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมะม่วงแช่แข็ง ได้ก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่จะส่งต่อความอร่อยของมะม่วงไทยให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง 


     แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดแต่ก็เต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้รู้จักกับความอร่อยของมะม่วงไทยอย่างแท้จริง วลัญษ์พัชร เลิศรัตนนท์ เจ้าของแบรนด์ อรอิง เล่าว่า เดิมทีทำธุรกิจเสื้อผ้ามาโดยตลอด และจากการที่ต้องเดินทางเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนนั้น ทำให้เห็นถึงความนิยมของผลไม้ไทยในจีนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับมีร้านมะม่วงปั่นเปิดใหม่ที่ใช้สไตล์ของความเป็นไทยเป็นตัวชูโรงและมีลูกค้าจำนวนมากเข้าคิวรอ แต่กลับพบว่าทางร้านนั้นไม่ได้ใช้อะไรที่เป็นของไทยเลย จึงจุดประกายให้เกิดความคิดของการทำแบรนด์ขึ้น





     “ด้วยความคิดที่อยากให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับรสชาติความอร่อยที่แท้จริงของมะม่วงไทย จึงเกิดความคิดว่าจะเริ่มจากสินค้าอะไรดีที่สามารถให้ความสดชื่นกับคนทานได้ จนตกผลึกมาที่มะม่วงแบบแช่แข็งหรือ Frozen Fresh Mango ที่แม้จะดูว่ามีหน้าตาที่เรียบง่ายแต่ก็เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากการใช้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเป็นโปรดักต์เท่านั้น โดยมะม่วงพันธุ์นี้จะมีกลิ่นหอมละมุน เสี้ยนน้อยและรสสัมผัสหรือ texture ดีกว่าการใช้มะม่วงพันธุ์อื่นๆที่หลายแบรนด์เลือกใช้เป็นวัตถุดิบหลักอย่างพันธุ์โชคอนันต์หรือพันธุ์แก้วขมิ้นที่มีราคาถูกมากแล้ว texture ไม่ดีหรือแม้กระทั่งพันธุ์ทวายเบอร์ 4 ที่มีรสสัมผัสของแป้งและเสี้ยนเยอะ”


     โดยผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์จะเน้นไปที่ความเป็นธรรมชาติ ไม่มีการแต่งกลิ่นหรือปรุงสีใดๆ และใช้นวัตกรรมการ Shock Freeze เพื่อคงคุณค่าและความสดใหม่เอาไว้ ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้สินค้าทุกชิ้นเต็มไปด้วยคุณภาพ


     “การใช้นวัตกรรม Shock Freeze เปรียบเสมือนการล็อกคุณค่าทุกอย่างและความสดใหม่ของมะม่วงที่ได้จากหน้าสวนเอาไว้ เหมือนเราได้ทานสินค้าสดใหม่แท้ๆจากสวนเลย แต่อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักจะมองว่าการทานผลไม้สดนั้นให้คุณค่ามากกว่าผลไม้แช่แข็ง ซึ่งการนำเทคนิคของการแช่แข็งแบบ Shock Freeze มาใช้จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้เพราะความสดใหม่และคุณค่าทุกอย่างนั้นได้ถูกล็อกเอาไว้แล้วและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน ต่างจากผลไม้สดที่เราซื้อบนชั้น เพราะความสดใหม่และคุณค่ามันจะลดลงเมื่อมีการสูญเสียน้ำไม่ว่าจะในขั้นตอนการขนส่งหรือระยะเวลาของการวางอยู่บนชั้นที่ยิ่งนานเท่าไหร่คุณค่าก็จะลดลงเรื่อยๆ”  


     หนึ่งในความท้าทายที่แบรนด์ต้องเจอคือ การกำหนดมาตรฐานของการเฟ้นหาค่าความหวานที่พอดีและการทำให้โปรดักต์ทุกชิ้นนั้นมีระดับความหวานที่ใกล้เคียงกัน


     “การที่เราจะควบคุมธรรมชาติได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและเราก็ไม่สามารถชิมผลผลิตทุกชิ้นได้ ดังนั้นเราต้องทำงานอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องถ่ายสีสแกนสีของเปลือกผิวเพื่อทำการเก็บสถิติว่าสีแบบนี้ได้รสชาติแบบนี้ การใช้เลเซอร์สแกนค่าความหวานว่าน่าจะได้ค่าความหวานตามที่ต้องการหรือไม่ ใช้แถบสีมาวัด มีขั้นตอนที่สร้างมาตรฐานอยู่เยอะมากเพื่อที่จะทำให้สินค้าในทุกๆชิ้นมีรสชาติใกล้เคียงกัน”  


     นอกจากนี้ การสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจในการเป็นโปรดักต์ผลไม้แช่แข็งนั้นก็เป็นความท้าทายอีกอย่างที่ทางแบรนด์เจอโดยเฉพาะกับคนไทยที่หาผลไม้สดทานได้ง่ายนั้นจะยากในการสื่อสารกว่าชาวต่างชาติ


     “ฟิลลิ่งของการทานผลไม้แบบแช่แข็งกับผลไม้สดนั้นจะได้รับประสบการณ์ที่ต่างกัน อย่างสินค้าของแบรนด์นั้นเนื้อสัมผัสจะให้ความสดชื่น เย็นเหมือนเกล็ดน้ำแข็ง ละเอียดและละมุน ซึ่งต่างจากเวลาที่เราเอาผลไม้ไปแช่แข็งเองมันจะทานไม่ได้เพราะว่าเนื้อผิวเปลือกนอกมันจะดำและแข็งกัดไม่เข้า แต่โปรดักต์ของเรานั้นไม่ใช่เพราะถูกช็อกด้วยความเย็นอย่างรวดเร็ว เกล็ดน้ำแข็งมันจะเนียนละเอียดเหมือนเราทานไอศกรีม”





     แม้เริ่มแรกทางแบรนด์จะตั้งเป้าไปที่การเจาะตลาดกลุ่มคนจีน แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นผู้บริโภคจากยุโรปและออสเตรเลียที่เป็นฐานลูกค้าที่แข็งแรง


     “ตอนแรกเรามุ่งหวังจะเจาะลูกค้าในตลาดจีนเพราะว่าเราเดินทางและไปสัมผัสตลาดจีนเยอะ แต่ทางจีนยังเป็นพฤติกรรมที่ยังไม่เห็นคุณค่าของโปรดักต์ที่เป็นพรีเมี่ยมและยังต้องการสินค้าที่มีราคาถูกซึ่งแตกต่างจากแถบยุโรปและออสเตรเลียที่เราไปออกงานมา เพราะเขาเห็นคุณค่าในตัวโปรดักต์มากๆ เราสามารถขายได้ราคาดี โดยคุณภาพกับรสสัมผัสของแบรนด์นั้นเป็นที่ชื่นชอบสำหรับลูกค้าทางฝั่งนี้”


     มาถึงตรงนี้ วลัญษ์พัชร บอกว่า แผนในอนาคตของแบรนด์คือการเพิ่มรสชาติของมะม่วงให้มีระดับความหวานที่แตกต่างกันรวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น


     “ในอนาคตเรามีแผนที่จะเพิ่มรสชาติของมะม่วงให้หลากหลายมากขึ้นเพราะผู้บริโภคนั้นมีความชอบที่ต่างกัน อย่างคนเกาหลี ญี่ปุ่นจะชอบรสมะม่วงแบบเชอร์เบทที่มีรสออกเปรี้ยว คนไทยชอบหวานจัด ต่างชาติชอบหวานกลางๆ ซึ่งเราอาจจะเพิ่มรสชาติของความหวานที่สามารถกำหนดได้ว่ามีเปรี้ยว มีหวานน้อยหรือหวานมาก ในส่วนของผลไม้อื่นเราจะมีมาเพิ่มซึ่งตอนนี้กำลังทดลองอยู่หลายๆอย่าง โดยลำไย ทุเรียนและกล้วยคือตัวที่เรามองว่าจะพัฒนาต่อไป”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน