เปิดผลวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาพบ...ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นธุรกิจติดดาว โดยระหว่างปี 2558-2560 มีจำนวนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีนิติบุคคลอยู่จำนวน 8,690 ราย แม้จำนวนนิติบุคคลอาจจะดูไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการจัดตั้งธุรกิจในกลุ่มร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ กุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การจัดตั้งธุรกิจในปี 2558 จำนวน 702 ราย ปี 2559 จำนวน 761 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40) ปี 2560 จำนวน 1,171 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.88) และปี 2561 มีนิติบุคคลที่จัดตั้งธุรกิจระหว่างเดือน ม.ค-ก.พ. จำนวน 175 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560) นอกจากนี้หากพิจารณาถึงทุนจดทะเบียนของธุรกิจกลุ่มนี้พบว่า มีจำนวนรวมทั้งหมดสูงถึง 56,632 ล้านบาท โดยเกือบร้อยละ 80 เป็นธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด และกว่าร้อยละ 90 มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองที่มีความสอดคล้องกับแหล่งชุมชน โรงพยาบาล และคลินิกรักษาโรค
อย่างไรก็ดี การเติบโตของธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งไทยมีความโดดเด่นด้านธุรกิจบริการสุขภาพและมีชื่อเสียงในระดับโลกอยู่แล้ว ประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) มากขึ้น ทั้งด้านการเข้ามารักษาโรค และการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ
รวมไปถึงรัฐบาลได้สนับสนุนให้บุคคลธรรมดาปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เข้าสู่ระบบนิติบุคคล ก็นับเป็นปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนมากขึ้น มากไปกว่านั้น ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพและความงามยังคงเป็นกระแสที่นิยมและยังมีหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมทั้งประเทศไทยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เติบโตพร้อมสร้างให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ในอนาคตนอกจากธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นดาวรุ่งแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประเภทอื่น เช่น สปา กิจการดูแลผู้สูงอายุ บริการเสริมความงาม และเครื่องสำอางจะได้รับประโยชน์จากการเป็น Medical Hub ของไทยอีกเช่นกัน
“การเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยมีธุรกิจบริการด้านสุขภาพดียิ่งขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น Medical Hub ตามมาด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตควบคู่กันไป แต่ยังมีผลดีเกี่ยวโยงไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยด้วย จากการที่รัฐบาลได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้วงเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อซื้อสินค้าในร้านขายยาที่เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐได้ ดังนั้นการที่จำนวนร้านขายยามีปริมาณเพิ่มขึ้นก็จะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างทางเลือกให้กับผู้มีรายได้น้อยในการดูแลสุขภาพด้วย (ปัจจุบันมีร้านขายยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐแล้วจำนวน 726 แห่งทั่วประเทศ)” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี