นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว เห็นทีจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารนี่เอง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า เพราะด้วยศักยภาพของความเป็นประเทศแหล่งวัตถุดิบชั้นยอด ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอาหารไปทั่วโลก โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย
แต่ภายใต้จุดแข็งที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยนั้น กลับมีจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้มีการพัฒนาหรือแก้ไข จากจุดแข็งที่มี อาจอ่อนแรงลงเรื่อยๆ และไม่เพียงพอที่จะทำให้แข่งขันในเวทีโลกได้อีกต่อไป โดยจุดอ่อนที่ว่านั้น ก็คือ การที่ผู้ประกอบการยังขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพราะที่ผ่านมาอาจเคยชินกับการผลิตสินค้าแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการใส่นวัตกรรม หรือไอเดียใหม่ๆ ลงไป เพื่อทำให้สินค้าแตกต่างจากตลาดมากนัก
บันได 3 ขั้น ปั้นธุรกิจอาหารนวัตกรรม
ในเรื่องนี้ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจผลิตอาหารของไทยมีมูลค่า 619,201 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 653,267 ล้านบาท เติบโต 4.50-6.50% ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ขณะเดียวกันก็ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจในยุค Thailand 4.0 จึงเกิดเป็นโครงการ “K SME Good To GREAT คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้แกร่ง” เพื่อติวเข้มและสร้างผู้ประกอบการผลิตอาหารต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม
สำหรับโครงการดังกล่าวฯ นับเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และพันธมิตรอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และท็อปส์ มาร์เก็ต ที่ร่วมกันพัฒนาและให้ความรู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยโครงการนี้มี 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก เป็นการสัมมนาให้ความรู้ เปิดมุมมองให้ความรู้ด้านเทรนด์และภาพรวมของธุรกิจผลิตอาหาร จากนั้นจะมีการคัดเลือก 50 ผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่ส่วนที่สอง ซึ่งจะเป็นการอบรมเชิงลึก 4 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ที่จะมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และสุดท้ายจะคัดเหลือ 5 ผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งที่สุด เพื่อรับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท และเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่ายชั้นนำอย่าง ท็อปส์ มาร์เก็ต ซึ่งทั้งหมดจะร่วมกันให้คำแนะนำ เพื่อให้สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง
ส่องเมกะเทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร
แน่นอนว่าก่อนที่ผู้ประกอบการ SME จะลงมือพัฒนาธุรกิจ คือการเรียนรู้และทำความเข้าใจภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งในงานสัมมนา “เปิดมุมมองใหม่ ไขความสำเร็จธุรกิจผลิตอาหาร” นี้ ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้มาเผยให้เห็นถึงเทรนด์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ดร.เอกอนงค์ กล่าวว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ส่วนใหญ่ยังไปในรูปแบบของสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ทำอะไรออกมาได้ ก็ส่งไปแบบนั้น แต่จากข้อมูลที่ สวทน.ทำการสำรวจทุกปี พบว่าค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการใช้ในการทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยพัฒนาสูงถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตเริ่มตระหนักเห็นแล้วว่า การขายของแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะผู้บริโภคยุคนี้ต้องการสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ผู้ผลิตจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยหันมาใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
อย่างไรก็ดี หากมองไปที่เทรนด์ของโลกเวลานี้ จะพบว่าเมกะเทรนด์ในอุตสาหกรรมอาหารมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อาหารสุขภาพ เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคอาหารที่มีการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด อีกทั้งคนยุคนี้ยังต้องการบริโภคอาหารเพื่อเป็นยา ฉะนั้นก่อนกินอะไรไปจะต้องดูด้วยว่า อาหารนั้นๆ มีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เข้ามา
ขณะเดียวกัน แนวโน้มของการบริโภคเนื้อจะลดลง โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา คนที่กินอาหารมังสวิรัติจะมีจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญจะเริ่มเห็นนวัตกรรมด้านโปรตีนใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยผู้บริโภคจะมองหาแหล่งโปรตีนอื่น ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพมากกว่ารับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะมีสารตกค้างได้ นอกจากนี้ เทรนด์ของโลกก็ยังมีการพูดถึงความยั่งยืนของอาหาร จึงนำมาสู่นวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ทางเลือก ที่เกิดจากการเพาะเนื้อในห้องแล็บ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เป็นตัวๆ อีกต่อไป
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นคือ การนำเอาระบบไอที เทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ซึ่งจะพลิกโฉมการทำเกษตรแบบเดิมๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือจะเป็นในเรื่องของการใช้ข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการผลิตสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจน นั่นคือ บริษัทสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับอาหารจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทใหญ่ๆ ที่จะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบจะมีน้อยลง แต่จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาจากผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น ทำให้บริษัทใหญ่ๆ เริ่มมองหาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงนับเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก
สุดท้ายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ช่างเลือกมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ทำให้เขาต้องการจะรู้ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในอาหาร ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องแสดงให้ผู้บริโภคได้เห็นผ่านทางฉลากที่ติดอยู่บนอาหาร ซึ่งนอกจากจะระบุข้อมูลสำคัญแล้ว ยังต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ด้วยว่า ต้นทางของอาหารนี้มาจากไหน
ปรับตัวรับโอกาส ที่มาพร้อมความท้าทาย
จากทั้งหมดที่ดร.เอกอนงค์ กล่าวมานั้น ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า วันนี้ระบบการผลิตอาหาร จำเป็นต้องเริ่มมองถึงการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่เปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเข้าใจ นั่นคือ ในการเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นมาของอาหารใหม่ๆ ย่อมมีโอกาสทางธุรกิจ แต่เรื่องของความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการใช้วัตถุดิบตัวใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้ หรือไม่เคยมีมาก่อน จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หรือแม้แต่ในแง่ของตัวผู้บริโภคเอง แต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกันไป แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ถ้าจะเจาะตลาดภาคใต้จะเป็นแบบหนึ่ง เหนือ หรืออีสานก็เป็นแบบหนึ่ง เหล่านี้คือความท้าทายของผู้ผลิตอาหารเช่นกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ คือ การตอบโจทย์ผู้บริโภค ด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้ามาใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในเรื่องนี้ รัฐบาลเองก็มีนโยบายที่จะสร้างให้ประเทศไทย เป็นอีกฮับหนึ่งของนวัตกรรมอาหาร จึงได้สร้าง เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ขึ้นมา ซึ่งเป็นนิคมวิจัยเฉพาะทางด้านอาหาร เพื่อรองรับและตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมให้กับธุรกิจอาหาร ซึ่งภายในเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งนี้ จะมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถเริ่มต้นทำวิจัยได้ง่าย สะดวก และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก
ชี้! อุปสรรคที่ทำให้ SME เมินงานวิจัย-พัฒนานวัตกรรม
ในงานสัมมนาเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลายมุมมองที่สะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังขาดการให้ความสำคัญในเรื่องของการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจากมุมมองของ พีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ITAP (สวทช.) บอกว่า เหตุผลที่เอสเอ็มอีไม่ใส่ใจการทำวิจัยนวัตกรรมเท่าที่ควร เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และตราบใดที่สินค้าแบบเดิมยังขายได้อยู่ ก็จะไม่คิดทำอะไรใหม่ๆ หรือที่เอสเอ็มอีไม่ประสบความสำเร็จกับการพัฒนานวัตกรรม ส่วนหนึ่งมาจากการมีสายป่านไม่ยาวพอ ทำให้ต่อยอดเชิงธุรกิจได้ยาก ดังนั้นหน่วยงานรัฐอย่าง สวทช. โดยโครงการ ITAP เข้ามาช่วยการสนับสนุนต่อยอด ทั้งในแง่องค์ความรู้ เงินทุน เพื่อช่วยให้การเริ่มต้นของเอสเอ็มอีง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้บอกไว้ว่า การทำงานวิจัย ไม่ใช้ทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะสินค้าที่ทำออกมา อีกไม่นานก็จะมีคนทำตาม ฉะนั้นอยากที่จะเห็นผู้ประกอบการไทยเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับงานวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสกว.ได้ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจในวงกว้าง เพราะตระหนักดีว่า วันนี้ประเทศจะเดินไปได้ ต้องไม่ใช่การแข่งด้วยราคา แต่ต้องใช้งานวิจัย นวัตกรรมเป็นใบนำทาง
เปิดเคล็ดลับ ทำธุรกิจชนะด้วยนวัตกรรมและวิจัย
ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการทำสินค้านวัตกรรม อย่าง ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Wel-B นวัตกรรมของทานเล่นเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้อบกรอบ โยเกิร์ตกรอบ และอื่นๆ จนทำยอดขายกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า สิ่งสำคัญคือ คิดโจทย์จากความต้องการหรือปัญหาของลูกค้า เมื่อทำแล้ว ต้องไม่ยอมแพ้ และกัดไม่ปล่อย เพราะการทำสินค้านวัตกรรมให้สำเร็จนั้นไม่ง่าย คิด 10 อย่าง ทำออกมาได้ 1 อย่าง ถือว่าชนะแล้ว และถ้าตัวไหนสำเร็จ ต้องขยี้ต่อ ต้องกล้าที่จะต่อยอดออกไป เพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มขึ้น และสุดท้ายผู้ประกอบการต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ แล้วติดอาวุธที่ชื่อว่า นวัตกรรม ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คนตัวเล็กอย่าง เอสเอ็มอี สามารถยืนอยู่ในศึกสงครามการแข่งขันได้
ปิดท้ายที่ รัชยา จันจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม และพัฒนาวิจัยจนทำให้เมล็ดมะขามเหลือทิ้งที่กิโลกรัมละไม่กี่บาท สามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่างมากมาย เล่าให้ฟังว่า จากการพัฒนาวิจัยเมล็ดมะขาม จนได้เป็นเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขาม ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมาก ทั้ง ไอศกรีม เยลลี่ ซอส เซรั่มบำรุงผิว ฯลฯ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญของสินค้านวัตกรรม คือต้องสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ และเธอเลือกที่จะใช้วิธีการทดลองชิม เพื่อหาความต้องการของลูกค้าก่อนที่จะผลิตขายจริง
ถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วใช่ไหมว่า งานวิจัยและนวัตกรรม สำคัญกับเอสเอ็มอีขนาดไหน เพราะนวัตกรรมจะทำให้คุณไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร การลงมือทำสิ่งใหม่ๆ จะทำให้คุณคว้าโอกาสได้ก่อนคนอื่นนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี