​PiN ชุบชีวิตเศษเหล็ก ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์สุดหรู







     ขณะที่โรงงานผลิตเหล็กกว่าหลายร้อยแห่งในประเทศ ขายเศษเหล็กที่เหลือมาจากขั้นตอนการผลิตได้กิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท แต่ทำไมเศษเหล็กจาก “โรงงานโชติอนันต์โลหะกิจ” จึงสามารถขายได้ราคาสูงกว่าเป็นหลายร้อยเท่าตัว?
 




     คำถามนี้มีคำตอบอยู่ที่ ศรุตา เกียรติภาคภูมิ หรือ ปิ่น เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ PiN (พิน) ผู้ชุบชีวิตเศษเหล็กธรรมดาจากโรงงานผลิตเหล็กของพ่อให้กลายมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรู ไอเดียแตกต่างไม่เหมือนใคร ประดับตกแต่งอยู่ตามโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือคฤหาสน์สุดหรูที่ใดที่หนึ่ง

 
     “PiN เกิดขึ้นมาจากการหาสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง เราเป็นลูกเจ้าของโรงงานผลิตเหล็ก และเป็นคนทำงานศิลปะ สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำงานอย่างไรให้มีความสุขในทางของตัวเอง ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยงานพ่อได้ด้วย เผอิญก่อนหน้านั้นทำศิลปนิพนธ์ส่งอาจารย์ เราเลือกเอาเรื่องราวในโรงงาน ชีวิตของคนงานมาถ่ายเป็นงานศิลปะ โดยใช้วัสดุจากที่มีอยู่ในโรงงาน หลังจากเรียนจบออกมาจึงมาลองมองว่าอะไรที่สามารถนำมาสร้างเป็นงานได้บ้าง จนมาพบเศษเหล็กที่กองเหลือทิ้ง นำไปชั่งกิโลขายได้กิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท เลยลองนำมาสร้างเป็นชิ้นงานขึ้นมา และใส่ความเป็นฟังก์ชันใช้งานลงไปด้วย เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น
 




     จากตอนแรกทำเป็นของชิ้นเล็กๆ ก่อนให้คนทั่วไปซื้อมาใช้ได้ แต่พอทำๆ ไป เริ่มรู้สึกว่างานที่เราทำก็ไม่ต่างอะไรกับที่พ่อทำ ต้องมานั่งปั๊มอะไรซ้ำๆ จนมาเห็นช่างเขาเหนื่อย เลยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตัวเอง จะต้องทำน้อย แต่ได้มาก เลยรับเป็นโปรเจกต์มากขึ้น มูลค่างานก็แตกต่างกันไป”
 

     เมื่อได้แนวคิด ศรุตาก็เริ่มมองหาเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ โดยหยิบเอาอัตลักษณ์ความประณีต ละเอียดอ่อนแบบไทยเข้าไปอยู่ในตัวแบรนด์ เพื่อสร้างเป็น DNA ของแบรนด์ขึ้นมา
 




     “เมื่อก่อนถ้าพูดถึงงานประดิษฐ์หรือศิลปะจากเศษเหล็ก คนก็จะนึกถึงแต่ภาพของหุ่นยนต์หรือตัวเอเลี่ยน ซึ่งเขาทำเพื่อตั้งโชว์ การเชื่อมต่อแต่ละจุดจะมีรอยที่เรียกว่า ขี้เชื่อม นูนขึ้นมา เพื่อโชว์ความดิบของงานเหล็ก แต่สำหรับ PiN เราเลือกที่จะหาความเป็นยูนีคให้กับตัวเอง ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่อยู่ในรากฐานของเราคือ คนไทยเป็นคนช่างประดิดประดอย มีความประณีตละเอียดอ่อน เราจึงหยิบตรงนี้มาใช้ในชิ้นงานของเราในการเชื่อมต่อแต่ละจุด เก็บให้ละเอียด เรียบร้อยที่สุด จนบางครั้งดูแทบไม่รู้เลยว่าทำมาจากเศษเหล็ก
 

     ตรงนี้แหละคือ ราคา มูลค่าของงาน ซึ่งลูกค้าดูครั้งแรกเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขามองเห็นแค่ว่ามันสวยก่อน จนเราอธิบายให้ฟัง เขาก็ยิ่งประหลาดใจหนักกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่เราต้องการ คือ สวยและมีคุณค่าด้วย ซึ่งลูกค้าที่จะตัดสินใจซื้อ ต้องเห็นถึงคุณค่าของงาน เพราะหากไม่เข้าใจเขาอาจมองแค่เป็นเศษเหล็ก แต่จริงๆ แล้วมันมีคุณค่าซ่อนอยู่มากมาย”
 




     หากถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่หลอมรวมให้ PiN สามารถเติบโตมาอย่างทุกวันนี้ได้ เศษเหล็กในโรงงานคงเป็นสิ่งแรกที่ศรุตาได้รับถ่ายทอดมา จนสามารถนำมานั่งร้อยเรียงสร้างเป็นชิ้นงานขึ้นมา จากเศษเหล็กกิโลกรัมละไม่กี่บาท จึงกลายเป็นเศษวิเศษที่เป็นวัตถุดิบชั้นดี ดังนั้น DNA ของ PiN จึงคือทุกอย่างรวมกันที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวปิ่น ตั้งแต่เกิดมาเป็นลูกเจ้าของโรงงานผลิตเหล็ก การได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะ การคิดสร้างสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง ซึ่งแม้จะมีคนที่มีปัจจัยคล้ายคลึงกัน ต่อให้มีการคิดสร้างมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน งานที่ได้ออกมาก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี
 

     “ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็กแบบนี้อยู่เยอะมาก แต่ทำไมถึงไม่มีใครเอามาทำอะไรแบบนี้ เป็นเพราะในโรงงานนั้นไม่มีคนแบบปิ่นอยู่ไง หรืออาจจะมีคนที่ปัจจัยคล้ายๆ กันอยู่ก็ได้ แต่งานที่ออกมาก็จะแตกต่างกันอยู่ดี เพราะแต่ละคนจะมีลายเซ็นของตัวเอง ความเป็นตัวตนที่ใส่ลงไปอยู่ในชิ้นงานไม่เหมือนกัน เหมือนศิลปินวาดรูป แต่ละคนก็วาดออกมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าอยากหา DNA ของแบรนด์เจอ เราต้องพยายามรู้จักตัวเองให้มากที่สุดว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไร
 




     เคยมีคนบอกว่า อย่าไปลงทุนกับสิ่งที่เราดีประมาณหนึ่ง แต่ควรลงทุนกับสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ดีที่สุด ซึ่งหากสามารถหา DNA ของแบรนด์เจอ งานหรือสินค้าของเราก็จะมีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่เหมือนใคร สามารถสร้างมูลค่าได้ด้วยตัวเอง อย่างเศษเหล็กธรรมดาปกติจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 15 บาท ถ้ารวมเอามาลงสีด้วยต้นทุนก็ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท แต่เราสามารถขาย 3,500 บาทเลย บางชิ้นหากเป็นงานโปรเจกต์ก็แพงขึ้นไปอีก เพราะที่เราขายไม่ใช่เศษเหล็ก แต่คืองานฝีมือ งานความคิดดีๆ ชิ้นหนึ่งนั่นเอง”
 




     ทุกวันนี้งานของ PiN ถูกนำไปตั้งโชว์อยู่ในโรงแรมหรู ห้างสรรพสินค้า บ้านของคนมีอันจะกิน ยังไม่รวมที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน ไม่น่าเชื่อว่าจากเศษเหล็กที่ดูไร้ค่า จะสามารถกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตอบโจทย์ชีวิตให้กับศรุตาได้อย่างลงตัว เหมือนกับจุดเล็กๆ บนชิ้นงานที่ถูกเชื่อมต่อทีละจุด ทีละจุด จนประกอบขึ้นเป็นตัวงานได้



 

     “ที่เรามีทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะเราใช้มุมมองทั้งความเป็น Artist และ Business อยู่ในตัว เราใช้มุมมองความคิดแบบศิลปะแสดงตัวตนของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็มองเรื่องธุรกิจด้วย ซึ่งทำให้เป้าหมายทุกอย่างสามารถไปต่อได้อย่างที่เราต้องการ ตั้งแต่การทำงานของตัวเอง ได้ช่วยเหลืองานที่บ้าน ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนงาน ซึ่งกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพิสูจน์อะไรหลายอย่าง แต่พ่อมักจะบอกเสมอว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป หากเรามีความมุ่งมั่นและอดทน เวลาท้อแท้ ไม่มีกำลังใจก็จะดูพ่อเป็นตัวอย่าง”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน