Fairiesta ​เปิดตลาดเครื่องสำอางเด็ก สวยได้ แม่ไม่ดุ!





 

     บ่อยครั้งที่เรามักเห็นภาพลูกสาวตัวน้อยนั่งเฝ้ามองดูคุณแม่ของเธอแต่งหน้าแต่งตัวก่อนออกไปทำงานในทุกๆ วัน และบ่อยครั้งอีกเช่นกันที่เรามักจะเห็นเด็กหญิงคนเดิมแอบหยิบลิปสติกแท่งสวย แป้งพัฟทาหน้าชุดเดียวกัน ออกมาละเลงป้ายสีสันลงบนใบหน้าของเธอ จนทำให้โดนดุอยู่บ่อยๆ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็ก มักเกิดมาจากความประทับใจ อยากรู้อยากลองด้วยกันทั้งนั้น แต่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็ก ขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับคุณแม่ไปพร้อมๆ กันด้วย Fairiesta (แฟรีสต้า) เครื่องสำอางเด็กแบรนด์แรกของไทยคือ คำตอบของทุกโจทย์
 

     สุทธิพร และ ธัญญลักษณ์ พูลสวัสดิ์ สองสามีภรรยา เจ้าของไอเดียความคิดเครื่องสำอางสำหรับหนูน้อย เล่าที่มาของธุรกิจที่นับเป็นสินค้าใหม่ในตลาดให้ฟังว่า
 



     “เราสองคนมีหลานสาวอยู่ในวัย 3-5 ขวบหลายคน เวลาไปเยี่ยมพี่สาว มักเห็นหลานๆ แอบหยิบเครื่องสำอางอย่างลิปสติกมาลองเล่น จนโดนดุอยู่บ่อยๆ เพราะมีราคาค่อนข้างแพง นอกจากนี้ เรายังมีเพื่อนๆ ที่มีลูกสาวชอบทำกิจกรรม ต้องแต่งหน้าเกือบทุกอาทิตย์ ก็เคยสงสัยว่าเขาใช้อะไรแต่งหน้าให้ลูก ก็ได้คำตอบว่าใช้เครื่องสำอางของช่างแต่งหน้าหรือของคุณแม่ ซึ่งมีหลายครั้งเหมือนกันที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ เป็นผื่น เลยคิดกันว่าถ้ามีเครื่องสำอางที่ทำขึ้นมาให้เด็กใช้โดยเฉพาะก็น่าจะดี เขาก็จะได้ไม่ต้องไปยุ่งกับเครื่องสำอางของคุณแม่ที่มีราคาแพง และจะได้ไม่แพ้ เพราะมีเครื่องสำอางที่เหมาะกับตัวเองแล้ว”


     จากคำถามว่าแล้วไม่มีเครื่องสำอางสำหรับเด็กบ้างหรือ สุทธิพรและธัญญลักษณ์ จึงลองค้นหาข้อมูลในตลาด และพบว่าเครื่องสำอางเด็กที่มีอยู่ส่วนใหญ่นั้นออกแนวของเล่นมากกว่า ส่วนที่ใช้งานได้จริงก็เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางที่เป็นเมกอัปสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เมื่อมองเห็นช่องทางธุรกิจ ทั้งคู่ก็เลยลองสำรวจตลาดด้วยการสอบถามไปยังคุณแม่ที่มีลูกสาวว่า หากมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเด็กขึ้นมา พวกเขาจะสนใจหรือไม่ ซึ่งทุกคนต่างตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้มีผลิตออกมาขาย
 
หลังผลการสำรวจเบื้องต้นสรุปออกมา ทั้งคู่ก็เริ่มมองหาโรงงานที่มีแล็บวิจัยผลิตให้ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ระคายเคืองกับผิวเด็ก นอกจากนี้ อีกโจทย์สำคัญที่สุทธิพรวางไว้ในการสร้างเครื่องสำอางแบรนด์ Fairiesta คือ ต้องเป็นของจริง ไม่ใช่ของเล่น ภาพลักษณ์ต้องใกล้เคียงกับเครื่องสำอางผู้ใหญ่ โดยวางอายุของกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 3- 12 ขวบ
 




     “ช่วงทดลองตอนแรก เราเคยลองทำออกมาทั้งสองแบบ ระหว่างชิ้นที่เหมือนของเล่นและเหมือนของที่ผู้ใหญ่ใช้จริง ปรากฏว่าเด็กๆ เลือกชิ้นที่เหมือนของผู้ใหญ่ แป้งก็ต้องตบให้เหมือน บลัชออนก็ต้องปัดให้ได้เหมือนกัน ลิปสติกก็ต้องหมุนให้ได้เหมือนอย่างที่คุณแม่ใช้ จนผลิตออกมาได้รูปลักษณ์ไม่ต่างกับเครื่องสำอางของผู้ใหญ่ แต่เนื้อด้านในเป็นสูตรสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เน้นการใช้ส่วนผสมมาจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น สีที่ใช้ก็เป็นเกรดเดียวกับ Food Grade แป้งที่เอามาใช้ทำเนื้อแป้งพัฟและบลัชออนก็ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งเราใช้เวลาทดสอบอยู่นาน หลายด่าน ตั้งแต่ผลิตออกมาจนได้คุณภาพอย่างที่ต้องการ ส่งไปทดสอบกับสถาบันที่เชื่อถือได้ จนถึงส่งตัวอย่างให้กลุ่มเป้าหมายทดลองใช้ ใช้แล้วชอบหรือไม่ชอบยังไง จนมั่นใจแล้วจึงค่อยผลิตออกมาขาย ซึ่งใช้เวลาอยู่เกือบ 1 ปีเต็ม จึงเริ่มวางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา”
 

     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Fairiesta มีให้เลือกอยู่หลายประเภทด้วยกัน ได้แก่ ลิปสติก 4 สี บลัชออนสีชมพูและส้ม และแป้งพัฟ ซึ่งมีให้เลือก 2 เฉดสีเช่นกัน คือ โทนผิวขาวและสีธรรมชาติ และตัวล่าสุดคือ คลีนซิ่ง ล้างหน้าสูตรน้ำสำหรับเด็ก ไม่มีสารกันบูดและแอลกอฮอล์ โดยสินค้าทั้งหมดขายอยู่ที่ราคา 320-450 บาท และใช้ออนไลน์เป็นช่องทางขายหลัก รวมถึงการฝากวางในกลุ่มร้านค้าแม่และเด็ก และร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
 




     “จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของ Fairiesta มีที่มาจาก 3 คำ คือ แพง พัง แพ้ ด้วยแรงบันดาลใจจากที่เห็นเครื่องสำอางของคุณแม่ราคาแพง เล่นแล้วจะพัง แล้วผิวจะแพ้ แทนที่จะห้าม เรามาช่วยส่งเสริมให้เขาได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขน่าจะดีกว่าไหม ซึ่ง Fairiesta เราพยายามตอบโจทย์ทุกอย่าง ทั้งความต้องการของลูกสาวและคุณแม่ ตั้งแต่ทำออกมาให้ดีที่สุด ไปจนถึงราคาที่สมเหตุสมผล ลูกๆ ก็ได้มีความสุขกับการเล่น คุณแม่ก็สบายใจที่ของก็ไม่พังและลูกๆ ได้ใช้ของที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย ซึ่งอนาคตเราจะทำโทนสีให้มากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่ครบเครื่องมากขึ้น เราจะวางตัวเองไว้เหมือนแบรนด์ของผู้ใหญ่แบรนด์หนึ่งเลยทีเดียว”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี




 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน